วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Life > ไม่เติมน้ำตาลในอาหาร ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรแทน

ไม่เติมน้ำตาลในอาหาร ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรแทน

Column: Well – Being

ต้องทำความเข้าใจกันใหม่อย่างหนึ่ง คือ น้ำตาลไม่ใช่หนทางเดียวในการช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร สมุนไพรและเครื่องเทศล้วนช่วยเสริมโลกของรสชาติและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศมีราคาถูกและง่ายต่อการใช้งาน

หนังสือ Prevention Guide ยืนยันว่า เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น คุณสามารถฝึกต่อมรับรสให้เลิกอยากอาหารที่เติมน้ำตาลปริมาณมากได้ “เมื่ออาหารเริ่มขาดรสชาติและน่าเบื่อ คุณมีแนวโน้มต้องมองหากระปุกน้ำตาล” เว็นดี้ บราซิเลียน นักกำหนดอาหารและกรรมการที่ปรึกษาของ Prevention อธิบาย

หนึ่งในวิธีง่ายๆ ในการหลีกเลี่ยงชะตากรรมดังกล่าว คือใช้สมุนไพรและเครื่องเทศแทนการใช้สารให้ความหวานหรือน้ำตาล เพื่อทำให้อาหารของคุณมีรสชาติดีขึ้น ต่อไปนี้เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศยอดนิยมที่นำมาใช้ปรุงอาหาร

อบเชย
ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเครื่องเทศยอดนิยมและปลอดภัยสูงสุดที่ใช้แทนน้ำตาล ผลการศึกษาระบุว่า อบเชยช่วยระงับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อคุณบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตปริมาณสูง

ข้อมูลนี้ถือเป็นข่าวดีเพราะเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จะไปเพิ่มระดับฮอร์โมนอินซูลินด้วย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิด

เมื่อนำไปปรุงอาหารและได้รับความร้อน อบเชยทั้งแท่งจะค่อย ๆ ปล่อยรสชาติและน้ำหอมในตัวออกมา ขณะที่อบเชยป่นทำให้อาหารมีกลิ่นหอมหวานขึ้นทันที

สะระแหน่
ถ้าคุณเคยชินกับนิสัยต้องบริโภคของหวานหลังอาหาร สะระแหน่เป็นตัวทดแทนของหวานชั้นเยี่ยม สมุนไพรตัวนี้ยังช่วยย่อยอาหารและลดความเสี่ยงจากภาวะท้องอืดหลังอาหารสะระแหน่มีมากกว่า 600 สายพันธุ์ แต่ที่นำมาใช้บ่อยครั้งที่สุดในการปรุงอาหารคือสเปียร์มินต์และเปปเปอร์มินต์ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้รู้สึกสดชื่นเพิ่มเติมจากอาหารจานเผ็ดและหวาน

กระวาน
เป็นสมุนไพรตระกูลขิงที่ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ และถูกเชื่อมโยงเข้ากับคุณสมบัติการลดความดันโลหิตอย่างมีนัยสำคัญ กระวานเขียวนิยมนำมาปรุงอาหารมากที่สุด ฝักและเมล็ดกระวานใช้บริโภคได้ สามารถใช้ได้ทั้งในรูปที่เป็นฝักและชนิดป่น

ยี่หร่า
เครื่องเทศที่ให้รสชาติหอม เผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอมของพืชตระกูลส้มนี้ สามารถกระตุ้นเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการย่อยอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนนำไปใช้ให้นำไปคั่วในกระทะด้วยไฟอ่อน จากนั้นใช้ครกตำ ซึ่งจะทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยออกมา

เสจ
สมุนไพรกลิ่นแรงตัวนี้ช่วยเพิ่มความหอมแก่อาหารจนทำให้คุณลืมเติมน้ำตาลไปเลย ทั้งยังช่วยเสริมสุขภาพสมอง ลดไขมันเลว (แอลดีแอล) และเพิ่มไขมันดี (เอชดีแอล) เพราะเสจกับโรสแมรี่มีความคล้ายคลึงในทางพฤกษศาสตร์ จึงนิยมใช้สมุนไพรทั้งสองตัวนี้คู่กันในสูตรอาหาร

