Home > Thai Economic

จากสงครามการค้าสู่ GSP แผลกดทับคุกคามเศรษฐกิจไทย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 นอกจากจะปราศจากสัญญาณบวกที่จะมาช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวกระเตื้องขึ้นในระยะสั้นแล้ว ดูเหมือนว่าในระยะยาวที่ถัดออกไปสภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมก็ถูกกระหน่ำด้วยปัจจัยลบและความเสี่ยงที่ฉุดรั้งทั้งความเชื่อมั่นและศักยภาพในการพัฒนาที่น่ากังวลไม่น้อยเลย ภาวะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มักได้รับการอธิบายจากภาครัฐว่าเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกว่าด้วยข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจแผ่กว้างไปทั่วทุกมุมของโลก แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังมีพื้นฐานที่ดี และกำลังดำเนินไปบนหนทางที่ถูกต้องเหมาะสมตามแนวทางและวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลได้กำหนดวางไว้ตั้งแต่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา และเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ระยะยาวอีก 20 ปีข้างหน้าก็ตาม ตัวเลขการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละไตรมาสในลักษณะที่พร้อมสร้างปรากฏการณ์จุดต่ำสุดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ได้รับการอธิบายว่ายังเป็นตัวเลขที่สะท้อนการขยายตัวอยู่แต่น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าเท่านั้น และไม่ใช่สิ่งที่ควรวิตกกังวลมากนัก เพราะรัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมาถูกทางแล้ว และผู้ประกอบการรวมถึงประชาชนควรปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากกว่าที่จะเรียกร้องมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐ กรณีที่ว่านี้ ส่งผลทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากการสำรวจในแต่ละเดือน ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบ 18 ปี แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่โหมประโคมออกมาอย่างหนักก็ตาม เหตุปัจจัยที่ปรากฏจริงอยู่เบื้องหน้าไม่สามารถฉุดรั้งความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งใน-นอกประเทศได้ ที่พร้อมจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของกลไกภาครัฐในการผลักดันมาตรการและนโยบายเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นเงื่อนไขว่าด้วยความกังวลใจในเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในระดับ 57.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมในระดับ 67.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.3 สะท้อนการปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกันยายน ที่อยู่ในระดับ 59.3 68.5 และ 88.9 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติและถอยห่างจากระดับที่ 100 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความรู้สึกและจิตวิทยาของสังคมว่าผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ความเป็นไปดังกล่าวส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 47.9 มาอยู่ที่ระดับ 46.5

Read More

ภาวะเศรษฐกิจไทย เมื่อถึงคราวเครื่องยนต์ดับ!

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 นอกจากจะปราศจากสัญญาณเชิงบวกที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความหวังว่าด้วยการฟื้นตัวอย่างที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตามแล้ว ดูเหมือนว่าผลกระทบว่าด้วยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ยังมีผลให้ภาคการผลิตของไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการจ้างงานในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย การส่งออกของไทยที่ตกต่ำลงจะอยู่ในภาวะติดลบต่อเนื่องในระดับร้อยละ 1.5-2.0 ส่งผลให้เกิดภาวะชะลอตัวในการจ้างแรงงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก โลจิสติกส์ ค้าปลีกและค้าส่ง ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมาก สัญญาณการจ้างงานที่ลดต่ำลง ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการบางส่วนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ไปสู่กระบวนการผลิตที่มีวิทยาการสูงขึ้น รวมถึงการใช้หุ่นยนต์หรือ AI เข้ามาประกอบส่วน ซึ่งกรณีเช่นว่านี้กลายเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานโดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 อีกประมาณ 5.24 แสนคน ซึ่งกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งในมิติของปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมที่สังคมไทยจะต้องเผชิญ เพราะจะทำให้สังคมไทยต้องแบกหนักและประสบปัญหาภาวะว่างงานสูงขึ้น ขณะที่กลไกรัฐจำเป็นต้องออกมาตรการประคับประคองสถานการณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบริโภคภายในก่อนที่จะทรุดหนักไปมากกว่านี้ ความหนักหน่วงของสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานสามารถประเมินได้จากสัญญาณจากมาตรการขึ้นต้นว่าด้วยการเริ่มไม่รับพนักงานใหม่เพิ่มเข้าสู่กระบวนการผลิตแทนตำแหน่งที่ว่าง การใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้น ไปสู่การเลิกจ้างบริษัทภายนอกเกี่ยวกับแรงงาน การลดค่าล่วงเวลา การลดชั่วโมงการทำงาน ไปจนสู่การปิดไลน์การผลิต และการปิดสาขาหรือโรงงานการผลิตที่ไม่จำเป็น จนถึงการปลดออกแรงงานในที่สุด ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดแรงงานไทยในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ที่แรงงานไทยในทุกภาคการผลิตมีอยู่ประมาณ 37.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 56.5 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักทั้งการส่งออก การลงทุน การบริโภคลดลง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตในปี 2562 ซึ่งกลายเป็นปัจจัยกดดันการจ้างงานปีนี้และต่อเนื่องถึงปี 2563 โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกถึงไตรมาสสองของปีหน้าอีกด้วย ปัจจัยลบที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไป นอกเหนือจากการเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เน้นเทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้นแล้ว เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในวัฏจักรชะลอตัว กำลังจะส่งผลให้เกิดการว่างงานอย่างกว้างขวาง แต่ด้วยเหตุที่แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

Read More