Home > 2017 > กรกฎาคม (Page 2)

พะเยา: ฝันใหญ่ของเมืองเล็ก ตั้งเป้าท่องเที่ยว-ค้าชายแดนโต

หากจะเอ่ยถึงจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่มักถูกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ความสนใจและเลือกเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยว คงจะหนีไม่พ้นจังหวัดใหญ่ๆ อย่าง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย หรือน่าน พะเยา จังหวัดที่น้อยคนนักจะเลือกเดินทางเข้าไปสัมผัสเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ แม้ว่าจะมีสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างเย็นสบาย ความร่มรื่นที่มีผลมาจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่นับได้ว่า ยังคงความเขียวขจีอยู่มากกว่าบางจังหวัด ประกอบกับความเงียบสงบของเมืองซึ่งเหมาะแก่การหลบร้อนและพักผ่อน อาจเป็นเพราะด้วยความที่จังหวัดพะเยาถูกขนาบข้างด้วยเชียงรายและน่าน ที่ดูจะมีภาษีเหนือกว่าในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยว ที่เมื่อได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจนทำให้เกิดกระแส ผู้คนแห่แหนกันไปเพื่อเช็กอิน เก็บเกี่ยวประสบการณ์และแชร์การมาเยี่ยมเยือนลงบนโลกโซเชียล นั่นทำให้พะเยาเป็นเพียงทางผ่านในหลายๆ ครั้ง กระทั่งเมื่อมีการเปิดเผยแผนพัฒนาด่านบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ให้เปิดด่านถาวร จึงเป็นเสมือนการเปิดสวิตช์เครื่องจักร ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพัฒนาและปลุกศักยภาพของจังหวัดให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการค้าชายแดน เมื่อด่านบ้านฮวกมีเขตที่สามารถเชื่อมต่อกับแขวงไซยะบุรี ของ สปป.ลาว ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้ ซึ่งหากด่านบ้านฮวกถูกอนุมัติให้เป็นด่านถาวร อ. ภูซาง จ.พะเยา จะกลายเป็นอีกหนึ่งประตูและเส้นทางการค้าของภูมิภาคนี้ ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ปานทอง สระคูพันธ์ เปิดเผยว่า “จังหวัดได้งบประมาณจากรัฐบาลมา 500 ล้านบาท โดยจะนำงบประมาณดังกล่าวมาพัฒนากว๊านพะเยา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และแหล่งท่องเที่ยว เมื่อถนนที่เชื่อมไทย-ลาว แล้วเสร็จจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง” ทั้งนี้ด่านบ้านฮวกจะเป็นด่านชายแดนถาวรได้ภายในปีนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามการคาดการณ์ของปานทอง สระคูพันธ์ นั่นหมายความว่า จังหวัดพะเยาคงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาทั้งระบบเพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง เส้นทางโลจิสติกส์ที่น่าจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญสำหรับการค้าการลงทุนระหว่าง

Read More

20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง บทเรียนสู่อนาคตยุค 4.0

นอกเหนือจากข่าวที่ไหลบ่าท่วมกระแสการรับรู้ของผู้คนไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อำนวยความสะดวกให้กับการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางในเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ที่มีจีนเป็นผู้ดำเนินการ หรือการอนุมัติและเร่งรัดให้มีการสร้างหอชมเมืองด้วยวิธีที่ไม่ต้องประมูลเพื่อเร่งรัดให้โครงการสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วแล้ว บทวิเคราะห์ย้อนอดีตว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจไทยที่ลุกลามไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ดูจะเป็นอีกบริบทหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจไม่น้อย เนื่องเพราะบทเรียนแห่งวิกฤตในครั้งนั้นยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องและส่วนหนึ่งฝังรากเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ดูเหมือนว่า กลไกรัฐไทยและภาคธุรกิจเอกชนไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่พร้อมจะผลิตซ้ำความผิดพลาดครั้งเก่าจากความพยายามเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ในภาวะซึมเซายาวนานให้กลับมีสีสัน บนความคาดหวังครั้งใหม่ว่าจะช่วยฉุดกระชากเศรษฐกิจสังคมไทยออกจากหล่มโคลนให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ หลักไมล์แห่งการวิเคราะห์วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ส่วนใหญ่ได้ยึดเอาวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ด้วยการยกเลิกการผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากถูกโจมตีค่าเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งการประกาศดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมาก และส่งผลให้ปริมาณหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยทันที และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจไทย ก่อนที่จะลุกลามและขยายตัวจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียในนาม “วิกฤตต้มยำกุ้ง” หากแต่ในความเป็นจริงการประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่หักโค่นลงโดยที่ภูเขาน้ำแข็งแห่งปัญหาที่สั่งสมอยู่ใต้ผิวน้ำกำลังละลายและพังครืนจากความอ่อนแอที่เกิดขึ้นอยู่ภายในโครงสร้างที่เปราะบาง โดย AMRO หรือสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN +3 Macroeconomic Research Office) ได้เสนอบทวิเคราะห์ย้อนอดีตวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นว่าแม้จะดูเหมือนว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเก็งกำไรอย่างรุนแรง แต่ในความเป็นจริงความเสี่ยงต่างๆ ในภูมิภาคได้ก่อตัวมาสักระยะก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะความไม่สมดุลของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค พัฒนาการจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และความอ่อนแอของภาคการเงินและบรรษัทเอกชน ความไม่สมดุลของภาคต่างประเทศถูกสะท้อนจากเงินทุนเอกชนที่ไหลเข้ามาอย่างมากและการลงทุนของเอกชนภายในประเทศที่สูง ซึ่งถูกกระตุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทกลับถูกตรึงเอาไว้ตามนโยบายขณะนั้น เงินทุนที่ไหลเข้ามาป็นชนวนขับเคลื่อนการขยายสินเชื่อและการลงทุนในเกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์

