วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Cover Story > “คาเฟ่คอนวีเนียน” ยุทธศาสตร์ใหม่ของ ปตท.

“คาเฟ่คอนวีเนียน” ยุทธศาสตร์ใหม่ของ ปตท.

 
ยักษ์น้ำมัน ปตท. ใช้เวลาจัดกระบวนทัพธุรกิจค้าปลีกอยู่นานหลายปี แตกไลน์พัฒนาโมเดลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด  เปิดตัว “Joy Cafe Convenience” บุกสมรภูมิใหม่ชนเจ้าตลาดคอนวีเนียนสโตร์อย่าง “เซเว่น-อีเลฟเว่น” และคู่แข่งที่กำลังรุกหนัก ทั้ง “แฟมิลี่มาร์ท” และ “ลอว์สัน 108”
 
เปลี่ยนจากแนวรบ G-Store สู่การเจาะทุกเซกเมนต์ในสงครามค้าปลีก เพื่อสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลในกลุ่มธุรกิจ Non-oil ซึ่งมีส่วนต่างกำไรมากกว่าธุรกิจน้ำมันหลายเท่าตัว 
 
ปัจจุบันเครือข่ายค้าปลีกในอาณาจักร ปตท. ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM ซึ่งบริษัทแม่จัดตั้งขึ้นมาภายหลังทุ่มทุนซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมัน “เจ็ท” และร้านค้าสะดวกซื้อ “จิฟฟี่” จากบริษัท ConocoPhillips สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2555 ต่อยอดจากแบรนด์ “จิฟฟี่” เพิ่มโมเดลมินิซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ชื่อ “จิฟฟี่ ซูเปอร์เฟรชมาร์เก็ต” ก่อนพัฒนาเป็น “จิฟฟี่ พลัส ซูเปอร์มาร์เก็ต” 
 
ขณะเดียวกันสร้างร้านค้าปลีกในกลุ่มร้านอาหารทั้งจิฟฟี่ คิทเช่น และจิฟฟี่ บิสโทร โดยเน้นทำเลหลักในสถานีบริการ ปตท.-จิฟฟี่ ทั้ง 150 แห่ง รวมถึงขยายธุรกิจร้านกาแฟ Caf? Amazon และร้านชานมไข่มุก Prealy Tea ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์มาจากไต้หวัน 
 
ปี 2555 PTTRM ลงนามสัญญาความร่วมมือกับกลุ่ม เค.อี.แลนด์ สร้างคอมมูนิตี้มอลล์  “The Crystal PTT” บนถนนชัยพฤกษ์ ก่อนเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2557 ถือเป็นการเริ่มศักราชบุกสงครามค้าปลีกภายใต้โมเดลความร่วมมือกับพันธมิตรและชิมลางโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ที่อยู่ในกระแสการลงทุน
 
แน่นอนว่าหากเปรียบเทียบทุกเซกเมนต์ในธุรกิจค้าปลีก ที่มีเม็ดเงินรวมกันเกือบ 3 ล้านล้านบาท การเติบโตของประเภทร้านค้าปลีกต่างๆ ได้แก่ คอนวีเนียนสโตร์ เติบโต 4% ซูเปอร์มาร์เก็ต เติบโต 6.5% ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เติบโต 2.6% ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ เติบโต 3.4% และกลุ่มร้านค้าเฉพาะทาง “สเปเชียลตี้สโตร์” เติบโต 2.7%  
 
แม้กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตมีอัตราตัวเลขมากกว่ากลุ่มอื่น แต่กลุ่มคอนวีเนียนสโตร์กลับมีโอกาสและศักยภาพสูงต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงในอนาคต เนื่องจากเป็นโมเดลที่สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มลูกค้าคนไทยในยุคปัจจุบันและใช้พื้นที่การลงทุนไม่มาก  
 
ผู้เล่นในตลาดจึงเร่งปูพรมสาขาช่วงชิงทำเลที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยเซเว่น-อีเลฟเว่น วางแผนอีก 5 ปี หรือภายในปี 2562 มีจำนวนสาขารวม 10,000 สาขา ส่วนแฟมิลี่มาร์ทตั้งเป้าภายในปี 2561 เปิดครบ 3,000 สาขา และลอว์สัน 108  เร่งลงทุนและขายแฟรนไชส์ขยายสาขาครบ 1,000 สาขาในปี 2562 
 
จักรกฤช จารุจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด กล่าวว่า บริษัทเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กในย่านชุมชน อาคารสำนักงาน หรืออาคารชุดมากขึ้น แยกออกจากร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ ที่เน้นให้บริการในสถานีบริการน้ำมัน โดยอาศัยจุดแตกต่างจากคู่แข่งในกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์ ถือเป็นเซกเมนต์ใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Cafe Convenience คือ การเปิดบริการพร้อมร้านกาแฟ Cafe Amazon และร้านชาไข่มุก Pearly Tea เพื่อสร้างจุดแวะพักชอปปิ้งแบบสบายๆ ด้วยสโลแกน “ประสบการณ์ใหม่ของการชอปปิ้งแบบไม่ซ้ำใคร” 
 
