วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > เชฟรอนจัดทัพ “คาลเท็กซ์” พลิกกลยุทธ์สู้ศึกน้ำมัน

เชฟรอนจัดทัพ “คาลเท็กซ์” พลิกกลยุทธ์สู้ศึกน้ำมัน

สงครามธุรกิจน้ำมันที่วันนี้เหลือค่ายต่างชาติดั้งเดิม 2 รายใหญ่ คือ เชลล์และคาลเท็กซ์ น่าจะเพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น หลังบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ประกาศปิดดีลซื้อกิจการ “คาลเท็กซ์” จาก เชฟรอน เอเชีย แปซิฟิคโฮลดิ้งส์ (CAPHL) มูลค่าราว 5,500 ล้านบาท หลังตระเตรียมแผนทั้งหมดนานเกือบปี

เหตุผลสำคัญ คือ กลุ่มเชฟรอนต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจในไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะทั้ง SPRC และคาลเท็กซ์ ต่างมีเชฟรอนเป็นบริษัทแม่

สำหรับ SPRC จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2535 แรกเริ่มมีเชฟรอนถือหุ้น 64% และ ปตท. ถือหุ้น 36% ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน กำลังผลิต 155,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อนแปลงสภาพจากบริษัทจำกัดเป็น บริษัทมหาชนจำกัด เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558

ช่วงปี 2558 บอร์ด ปตท. มีมติอนุมัติขายหุ้นที่ถือใน SPRC จาก 36% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด เหลือ 5.41% และวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ขายหุ้น SPRC ที่ ปตท. ถืออยู่ทั้งหมด 5.41% โดยปัจจุบัน SPRC มี เชฟรอน เอเชีย แปซิฟิคโฮลดิ้งส์ (CAPHL) ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 60%

ส่วนบริษัท สตาร์ ฟูเอลส์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (SFL) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 โดยเปลี่ยนชื่อจากบริษัท เชฟรอน ลูบริแคนท์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้แบรนด์คาลเท็กซ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

ทั้งหมดจึงเป็นการจัดทัพใหม่ โดยวาง SPRC เป็นพระเอก บริหารจัดการธุรกิจปิโตรเลียม ทั้งโรงกลั่นผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ 450 แห่งทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์น้ำมันเทครอนและเครื่องหมายการค้า นอกจากนั้น ได้หุ้น 9.91% ในบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด และ 2.51% ในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัทเอกชนที่ถือครองที่ดิน คลังน้ำมันเชื้อเพลิงในจังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี

ขณะเดียวกัน บริษัท สตาร์ ฟูเอลส์ โฮลดิ้ง จำกัด คือ บริษัทลูกของ SPRC ซึ่งจัดตั้งขึ้นมารองรับแผนปรับโครงสร้างของเชฟรอน ทั้งบริหารกิจการคาลเท็กซ์และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ผู้ค้าส่งมากกว่า 200 ราย จัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหลากหลายชนิด เช่น น้ำมันดีเซลเกรดธรรมดาและเกรดพรีเมียม น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และน้ำมันอากาศยาน

นายชาแชงค์ นานาวาติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการพาณิชย์ บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่งและอดีตประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอน (ไทย) กล่าวว่า การรวมธุรกิจการกลั่นและการตลาดจะเพิ่มมูลค่าแบรนด์และสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้ผู้ถือหุ้นและผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์

ปัจจุบันคาลเท็กซ์ยังเร่งขยายธุรกิจกลุ่มนอนออยล์ ทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ศูนย์บริการเปลี่ยนยาง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ล้างรถ มีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ เช่น ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ท็อปส์เดลี่ ร้านอาหารเอสแอนด์พี และดึงแบรนด์โลคอลเข้ามาสร้างความหลากหลาย โดยปีที่ผ่านมามีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ประเทศไทย (FLA) ตั้งเป้าสร้างเครือข่ายพันธมิตรร้านค้าท้องถิ่น (Local Brand) มากกว่า 100 ร้านค้า เพื่อกระตุ้นยอดขายและดึงดูดผู้ใช้รถเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

แน่นอนว่า การพลิกกลยุทธ์จัดทัพของเชฟรอนเพื่อเดินหน้าสู้ศึกในสมรภูมิธุรกิจค้าปลีกน้ำมันที่เต็มไปด้วยผู้เล่นรายใหญ่และทุกค่ายต่างเปิดเกมรุกอย่างดุเดือด โดยเฉพาะกรณีบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทุ่มเม็ดเงินกว่า 55,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นกิจการบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. ส่งผลให้บางจากมีจำนวนปั๊มเพิ่มขึ้นทันทีที่ 2,145 แห่ง แบ่งเป็นบางจาก 1,343 แห่ง และเอสโซ่ 802 แห่ง โดยเร่งเปลี่ยนเป็นแบรนด์บางจากทั้งหมด ยึดครองส่วนแบ่งตลาดปั๊มน้ำมัน 7.7%

ขณะที่ปั๊มน้ำมันรวมทั่วประเทศ ประมาณ 28,000 แห่ง แบ่งเป็นปั๊มที่ไม่มีแบรนด์มากสุด 70.9% และในกลุ่มปั๊มที่มีแบรนด์ อันดับ 1 ได้แก่  PTT Station ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ 8.5% รองลงมา คือ บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PT 8% ส่วนบางจาก+เอสโซ่ อยู่ในอันดับ 3 ตามด้วยเชลล์และคาลเท็กซ์

ด้านส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสูงสุดยังเป็นของโออาร์ 39.6% รองลงมาเป็นบางจากและเอสโซ่รวมกัน 21.4% ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งคาลเท็กซ์และเชลล์คงไม่ยอมเสียส่วนแบ่งอีกต่อไปแล้ว.

