วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > Cover Story > กาแฟ “มีวนา” บนความยั่งยืนของป่าต้นน้ำ

กาแฟ “มีวนา” บนความยั่งยืนของป่าต้นน้ำ

 
 
ประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากสองปัจจัย คือ หนึ่งปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น การหมุนรอบตัวเองของโลกและรอบดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนแปลงของพลังงานจากดวงอาทิตย์ การระเบิดของภูเขาไฟ และสอง ปัจจัยจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่า
 
เมื่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปีตามอัตราการเติบโตของจำนวนประชากร อีกทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่เข้ามาทำลายสมดุลทางธรรมชาติ อันเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนและยังเป็นตัวช่วยในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนขึ้น
 
แม้ว่าหลายประเทศจะตระหนักรู้ถึงต้นเหตุของปัญหาและกำลังระดมสรรพกำลังเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หรืออย่างน้อยที่สุดคือการบรรเทาเพื่อชะลอวิกฤตที่อาจเกิดตามมาในอนาคต ทั้งการปลุกและปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับประชากรทุกช่วงวัยให้รับรู้และใส่ใจต่อเรื่องดังกล่าว
 
กระนั้นหากเปรียบเทียบแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดภาวะโลกร้อนจากทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงไม่สามารถสร้างสมดุลในแนวบวกได้มากนัก เมื่อภาพสะท้อนจากนโยบายภาครัฐที่ฉายให้เห็นถึงความคาดหวังให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยนโยบายต่างๆ ที่ยังคงปรากฏและดำเนินไปนั้น โดยส่วนใหญ่แสดงออกถึงความชัดเจนในเรื่องหวังผลให้เกิดการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แสดงออกมาเป็นตัวเลขจีดีพีที่เป็นบวกเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม บรรดานักลงทุนที่ตัดสินใจตอบรับแรงหนุนนำจากภาครัฐและพร้อมที่จะหว่านเมล็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อรอให้ผลงอกเงยนั้น แม้จะเป็นความจริงที่การกระทำดังกล่าวช่วยให้เกิดการจ้างงาน รวมไปถึงกระตุ้นการจับจ่ายได้ส่วนหนึ่ง กระนั้นก็ยังคงเป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการไปในทิศทางที่หวังผลกำไรที่สามารถแบ่งเป็นเงินปันผลต่อหุ้นส่วนทางธุรกิจ มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชุมชนส่วนรวม
 
นอกเหนือไปจากปัญหาความแปรปรวนในเรื่องสภาพอากาศที่ไทยจะต้องเผชิญแล้ว ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตอยู่ในขณะนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ คือพืชผลทางการเกษตร 
 
การขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก ส่งผลให้ชาวนาบางส่วนต้องชะลอการทำนา รวมไปถึงสินค้าเกษตรที่ต้องปรับราคาสูงขึ้นเมื่อผลผลิตไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรทำให้เกิดสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ
 
ทั้งนี้ตัวเลขการส่งออกในไตรมาสแรกถึงไตรมาสสองของปีนี้แทบจะไม่สามารถต้านทานแรงโน้มถ่วงของโลกได้เลย ซึ่งการส่งออกนับเป็นอีกฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งของเศรษฐกิจไทย
 
สภาวะภัยแล้งที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น สาเหตุหนึ่งมาจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และอาจส่งผลให้ปี 2559 ไทยต้องเจอกับวิกฤตการณ์ภัยแล้งรุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการผันแปรของมวลน้ำจากมหาสมุทรอินเดียอาจจะบรรเทาภัยแล้งไปได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่พอจะช่วยได้ เพราะสถานการณ์น้ำฝนตามฤดูกาลในปี 2558 มีจำนวนน้อยมาก 
 
นอกเหนือไปจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่ส่งให้ไทยต้องพบกับวิกฤตภัยแล้งแล้ว การลดจำนวนลงของป่าไม้ในประเทศไทยน่าจะเป็นอีกปัญหาที่ถูกสั่งสมมาอย่างยาวนาน 
 
จากข้อมูลสถิติการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ของไทยนับจากปี 2504 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดทำสถิติป่าไม้ พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ประมาณ 171 ล้านไร่ หรือร้อยละ 53.33 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี 2558 ไทยเหลือพื้นที่ป่าเพียง 102.28 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.62 ของพื้นที่ประเทศ กว่า 50 ปีที่ผ่านมาไทยเสียพื้นที่ป่าไม้ไปประมาณ 70 ล้านไร่
 
อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวการทำลายป่าต้นน้ำของจังหวัดน่าน ดูจะเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนที่สุด เมื่อมีการแชร์ภาพภูเขาหัวโล้นป่าต้นน้ำในจังหวัดน่าน ซึ่งปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกข้าวโพด โดยข้อมูลจากสำนักงานป่าไม้จังหวัดน่าน พบว่าในรอบ 5 ปี (ปี 2550-2555) พบป่าไม้ลดลงเฉลี่ยปีละ 70,000-100,000 ไร่ และปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 6-8 แสนไร่
 
แม้ว่าปรากฏการณ์เขาหัวโล้นจะมีบริษัทนายทุนจากเมืองหลวงเป็นผู้รับผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง แต่การจะกล่าวถึงเพื่อร้องหาความรับผิดชอบจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงจะเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ในห้วงเวลานี้ 
 
กระนั้นการลดจำนวนลงของพื้นที่ป่าในไทยทำให้ภาครัฐมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของประเทศ แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศและดูจะตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการพื้นที่สีเขียวเพิ่มก็ตาม 
 
อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติของนโยบายดังกล่าวดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการปลูกป่าชายเลน แต่การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของรัฐบาลดูจะไม่สอดประสานกับรูปแบบวิถีชีวิตของคนไทยตามแถบพื้นที่ชนบท เมื่อป่าและชุมชนอยู่ร่วมกันและดูแลกันมานาน ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาลจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนท้องถิ่นเดิม ด้วยการให้ชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ป่าหรือใกล้เคียง 
 
ทั้งนี้ปัญหาที่แท้จริงของการลดจำนวนลงของป่าไม้คือการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของนายทุน การทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ ด้วยการออกกฎหมายที่มีบทลงโทษที่จริงจังขึ้น 
 
หรือสนับสนุนส่งเสริมภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายหลักเพื่อการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านการค้าหรือการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ (Social Enterprise) อีกทั้งยังมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมาใช้ในการตอบสนองความท้าทายที่มีอยู่หรือกำลังจะเกิดขึ้นของสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยหวังให้เกิดการส่งผลการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน 
 
ดังเช่นที่มูลนิธิสายใยแผ่นดินดำเนินโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า โดยเริ่มจากมูลนิธิ ได้เล็งเห็นว่าการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของชาวบ้านในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ก่อให้เกิดปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่า และสารเคมีปนเปื้อนในธรรมชาติจากการใช้ยาปราบศัตรูพืชของเกษตรกร มูลนิธิจึงได้วางโครงการที่จะช่วยให้เกษตรกรได้แปรเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเก่ามาทำกาแฟอินทรีย์รักษาป่าอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งองค์กรที่มาทำหน้าที่ในการซื้อขายผลผลิตของเกษตรกรอย่างเป็นธรรมเพื่อเป็นหลักประกันแก่เกษตรกร รวมไปถึงการสร้างกลยุทธ์ในการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อหาผู้ร่วมทุนในการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งก็คือ บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด
 
โดยบริษัทนี้จะทำงานด้านส่งเสริมการทำกาแฟอินทรีย์ให้กับเกษตรกร ตั้งแต่การเพาะปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต และนำไปขายผ่านระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ภายใต้ชื่อแบรนด์กาแฟ “มีวนา” 
 
การเพาะปลูกกาแฟมีวนานั้น จะไม่มีการแผ้วถางป่าแต่จะทำการเพาะปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ในป่า ซึ่งจะส่งผลให้ป่าต้นน้ำแม่ลาวนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยหลักการง่ายๆ ที่ว่า “คนเกื้อหนุนป่า ป่าเกื้อหนุนคน” 
 
ดูเหมือนว่ากิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีอยู่ในประเทศไทยจะเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำธุรกิจที่เกื้อหนุนสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อชุมชน ซึ่งมีกิจการที่ดำเนินธุรกิจในระบบ SE มากกว่า โดยที่องค์กรธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจมุ่งเน้นไปในการแสวงหากำไร แต่ก็มักจะมีกิจกรรมเพื่อสังคมหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CSR (Corporate Social Responsibility) เสมือนเป็นหนทางการตอบแทนคืนสู่สังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์องค์กร ซึ่งแตกต่างจาก Social Enterprise ที่มีหัวใจหลักของการประกอบกิจการอยู่ที่สังคมตั้งแต่ต้นทาง
 
ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตรอบด้าน จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้มอบนโยบาย ผู้ปฏิบัติ ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนรากหญ้า จะมองเห็นและตระหนักถึงปัญหาพร้อมกับการร่วมมือกันที่จะฝ่าวิกฤตสู่ความยั่งยืนในอนาคต