วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > คอมมูนิตี้มอลล์ สมรภูมิของผู้เล่นใหม่

คอมมูนิตี้มอลล์ สมรภูมิของผู้เล่นใหม่

 
ขณะที่บรรดายักษ์ค้าปลีกกำลังพุ่งเป้าสร้างอาณาจักร “มิกซ์ยูส” เงินทุนหลายหมื่นล้าน ดูเหมือนว่าตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ หรือศูนย์การค้าชุมชนยังเป็นสมรภูมิของผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาทดสอบฝีมืออย่างต่อเนื่อง จนถือเป็นกลุ่มค้าปลีกที่มีอัตราขยายตัวสูงสุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีพื้นที่รวมทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า 1.1 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2550 เกือบ 4 เท่าตัว
 
ปี 2559 ยังคาดอีกว่าจะมีผู้ประกอบการต่อคิวเปิดโครงการใหม่นับสิบราย ไม่รวมกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่พยายามขยายไลน์ผูกขาดธุรกิจรีเทลทุกเซกเมนต์ อย่าง “ทีซีซีแลนด์” ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี หลังปรับกระบวนทัพหลายรอบ และวางแผนลงทุนระยะ 5 ปีข้างหน้า  ทุ่มเม็ดเงินมากกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสยายปีกธุรกิจรีเทลในเครือ 
 
ทั้ง “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” ที่เดิมเริ่มต้นจากคอมมูนิตี้มอลล์ และขยายสู่โครงการมิกซ์ยูสเจาะทำเลเมืองท่องเที่ยว ปรับโฉมศูนย์การค้าอีก 3 แบรนด์ ได้แก่ ศูนย์การค้าเกตเวย์ ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ขณะที่เปิดตัว “บ็อกซ์ สเปซ” เพื่อรุกตลาดคอมมูนิตี้มอลล์อย่างจริงจัง
 
สำหรับแบรนด์ บ๊อกซ์ สเปซ เป็นคอมมูนิตี้มอลล์รูปแบบตู้คอนเทนเนอร์เรียงต่อกันเป็นชั้น เพื่อเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคนเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งทีซีซีแลนด์ตั้งเป้าขยายให้ได้ 3-4 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยนำร่องสาขาแรกย่านรัชโยธินช่วงต้นปี 2559 เน้นจับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มผู้พักอาศัยย่านจตุจักร รัชดาฯ และลาดพร้าว เพื่อเป็นต้นแบบทดสอบการตอบรับก่อนขยายสาขา 2 บริเวณถนนสรรพาวุธ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา
 
แน่นอนว่า ทีซีซีแลนด์มีข้อได้เปรียบในแง่เงินทุนและเครือข่ายแบ็กอัพ ซึ่งสะท้อนถึงการแข่งขันที่ดุเดือด หรือแม้คอมมูนิตี้มอลล์หลายแห่งเปิดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีลูกค้าใช้บริการจนต้องปิดตัวหลายสิบราย  
 
แต่สมรภูมิเซกเมนต์นี้ยังมีมนต์ขลังดึงดูดผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ เนื่องจากมีปัจจัยบวกเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ยังต้องการจับจ่ายในศูนย์การค้าใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน เพื่อหนีการจราจรติดขัด โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่หรือเมกะมอลล์ แม้มีจุดขายมากมาย แต่ผู้บริโภคเลือกไปในบางโอกาส ไม่บ่อยครั้งเท่าคอมมูนิตี้มอลล์  
 
ที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ แต่มีผู้ประกอบการหลากหลายธุรกิจหันมาเปิดศูนย์การค้าชุมชนมากขึ้น อย่างกลุ่มธุรกิจอาหาร “เอ็มเคกรุ๊ป” ที่ลงทุนสร้างโครงการ “ลอนดอนสตรีท” ย่านอ่อนนุช หรือ “เจมาร์ท” เจ้าของธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านระบบเงินสด ระบบผ่อนชำระ และระบบขายส่ง ตัดสินใจแตกบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) และประกาศรุกตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ “เดอะแจ๊ส (The Jas)” เพื่อขยายพอร์ตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 
 
นงลักษณ์ ลักษณะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เจเอเอส แอสเซ็ท เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2543 จากการเป็นหน่วยงานหนึ่งในบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เพราะขณะนั้นเจมาร์ทขยายธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า โดยเริ่มเช่าพื้นที่ในส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าเทคโนโลยีในศูนย์การค้าบิ๊กซี  จ.นครปฐม เป็นแห่งแรก ภายใต้ชื่อ “IT Junction” 
 
ต่อมา ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าเติบโตจนเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลัก ปี 2555 จึงขยายธุรกิจสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบตลาดชุมชน หรือตลาดนัด “J Market” และปี 2557 เปิดศูนย์การค้าชุมชน “The Jas” สาขาวังหินเป็นแห่งแรก เนื้อที่ 5 ไร่ พื้นที่ให้เช่าประมาณ 5,700 ตร.ม.
 