 

เส้นทางปั๊มดาวแดง 42 ปี ปักหลักประเทศไทย

30 มิถุนายน 2479 บริษัท California Texas Oil  หรือ Caltex (คาลเท็กซ์) เริ่มต้นจากการร่วมทุนกันระหว่าง 2 บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน คือ Standard Oil Co. (Socal) ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นบริษัทเชฟรอน และบริษัท The Texas Co. (Texaco) เครื่องหมาย Texaco Star ภายใต้แบรนด์ใหม่ ดาวสีแดงมีคำว่า “CALTEX” เป็นตัวอักษรสีดำ

ปี 2480 บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายส่วนแบ่งตลาดน้ำมันเบนซิน 16% ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์และจีน มีรายได้รวมปีแรกสูงถึง 4.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายคลังจัดเก็บน้ำมันเบนซินและดีเซลในสิงคโปร์ โคลอมโบ เซี่ยงไฮ้ สุเอซ ฮ่องกง และเดอร์บัน รวมทั้งเปิดสถานีบริการอีกหลายร้อยแห่ง

ปี 2509 คาลเท็กซ์สร้างยอดขายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ต่อปีและขยายกิจการมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก มีญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด ยอดซื้อสูงถึง 11 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ในปี 2510 Socal และ Texaco ถอนการลงทุน ขายทรัพย์สินของคาลเท็กซ์ในยุโรปทั้งหมด เพื่อลดขนาดธุรกิจ ทำให้คาลเท็กซ์หันไปรุกตลาดฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซมากขึ้น

ปี 2511 เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการจาก California Texas Oil Corp. เป็น Caltex Petroleum Corp.  เดินหน้าทำตลาดภายใต้แบรนด์ Caltex และ 3 ปีถัดมาปรับโลโก้ ใส่ CALTEX บนแถบสีขาวตัดอยู่บนดาวสีแดง พร้อมเปิดตัวแคมเปญโฆษณาที่เน้นเรื่องราวพนักงานหลากหลายเชื้อชาติทั่วโลก

ปี 2525  ซื้อกิจการของบริษัทซัมมิทออยล์และสถานีบริการทั้งหมด 120 แห่งในประเทศไทย

ปี 2526 ย้ายสำนักงานใหญ่จากเมือง New York ไปยังเมือง Dallas และตกลงซื้อธุรกิจปั๊มโมบิลในฟิลิปปินส์ 500 แห่ง ขณะเดียวกันเปิดตัวแคมเปญอัตลักษณ์แบรนด์ ป้ายสัญลักษณ์ใหม่ ทันสมัยขึ้นและสีจัดจ้าน หลังคาของสถานีบริการมีรูปดาวสีขาวบนพื้นสีแดงและมีแถบสีขาวหลายแถบ “energy lines” และชื่อ คาลเท็กซ์ เป็นตัวอักษรสีดำบนพื้นสีแดง

ปี 2533 ปรับปรุงโรงกลั่นส่วนใหญ่จาก 14 โรง รองรับตลาดแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงโรงกลั่นสตาร์ รีไฟน์เนอร์รี่ที่มาบตาพุด ประเทศไทย ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์ กำลังผลิต 130,000 บาร์เรลต่อวัน

ปี 2539 คาลเท็กซ์สร้างสถานีบริการใหม่นับร้อยแห่ง ปรับปรุงป้ายหน้าปั๊มในออสเตรเลีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และไทย

ปี 2541 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น คาลเท็กซ์ คอร์ป ตัดคำว่า ปิโตรเลียม เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ปิโตรเลียม

ปี 2542 ย้ายสำนักงานใหญ่จาก ดัลลัส อเมริกา มาที่สิงคโปร์ และเปิดตัวแคมเปญ One stop worth making  โปรแกรมส่งเสริมภาพลักษณ์ เพิ่มจำนวนสถานีบริการคาลเท็กซ์และร้านค้าปลีกสตาร์มาร์ท

ปี 2544 คาลเท็กซ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ChevronTexaco Corp จากการควบรวมกิจการของเชฟรอนและ Texaco ในเวลาต่อมา ChevronTexaco Corp เปลี่ยนชื่อเป็น Chevron Corporation

ปี 2556 เปิดตัวน้ำมันเชื้อเพลิง E20 ในประเทศไทย

ปี 2558 คาลเท็กซ์เดินหน้าขยายกิจการใน 29 ประเทศทั่วโลก รวมถึงตลาดประเทศไทย ภายใต้บริษัท เชฟรอน ลูบริแคนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ล่าสุดมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันกว่า 450 แห่ง

14 มีนาคม 2566 บริษัท เชฟรอน ลูบริแคนท์ (ประเทศไทย) เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สตาร์ ฟูเอลส์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้แบรนด์คาลเท็กซ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

3 มกราคม 2567 บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ปิดดีลกับ Chevron Asia Pacific Holdings Limited (CAPHL) ซื้อธุรกิจ “คาลเท็กซ์”.