วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > กาแฟ-สังคม-ชุมชน กรีนเนท เอสอี สู่ “มีวนากาแฟอนุรักษ์ป่า”

กาแฟ-สังคม-ชุมชน กรีนเนท เอสอี สู่ “มีวนากาแฟอนุรักษ์ป่า”

 
 
ท่ามกลางเสียงเครื่องบดกาแฟแบบมือหมุน และกลิ่นกรุ่นของกาแฟในกระดาษกรองที่ผ่านน้ำร้อนแบบควบคุมอุณหภูมิ ที่บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด กำลังส่งต่อให้เหล่านักดื่มกาแฟได้สัมผัสรสชาติกาแฟที่ถูกบ่มเพาะอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่าต้นน้ำในจังหวัดเชียงราย
 
เรื่องราวของเมล็ดกาแฟที่นอกจากจะอุดมไปด้วยสารอาหารตามธรรมชาติที่สามารถปลุกให้ตื่นจากภวังค์ได้แล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของเหล่าเกษตรกรชาวเขาจากผืนป่าต้นน้ำแม่ลาว แม่สรวย แม่กรณ์ บนพื้นที่จังหวัดเชียงราย
 
ซึ่งบริษัทกรีนเนท เอสอี จำกัด นับเป็นกิจการเพื่อสังคมผู้ริเริ่มโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า “มีวนา” โครงการเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำทั้งสามแห่ง ร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรแบบแผ้วถางป่า มาเป็นการปลูกกาแฟออร์แกนิคใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ โดยมีหมุดหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับป่าและชุมชน ด้วยความมุ่งหวังให้กาแฟมีวนาเป็นกลไกหนึ่งในการรักษาป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำ และฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ในประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนสู่ชุมชน
 
จากการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในไทยไปกว่า 70 ล้านไร่นับตั้งแต่มีการสำรวจครั้งแรกในปี 2504 ที่พบว่าไทยมีพื้นที่ป่าประมาณ 171 ล้านไร่ และหลงเหลืออยู่เพียง 102 ล้านไร่ในปี 2557 ส่งผลเสียนานัปการ นอกจากความไม่สมดุลของสภาพดินฟ้าอากาศแล้ว ยังส่งผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
 
โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนาจึงเริ่มขึ้น โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ในผืนป่า เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร และเสริมสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง นับว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้เกษตรกรและชาวบ้านในชุมชนหวงแหนรักป่า และช่วยกันฟื้นฟูให้ป่าไม้กลับมาสมบูรณ์ 
 
กลุ่มบริษัทพรีเมียร์เล็งเห็นประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ จึงเข้ามาสนับสนุน โดยวิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์กล่าวว่า 
 
“ผมอยากเห็นภาคธุรกิจและสังคมโดยรวมมีความเชื่อร่วมกันว่า การประกอบธุรกิจที่สร้างคุณค่าสู่สังคมเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้จริง อีกทั้งผู้บริโภคยังสามารถมีส่วนร่วมในการนำส่งคุณค่านั้นผ่านการสนับสนุนสินค้าหรือบริการ โครงการนี้ได้รับการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โครงการมีวนามีรายได้จากการจำหน่ายกาแฟออร์แกนิค ในขณะที่กระบวนการทั้งหมดของมีวนาได้คำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัวธุรกิจเอง เกษตรกร ผู้บริโภค สังคมโดยรวม ป่าต้นน้ำเปรียบเสมือนโรงงานผลิตน้ำของเราทุกคนอย่างยั่งยืน คุณภาพชีวิตเกษตรกรในโครงการมีคุณภาพดีขึ้นเมื่อได้รับการซื้อเมล็ดกาแฟในราคาที่เป็นธรรม ผู้บริโภคได้สินค้าที่มีคุณภาพดีปราศจากสารพิษ ทุกคนในห่วงโซ่ธุรกิจนี้ได้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าสู่สังคมไปพร้อมๆ กัน”
 
นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ส่งมอบคุณค่าให้สังคมในขณะที่สามารถสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ผู้ริเริ่มโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนาอย่างธีรสิทธิ์ อมรแสนสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด อธิบายความเป็นมาของโครงการ 
 
