วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > เอสเอฟ “ช้าแต่ชัวร์” ชะลอแผนต่างประเทศ

เอสเอฟ “ช้าแต่ชัวร์” ชะลอแผนต่างประเทศ

 
 
ขณะที่ค่าย “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” เร่งปูพรมสาขาตามแผนก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ตั้งเป้าปี 2020 หรือปี พ.ศ. 2563 จะขยายเครือข่ายโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ครบ 1,000 โรง โดยมีทั้งยักษ์ใหญ่ “อิออนมอลล์” ประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มทุนท้องถิ่นเป็นพันธมิตรเสริมความแข็งแกร่ง
 
ฟากฝั่ง “เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น” กลับยังขอเวลาศึกษาข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะแผนรุกตลาดอาเซียน ซึ่งเริ่มต้นดูทำเลตั้งแต่ 2 ปีก่อน และล่าสุดยืดเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี แม้มีการเจรจากับผู้ร่วมลงทุนหลายรายแล้ว ทั้งลาว เมียนมา เวียดนาม รวมถึงการต่อยอดธุรกิจศูนย์การค้า หลังจากผุดโครงการ “เมญ่า” (MAYA) ไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ บนถนนนิมมานเหมินท์ ใจกลางเมืองเชียงใหม่เมื่อต้นปี 2557 
 
ปัจจุบัน โรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ มีทั้งหมด 47 สาขา จำนวนโรงภาพยนตร์ 316 โรง รวมกว่า 70,000 ที่นั่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 17 สาขา 148 โรงภาพยนตร์ และต่างจังหวัดอีก 22 จังหวัด จำนวน 30 สาขา 168 โรงภาพยนตร์ โดยปี 2558 เครือเอสเอฟสามารถทำรายได้รวม 4,000 ล้านบาท ผลกำไร 300 ล้านบาท อัตราเติบโต 10% จากปี 2557 มีรายได้รวม 3,700 ล้านบาท
 
ปี 2559 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท กำไรประมาณ 380 ล้านบาท หรือขยายตัวมากกว่า 20% โดยเตรียมอัดเม็ดเงินลงทุน 800 ล้านบาท แบ่งเป็น 500 ล้านบาท ขยายสาขา 5-6 แห่ง จำนวนโรงภาพยนตร์ 40 โรง ได้แก่ สาขาเดอะคริสตัล เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา, บิ๊กซี บางพลี, เซ็นทรัล นครศรีธรรมราช, เทอร์มินอล 21 โคราช และโรบินสัน ลพบุรี 
 
เงินลงทุนอีก 200-300 ล้านบาท จะนำมารีโนเวตสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ มาบุญครอง และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือจนถึงสิ้นปีจะมีสาขา 52-53 แห่ง โรงภาพยนตร์ 356-360 โรง 
 
หากเปรียบเทียบกับอาณาจักรของค่ายคู่แข่ง ซึ่งล่าสุดผุดสาขาทั้งสิ้น 92 แห่ง 606 โรงภาพยนตร์ 140,584 ที่นั่ง แบ่งเป็นสาขาในเขตกรุงเทพฯ 26 สาขา 253 โรง ต่างจังหวัด 38 จังหวัด 64 สาขา 341 โรง และต่างประเทศ 2 สาขา ที่กัมพูชา 7 โรง และลาว 5 โรง รวม 12 โรง โดยปี 2559 เครือเมเจอร์ฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 9,200 ล้านบาท และวางแผนขยายโรงภาพยนตร์เพิ่มอีก 90-100 โรง เงินลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด รวมทั้งเปิดสาขาเพิ่มที่ สปป.ลาวอีก  1 แห่ง หรือจนถึงสิ้นปีจะมีโรงภาพยนตร์รวม 700 โรง และสิ้นปี 2560 เพิ่มเป็น 800 โรง และครบ 1,000 โรงภายใน 5 ปี จนดูเหมือน “เมเจอร์ฯ” ก้าวล้ำหน้าและเปลี่ยนโหมดรุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล 
 
สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร ศูนย์การค้าเมญ่าฯ กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360  ํ” ว่า ช่วง 1-2 ปีนี้ เอสเอฟยังวางทิศทางธุรกิจเน้นตลาดในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งยังมีช่องว่างและโอกาสอีกมาก ทั้งธุรกิจโรงหนังและธุรกิจศูนย์การค้า ส่วนจะขยายธุรกิจเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพ เนื่องจากบริษัทเน้นภาพรวมและการดำเนินธุรกิจในระยะยาวอย่างมั่นคง 
 
ด้านธุรกิจศูนย์การค้า ซึ่งเอสเอฟเปิดตัว “เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เชียงใหม่” ถือว่า ประสบความสำเร็จเกินเป้า ได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ยอดลูกค้าเข้ามาใช้บริการเติบโตมากกว่า 40%  เฉลี่ยวันละ 20,000-22,000 คน และปีนี้จะเติบโตต่อเนื่องอีก 20-30% จำนวนลูกค้ามากกว่า 25,000 คนต่อวัน ซึ่งทั้งหมดมาจากตัวโครงการ จุดแข็งและทำเลที่มีศักยภาพสูงสุด เนื่องจากยึดใจกลางเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริง 
 
นอกจากนี้ความเป็นเกตเวย์ของเชียงใหม่ยังเชื่อมโยงไปประเทศเพื่อนบ้านตลาดอาเซียนและจีน ซึ่งเมญ่าถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับใบอนุญาตใบสุดท้ายในเขตเทศบาลเมือง
 
ผลจาก “เมญ่า” บริษัทเตรียมแผนลงทุนธุรกิจศูนย์การค้าอีกหลายรูปแบบ ทั้งไซส์ขนาดใหญ่เหมือนเมญ่าและคอมเพล็กซ์ขนาดกลาง มีทั้งโรงภาพยนตร์และร้านค้าปลีก แต่ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการศึกษาและน่าจะเห็นความชัดเจนเร็วสุดในปีหน้า 
 
“ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงหนังหรือศูนย์การค้า เอสเอฟต้องมั่นใจที่สุด ทั้งที่เจรจากับพันธมิตรหลายรายแล้ว การที่เมเจอร์ฯ รุกไปตลาดอาเซียนก่อน เหมือนเอสเอฟจะช้ากว่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เอสเอฟมองภาพรวมธุรกิจในระยะยาวและศึกษาข้อมูลอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องโลเกชั่นและข้อกฎหมายของประเทศต่างๆ ถ้าได้โลเกชั่นที่มีศักยภาพ พันธมิตรมีศักยภาพ ทุกอย่างพร้อม เอสเอฟอาจไปปีนี้เลยก็ได้ เอสเอฟไม่ได้มองว่าไปช้า แต่ขอชัวร์” นายสุวิทย์กล่าว 
 
หรือแม้กระทั่งแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมในปี 2558 มาจากเหตุผลสำคัญเรื่องภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อรอตลาดทุนไทยนิ่ง โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนอย่างเร็วภายในครึ่งหลังของปี 2559 หรืออย่างช้าสุดก่อนการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2560 ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมรอบด้าน 
 
เบื้องต้น บริษัทตั้งเป้าระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าช่วงจังหวะนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเข้าเทรดในตลาดหุ้น 
 
เหนือสิ่งอื่นใด ยุทธศาสตร์ธุรกิจของ “เอสเอฟ” ยังคงตอกย้ำจุดยืนที่จะเลือกการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนมากกว่าการเร่งถีบตัวขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในตลาด ภายใน 5 ปี หรือ 10 ปี!!