Read More

หนทางการพัฒนาของเนด้าใน CLMV เมื่อจีน-ญี่ปุ่น แผ่ขยายอิทธิพล

หลังการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ดูเหมือนว่ายิ่งจะเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่หมายถึง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม การมาถึงของนักลงทุนในกลุ่มประเทศดังกล่าว ไม่ใช่เพียงการมาแบบฉายเดี่ยวของนักลงทุน แต่เป็นนโยบายภาครัฐของประเทศนั้นๆ ที่ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าเข้ามาในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น หากพิจารณาจากชั้นเชิงของทั้งสองประเทศมหาอำนาจของเอเชีย ดูจะอุดมไปด้วยยุทธศาสตร์ เสมือนว่ากำลังประลองสรรพกำลังกันบนกระดานหมากรุก และเป็นเกมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี ขณะที่ชายแดนไทยเชื่อมต่อกับประเทศกลุ่มนี้กลับมีสัดส่วนการลงทุนที่น้อยกว่าประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ทั้งที่ในช่วงหนึ่งญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่ยังมีการลงทุนนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 1 ในบรรดานักลงทุนต่างชาติที่ตบเท้าเข้ามา สิ่งที่น่าสนใจคือการมาของญี่ปุ่น ดูจะเป็นการเข้ามาคานอำนาจของจีนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง แต่เต็มไปด้วยกลยุทธ์ที่ต้องเรียกว่าน่าสนใจ คือมาพร้อมกับการให้ความสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศนั้นๆ เช่น การสร้างถนนที่เชื่อมต่อและเสริมสร้างศักยภาพของเส้นทางโลจิสติกส์ โดยมีหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญให้การสนับสนุน คือ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB พื้นที่เขตเศรษฐกิจทวายดูจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่าญี่ปุ่นเดินหมากด้วยความแยบยลเพียงใด เพราะนอกจากการลงทุนในเขตเศรษฐกิจทวายในประเทศเมียนมาแล้ว ญี่ปุ่นยังสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างถนนจากบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อมายังทวายได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้ว่าถึงปัจจุบันเขตเศรษฐกิจทวายจะยังมองหาความคืบหน้าที่ชัดเจนได้ยากนักก็ตาม ขณะที่นโยบายรัฐบาลกลางของจีนดูจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างความเจริญที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศตัวเอง ด้วยความต้องการที่จะยกระดับ “คุนหมิง” ให้เป็นเมืองหน้าด่านในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ และยังวางตำแหน่งของคุนหมิงให้เป็นศูนย์กลางการเงินเพื่อนำเงินสกุลหยวนออกสู่อาเซียน และการลงทุนของจีนกับลาวดูจะเป็นโครงการที่เป็นการตกลงกันระหว่าง “รัฐต่อรัฐ” โดยสร้างถนน หรือการสร้างโรงแรมซึ่งชนกับทุนไทย แต่ประเด็นที่น่าจับตามองคือการเข้ามามีบทบาทในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง ที่หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่า

Read More