ล่าสุด เจเอเอสเปิดตัว The Jas สาขา 2 รามอินทรา ในซอยลาดปลาเค้า เนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 9 ไร่ และวางแผนขยายสาขาทั้ง 3 แบรนด์ จำนวนมากกว่า 100 สาขา ภายในปี 2562 จากปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 49 สาขา แบ่งเป็น IT Junction 43 สาขาทั่วประเทศ จะขยายเพิ่มปีละ 8 สาขา,  J Market ขณะนี้มี 4 สาขา จะขยายเพิ่มปีละ 1-2 สาขา ส่วน The Jas เปิดแล้ว 2 สาขา จะขยายเพิ่มปีละ 1 สาขา โดยปลายปีหน้าจะเปิด The Jas สาขา 3 ศรีนครินทร์ ซึ่งถือเป็นทำเลค้าปลีกที่กำลังแข่งขันดุเดือด 
 
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในวงการหุ้นและวงการค้าปลีกมองการเติบโตของเจเอเอส แอสเซ็ท ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ก่อนมาบุกตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ The Jas มีลักษณะคล้ายคลึงกับบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของนพพร วิฑูรชาติ “เจ้าพ่อคอมมูนิตี้มอลล์” ช่วงเพิ่งก่อตั้งใหม่ๆ และสามารถขยายตัวใหญ่โตจนกลายเป็นผู้นำศูนย์การค้าชุมชน เนื่องจากทั้งสยามฟิวเจอร์และเจเอเอสมีข้อได้เปรียบในแง่การสร้างเครือข่ายซัปพลายเออร์จากการบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าเป็นจุดแข็งหลัก
 
นอกจากเครือเจมาร์ทแล้ว แลมป์ตั้นกรุ๊ป เจ้าของธุรกิจผลิตและจำหน่ายหลอดฟลูออเรสเซนต์ ภายใต้ชื่อบริษัท แลมป์ตัน ไลท์ติ้ง เทคโนโลยี จำกัด ซึ่ง สมบูรณ์ ไชยสงวนมิตต์ ก่อร่างสร้างธุรกิจมานานกว่า 26  ปี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ประกาศบุกแนวรบค้าปลีกอย่างเต็มตัว  
 
ปี 2557 สมบูรณ์นำเงินทุนก้อนหนึ่งตั้งบริษัท แลมป์ตั้น พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ให้ อวัศยา ไชยสงวนมิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แลมป์ตั้น ไลท์ติ้ง จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 นั่งเป็นประธาน ชิมลางสร้าง “เดอะไบรท์ ซิตี้ไลฟ์สไตล์มอลล์” บนถนนพระราม 2 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเดอะไบรท์จะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์และโชว์รูมสินค้า “แลมป์ตั้น ไลท์ติ้ง” ด้วย 
 
อวัศยากล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าให้เดอะไบรท์เป็นแลนด์มาร์คที่สว่างไสว สีสันสุดชิค มีร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์ เช่น ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่, หัวปลาช่องนนทรี, คาโบชะซูชิ, โซล กู๊ด, เท็นโจ ซูชิ&ยากินิกุ และร้านสตาร์บัคส์ คอนเซ็ปต์ใหม่ Co Working Space เป็นพื้นที่ทำงานและแหล่งพบปะของกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งดึงซูเปอร์มาร์เก็ต “ฟู้ดแลนด์” และฟาสต์ฟู้ด “เบอร์เกอร์คิง” เข้ามาเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงด้วย
 
แต่ไม่ว่า เจมาร์ทหรือแลมป์ตั้น ต่างต้องฝ่าด่านหิน ทั้งโจทย์ทางการตลาด การเติมเต็มส่วนผสมสนองกลุ่มลูกค้า และคู่แข่งรอบด้าน ซึ่งแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่างทีซีซีแลนด์ยังต้องทุ่มทุนปรับกลยุทธ์หลายรอบ แผนแจ้งเกิดไม่ใช่เรื่องง่ายแน่