วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > เซ็นทรัล-โลตัส แข่งเดือด พลิกโฉมค้าปลีกเอาใจนักชอป

เซ็นทรัล-โลตัส แข่งเดือด พลิกโฉมค้าปลีกเอาใจนักชอป

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปรับตัวดีขึ้นเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ที่มีแรงหนุนจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ การท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้บริโภคระดับกลาง-บน ยังมีศักยภาพในการใช้จ่ายอยู่มาก

ด้านการขายสินค้าออนไลน์ยังมีแรงบวก ยอดขายมีทิศทางที่ดี แม้ว่าผู้บริโภคบางส่วนจะมีปัจจัยจากค่าครองชีพรบกวนอยู่บ้าง ทว่า ศูนย์วิจัยและวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายสถาบันยังมองบวกและคาดคะเนว่า ธุรกิจค้าปลีกยังคงเติบโตในอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น

ท่ามกลางการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรง หนี้ครัวเรือนภาคประชาชนทรงตัวในระดับสูง แต่ศูนย์วิจัยกรุงศรียังคาดการณ์ธุรกิจค้าปลีกในมิติที่แตกต่างกันของแต่ละประเภท ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า คาดว่าจะมียอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.0-5.0% จากเดิม 3.5% ปี 2565 ดิสเคานต์สโตร์/ไฮเปอร์มาร์เกต/ซูเปอร์เซ็นเตอร์ คาดว่ายอดขายจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% เพิ่มขึ้นจาก 3.0% ปี 2565 ซูเปอร์มาร์เกต คาดว่ายอดขายแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง 6.0-7.0% เพิ่มขึ้นจาก 6.0% ปี 2565 และร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท คาดว่ายอดขายจะเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.5% จาก 4.5% ปี 2565

การขยับของเซ็นทรัลท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ The Next Sustainable Growth ของเซ็นทรัล รีเทล ที่ประกาศไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป้าหมายการเติบโตด้านรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ภายในปี 2570 และ 1 ใน 4 กลยุทธ์หลักคือ Reinvent Next-Gen Omni Retail ยกระดับ CRC Ecosystem ให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบต่างๆ ที่ดีที่สุดจากทั่วโลกมาสร้างการเติบโตแบบ Inclusive Growth ให้ทั้งลูกค้าแบรนด์ และพาร์ตเนอร์ บนแพลตฟอร์ม Next-Gen Omni Retail เพื่อมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าในทุกมิติให้แก่ผู้บริโภค

ทั้งในด้าน Experience-driven ที่เชื่อมโยงทุกช่องทางอย่างไร้รอยต่อ การใช้ AI เพื่อมอบสินค้าและบริการที่ตรงใจลูกค้าแบบ Smart Retail รวมถึงการปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็ว ตามเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย Agile Commerce และตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกที่ทุกเวลาแบบ Multi-Moment

ในที่สุด เซ็นทรัล รีเทล เปิดตัวโปรเจกต์ C-Verse ชอปปิ้งบนโลกเสมือนจริง ผ่านแอปพลิเคชันชื่อเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งช่องทางการจับจ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นโปรเจกต์แรกของโครงการ CRC Immersive Retail Platform

ณัฐธีรา บุญศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจพาณิชย์ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ซีอาร์ซี ระบุว่า “บริษัทฯ เริ่มพัฒนาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งมีการลงทุนไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทในการทำให้โครงการเสร็จสมบูรณ์นับจากนี้น่าจะใช้เวลา 3-5 ปี”

C-Verse เป็นบริการที่สามารถทำให้ลูกค้าชอปปิ้งบนโลกเสมือนผ่านตัวตน Avatar ที่ลูกค้าสร้างขึ้นเอง เลือกซื้อสินค้าและสั่งซื้อสินค้าได้จริงผ่านบริการ Personal Shopper พร้อมจัดส่งถึงบ้านภายใน 1-2 วัน โดยฟีเจอร์นี้เป็นการพัฒนาร่วมกับหัวเว่ย คลาวด์

เซ็นทรัล รีเทล ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ดาวน์โหลด C-Verse 30,000 ราย ภายในสิ้นปี ซึ่งจะส่งผลให้ผลประกอบการเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 12-15%