ขิง
ใช้ได้ทั้งในรูปของแง่งขิงซึ่งเป็นส่วนของราก และที่ป่นเป็นผง เครื่องเทศชนิดนี้ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องและคลื่นไส้ แต่ขิงผงมีรสอ่อนกว่าขิงแง่ง ขิงทั้งสองรูปแบบช่วยเพิ่มความร้อนและรสชาติหวานให้กับสูตรอาหารหลากหลาย

ปาปริก้า
อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินเอ ปาปริก้ายังมีคุณสมบัติช่วยปกป้องสายตาในแง่การมองเห็น และช่วยต้านอนุมูลอิสระทั่วทั้งร่างกาย แม้จะเป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโกตอนใต้ อเมริกากลาง และหมู่เกาะแคริบเบียน แต่ปาปริก้าอยู่คู่ครัวอาหารฮังการีและฝรั่งเศสมานาน ปาปริก้ามีรสชาติที่ครอบคลุมตั้งแต่หวานไปจนถึงรมควันและเผ็ดร้อน ขึ้นกับพริกที่นำมาเป็นวัตถุดิบ

ทาร์รากอน
สมุนไพรรสขมอมหวานนี้มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย โดยน้ำมันหอมระเหยของทาร์รากอนช่วยต่อสู้กับเชื้ออี.โคไล และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อสแตฟิโลคอคคัส ทาร์รากอนมี 3 ชนิดหลักคือฝรั่งเศส เม็กซิโก และรัสเซีย แต่ที่นิยมนำมาปรุงอาหารมากที่สุดคือฝรั่งเศส ซึ่งมีใบเรียบและกลิ่นฉุน

โรสแมรี่
โรสแมรี่มีศักยภาพช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด กลิ่นหอมของมันช่วยลดความเครียด ทำให้มีสมาธิและอารมณ์ดีขึ้น เมื่อนำมาปรุงอาหารเป็นเวลานาน รสชาติของโรสแมรี่จะไม่อ่อนหรือเจือจางลง จึงนิยมนำมาใช้ควบคู่กับเสจ ไธม์ และพาสลีย์ เพื่อเสริมให้น้ำสต๊อกและสตูมีรสชาติดีขึ้น

ไธม์
เป็นแหล่งวิตามินซี เหล็ก และแมงกานีส ไธม์มีคุณสมบัติต้านเชื้อโรคและต้านอนุมูลอิสระ สมุนไพรชนิดนี้มีลักษณะเขียวชอุ่ม และบางสายพันธุ์ เช่น เลมอนไธม์ คาราเวย์ไธม์ และออริกาโนไธม์ มีกลิ่นหอมที่ช่วยทำให้อาหารรสชาติดีขึ้น

ผักชี
ผลการวิจัยระบุว่า ผักชีมีสารช่วยต้านภาวะอักเสบและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนเมล็ดผักชีมีรสชาติกลมกล่อม หอมอ่อนๆ เหมือนกลิ่นดอกไม้ เมื่อนำมาป่นจะให้รสชาติหวานมันเหมือนถั่ว

พาสลีย์
เป็นสมุนไพรที่อุดมด้วยวิตามินเค ซึ่งจำเป็นต่อการแข็งตัวของเลือด และวิตามินซีซึ่งช่วยคงสภาพและซ่อมแซมกระดูกอ่อน กระดูก และเนื้อเยื่อ พาสลีย์สองสายพันธุ์คือ สายพันธุ์ใบแบนและใบหยิก มีรสชาติเผ็ดร้อนและกลิ่นหอม นำมาปรุงอาหารได้ทั้งสองสายพันธุ์ แต่พันธุ์ใบหยิกมีรสชาติอ่อนกว่า

ใส่ความเห็น