“เริ่มแรกจากการที่ไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของป่าบ้านขุนลาว จังหวัดเชียงราย และเกิดความรู้สึกประทับใจ จึงมีแนวคิดที่ต้องการรักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ และไม่ต้องการให้เกิดการเผา หรือแผ้วถางรุกล้ำ จึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งบริเวณนั้นสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะแก่การปลูกกาแฟ ทั้งเรื่องความสูงจากระดับน้ำทะเล ดินภูเขาไฟในอดีต และผู้นำชุมชนที่มีแนวความคิดที่ตรงกัน เราจึงส่งเสริมให้ความรู้การปลูกกาแฟในป่าแก่เกษตรกรแทนการปลูกเสาวรส”
 
กระนั้น แม้กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่จะเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่ากาแฟที่ปลูกทั่วไป 2 สัปดาห์ แต่ข้อได้เปรียบคือผลกาแฟจะสามารถสะสมสารอาหารได้นานขึ้น ทำให้กาแฟมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนั้นกาแฟมีวนายังตรงตามมาตรฐานกาแฟออร์แกนิค ซึ่งเคยได้รับรางวัลเกษตรอินทรีย์จากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM: International Federation of Organic Agriculture Movements) ที่รับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ของโครงการส่งเสริมกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนา
 
การทำธุรกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับคนในชุมชนแม้จะเป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจ ปรับทัศนคติและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ทั้งนี้พ่อหลวงสุวัฒน์ สิทธิบุญ ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าห้วยมะเกลี้ยง อธิบายถึงข้อดีของการปรับตัวของชุมชนว่า “สัตว์น้ำบางชนิดกลับมาสู่น้ำในป่าต้นน้ำ แต่ก่อนปลูกเสาวรสต้องใช้สารเคมีมาก และยังมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หลังจากที่มูลนิธิสายใยแผ่นดินเข้ามาสนับสนุนการเพาะปลูกกาแฟอินทรีย์ ทำให้ชาวชุมชนลดความขัดแย้งลงได้ รายได้ก็ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น” 
 
พ่อหลวงอนันต์ โซคากุ กลุ่มบ้านใหม่พัฒนา “ชีวิตเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ดีขึ้น กรีนเนทเข้ามาดูแลช่วยลดทอนปัญหาที่เราเจอมาได้ โดยเฉพาะรูปแบบการค้า Fair Trade ที่นำเข้ามาใช้” 
 
คำอธิบายของคนในชุมชนน่าจะทำให้สังคมภายนอกได้มองเห็นและเข้าใจประเด็นสำคัญในเรื่องของการหวงแหนพื้นที่ทำกิน การปรับทัศนคติเพียงเล็กน้อยที่ยกประโยชน์ให้ส่วนรวมมากขึ้น น่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงค่าขึ้นด้วย เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ
 
เป้าประสงค์สำคัญของโครงการส่งเสริมกาแฟอินทรีย์รักษาป่าคือการให้ผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมแก่เกษตรกร โดยบริษัท กรีนเนท เอสอี เป็นหน่วยรับชื้อ-ขาย แปรรูป ผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักการแฟร์เทรดขององค์กรแฟร์เทรดโลก (World Fair Trade Organization-WFTO) คือ 1. สร้างโอกาสสำหรับผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ 2. มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน 3. ดำเนินการค้าอย่างเป็นธรรม 4. ให้ราคาที่เป็นธรรม 5. ไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ 6. ไม่เลือกปฏิบัติ ให้ความเท่าเทียมทางเพศ และเสรีภาพในการรวมตัว 7. หลักประกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี  8. พัฒนาศักยภาพผู้ผลิตและเจ้าหน้าที่  9. รณรงค์เผยแพร่การค้าที่เป็นธรรม และ 10. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 
 
ทั้งนี้ปัจจุบันโครงการมีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อยู่ 310 ครอบครัว และมีพื้นที่ปลูกกาแฟที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ประมาณ 8,200 ไร่ 
 
เป็นเรื่องน่าดีใจสำหรับสังคมยุคปัจจุบันนี้ที่ยังมีองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ชุมชน และให้การสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น ที่ไม่ใช่เพียงแค่สร้างคุณภาพที่ดีให้แก่เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อป่าต้นน้ำที่มีประโยชน์ของชาติรออยู่ปลายน้ำ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้เกิดสำนึกที่ดี เป็นเยี่ยงอย่างที่น่าลอกเลียนแบบ หรือจะมีใครนำมาเป็นโมเดลต้นแบบและสร้างให้เกิดขึ้นจริงบนพื้นที่เขาหัวโล้นในจังหวัดน่านได้บ้าง