โลตัส อีกหนึ่งธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่มักจะสร้างแรงกระเพื่อม และเดินเกมรุกด้วยกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ปลายปีที่แล้ว สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย แถลงข่าวแผนการดำเนินธุรกิจของโลตัสในยุค Retail 5.0 ภายใต้ 4 กลยุทธ์ โดยหนึ่งในนั้นคือ Next Generation Stores ให้เหมาะกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะมีบริการ SMART Life Solutions ทำให้การซื้อและชำระเงินง่ายขึ้น ด้วยบริการไร้เงินสด ผ่านวอลเลตและแอปพลิเคชัน รวมถึงการชำระค่าสินค้าได้ด้วยตัวเองผ่านตู้คีออสรับชำระค่าสินค้าแบบ Scan & Go

ล่าสุด โลตัสเปิดตัว Lotus’s Pick & Go by True Digital ร้านค้าอัจฉริยะแบบไร้พนักงาน โดยร่วมกับทรู ดิจิทัลนำเทคโนโลยี RetailTech ขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลด้วย True Virgo AI แพลตฟอร์มค้าปลีกอัจฉริยะ สร้างประสบการณ์ชอปปิ้งแบบสมาร์ตในยุคดิจิทัล

มนต์ชัย อินทรพรอุดม ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานพัฒนาการปฏิบัติการธุรกิจโลตัส กล่าวว่า “โลตัส เดินหน้าพัฒนาธุรกิจในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกดีทุกวันที่โลตัส โดยเดินหน้าเปิดสาขารูปแบบใหม่และปรับปรุงสาขาเดิมให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละพื้นที่มากขึ้น”

นอกจากการเปิดตัว โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ สาขาต้นแบบ SMART Community Center ศูนย์รวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ตที่รองรับไลฟ์สไตล์ของคนทุกเจเนอเรชันในย่านราชพฤกษ์แล้ว ยังเปิดตัว Lotus’s Pick & Go by True Digital ร้านค้าอัจฉริยะแบบไร้พนักงานแห่งแรกในไทย ลูกค้าเพียงหยิบสินค้าแล้วเดินออกจากร้านได้เลย โดยระบบจะทำการคำนวณราคาสินค้าโดยอัตโนมัติ เชื่อมต่อกับ TrueMoney Wallet ของลูกค้าโซนอัจฉริยะบนพื้นที่กว่า 30 ตร.ม. โดยสินค้ากว่า 90% เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว และอีก 10% เป็นสินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวัน

การขับเคี่ยวกันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ของโลกค้าปลีกนับเป็นอีกหนึ่งสีสันและปรากฏการณ์สำคัญ เพราะนี่เป็นการเปลี่ยนฉากทัศน์การชอปปิ้งให้แตกต่างไปจากเดิม แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลพวงมาจากพฤติกรรมการเปลี่ยนไปของผู้บริโภค

มีรายงานที่น่าสนใจของ Thailand’s Future Shopper 2023: Divergence and Disruption of the Status Quo ของวันเดอร์แมน ธอมสัน ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,014 คนจากกลุ่ม Baby Boomers, GenX, GenY และ GenZ เพศชาย 47% เพศหญิง 52% อายุระหว่าง 16-55 ปี จากกรุงเทพฯ 60% และต่างจังหวัด 40% เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการชอปปิ้งออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ผลสำรวจพบว่า ปี 2022 จำนวนผู้ที่ยังจับจ่ายเฉพาะออฟไลน์แทบจะเป็นศูนย์ ขณะที่มากกว่า 92% ชอปออนไลน์ และนักชอปออนไลน์ที่ใช้จ่ายมากกว่า 90% เพิ่มขึ้น 300% และทุกช่วงระดับของการใช้จ่ายตั้งแต่ 1,000-35,000 บาท มีจำนวนการจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 5-1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ที่ชอปมากกว่า 30,000 คือกลุ่ม Millennials ที่อายุน้อยกว่า 25-34 และ GenX (45-54)

นอกจากนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจคือ การจับจ่ายของผู้บริโภคไม่ได้จำกัดอยู่ช่องทางไหนเป็นหลัก ทั้ง Shopee Lazada โซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์แบรนด์สโตร์ เพราะไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่ครอบสัดส่วนได้มากกว่า 20% ของยอดการชอป ขณะที่โซเชียลมีเดียยังคงมีบทบาทสำคัญในการชอปออนไลน์ และ Live Shopping ยังเป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างยอดขายมากถึง 73%

ตราบใดที่เทคโนโลยียังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง วงการค้าปลีกคงไม่หยุดการพัฒนาไว้แค่นี้อย่างแน่นอน แบรนด์ต่างๆ คงจะออกแบบฟีเจอร์หรือลูกเล่นใหม่ๆ มาดึงดูดใจผู้บริโภคอยู่เรื่อยๆ.