โมเดลของ Joy Cafe Convenience ขนาดมาตรฐานใช้พื้นที่เฉลี่ย 150 ตารางเมตร เน้นจุดขายเรื่องสินค้าและบริการที่มีมากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป นอกจากโซนร้านกาแฟ Cafe Amazon และชานมไข่มุก Pearly Tea จะมีโซนเบเกอรี่ โซนบิวตี้ และโซน Price Point หรือสินค้าราคาเดียวเหมือนร้านไดโซะ โดยกำหนดราคาเดียว 50 บาทต่อชิ้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน เหมือนย่อคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดเล็กลงมาให้เหมาะกับชุมชน
 
ล่าสุด Joy Cafe Convenience เปิดแล้ว 4 สาขา ได้แก่ สาขาอาคารบางกอกบิสซิเนสเซ็นเตอร์ ย่านเอกมัย, สาขากิ่งแก้ว, สาขาแยกทศกัณฑ์ พุทธมณฑลสาย 2 และสาขาในโครงการสตาร์อะเวนิว วีว่า เทอเรส จ. เชียงใหม่ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง 
 
ตามแผน PTTRM จะนำร่องขยายสาขา 30 แห่งภายในปี 2558 เน้นทำเลย่านชุมชน อาคารสำนักงาน เขตเมือง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งแนวคิดของ PTTRM เอง ต้องการสร้างแบรนด์ใหม่กับคอนเซ็ปต์ใหม่ และหาก Joy Cafe Convenience ประสบความสำเร็จ บริษัทมีแผนขายแฟรนไชส์ เพราะเป้าหมายการขยายสาขาจะรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
ไม่ใช่เพียงแต่การบุกแนวรบใหม่ ในแง่การแข่งขันกับค่ายน้ำมันอื่นโดยเฉพาะบางจากและพีทีต่างพยายามสร้างความแปลกใหม่ในแง่ธุรกิจเสริม เพื่อดึงลูกค้าเข้าสถานีบริการน้ำมัน และสร้างรายได้กลุ่มธุรกิจนอนออยล์ โดยเฉพาะการแข่งขันสร้างจุดพักรถที่เรียกว่า Rest Area โดยค่ายบางจากวางแผนสร้างสถานีบริการขนาดใหญ่ (Flagship) 2 แห่ง รูปแบบทันสมัย มีร้านค้าปลีกและบริการหลากหลายประเภทมากขึ้น 
 
ส่วน “พีที” ได้ลงนามความร่วมมือกับกรมทางหลวง พัฒนาพื้นที่จุดพักรถที่ จ.ชัยนาท ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ และประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 163 ไร่  เพื่อเป็นจุดพักรถขนาดใหญ่และมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการใช้บริการน้ำมันพีทีและร้านค้าต่างๆ ซึ่งผู้ที่เดินทางขึ้น-ลงไปภาคใต้จะเป็นจุดพักรถที่สำคัญต่อไปในอนาคต
 
จักรกฤชกล่าวว่า บริษัทพยายามศึกษาโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า โดยปลายปีนี้จะเปิดโมเดลจุดพักรถ หรือ Jiffy Rest Area พื้นที่ประมาณ 8-10 ไร่ บนถนนหลักสายเหนือและอีสาน เช่น จ.อุดรธานี เพื่อสร้างเป็นจุดแวะพักของกลุ่มนักเดินทาง มีร้านค้าจำนวนมากและหลากหลายประเภท โดยมีร้านในเครือ ปตท. เป็นศูนย์กลาง ทั้งจิฟฟี่ คาเฟ่อเมซอน และเพิร์ลลี่ ที มีบริการห้องน้ำและจุดพักผ่อน แต่ไม่มีตัวสถานีบริการน้ำมัน โดยจะทดลองเปิด 1 แห่ง เพื่อดูผลตอบรับก่อนขยายไปยังเส้นทางหลักอื่น 
 
ทั้งนี้ โมเดล Rest Area จะสร้างรายได้ค่าเช่าพื้นที่และยังเป็นหน้าร้านโชว์ธุรกิจแบรนด์ต่างๆ ในเครือ ปตท. ซึ่งในอนาคตมีแผนเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก เนื่องจากกำลังเจรจากับพันธมิตรต่างๆ เพื่อนำแบรนด์สินค้าเข้ามาลงทุน ทั้งอาหาร เบเกอรี่ ซึ่งแบรนด์ใหม่ๆ จะเข้าไปเติมเต็มให้กับ Joy cafe convenience ให้หลากหลายด้วย เพราะร้าน Joy จะเป็นหนึ่งดัชนีชี้ทิศทางการรุกธุรกิจค้าปลีกของ ปตท. ระหว่างการลงทุนคอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ
 
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ยุทธศาสตร์ใหม่ Cafe Convenience บวกกับกระบวนทัพที่จัดเตรียมไว้ครบเครื่อง กำลังเปิดเกมการแข่งขันที่ยักษ์ค้าปลีกเจ้าตลาดอยู่นิ่งไม่ได้แน่