วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > “เฮลธ์แคร์” แข่งเดือด ยักษ์อสังหาฯ บุกชิงเม็ดเงิน

“เฮลธ์แคร์” แข่งเดือด ยักษ์อสังหาฯ บุกชิงเม็ดเงิน

 
 
“ธุรกิจสุขภาพ” กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่ดีที่สุดและมีโอกาสเติบโตที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตสดใสทันที เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ ระยะ 10 ปี จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก  4  ด้าน 
 
ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
 
เม็ดเงินสะพัด 1 แสนล้านบาท เฉพาะตลาดต่างประเทศที่เข้ามาจับจ่ายในประเทศไทยมากกว่า 1.2 ล้านคนเมื่อปี 2559 กำลังจะดับเบิ้ลขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยสถิติจากกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพพบว่า บริการทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมจากลุ่มเมดิคอลทัวริซึ่ม 5 อันดับแรก คือ บริการตรวจสุขภาพ บริการศัลยกรรมความงาม บริการทันตกรรม บริการศัลยกรรมกระดูก และบริการแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดหัวใจ
 
แน่นอนว่า ยักษ์ใหญ่ธุรกิจโรงพยาบาล บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม BDMS เริ่มออกตัวแรงตั้งแต่ปี 2559 และประกาศทิศทางการขยายธุรกิจสุขภาพที่ไม่ใช่ธุรกิจโรงพยาบาลแบบเดิมๆ ไม่ใช่การรักษาอาการเจ็บป่วย แต่จะเป็นธุรกิจด้านดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของธุรกิจเฮลธ์แคร์ทุกด้าน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์เป็นจุดขายและจุดต่างจากธุรกิจสุขภาพค่ายอื่นๆ ที่ยังไม่มีบริการทางการแพทย์โดยตรง 
 
ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจทุ่มเม็ดเงินกว่า 10,800 ล้านบาท ซื้อที่ดินบริเวณโครงการปาร์คนายเลิศ เนื้อที่ 15 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร BDMS Wellness Clinic และเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาล สร้างอาณาจักรธุรกิจเวลล์เนสเซ็นเตอร์ ติดอันดับทอปเท็นในอาเซียน หรือการเร่งเจรจาซื้อโรงแรมและที่ดินเปล่า เพื่อขยายอาณาจักรเวลล์เนสทั่วทุกภูมิภาครองรับแผนการใหญ่ ทั้งที่เชียงใหม่ นครราชสีมา และภูเก็ต
 
อีกด้านหนึ่ง นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BDMS เริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันในสงครามธุรกิจเฮลธ์แคร์ที่ไม่ได้มีโรงพยาบาลเป็นคู่แข่ง แต่กลับกลายเป็นบรรดายักษ์อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแห่เข้ามารุกแนวรบแสนล้านนี้ด้วย
 
วิษณุ เทพเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ซึ่งถือเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกๆ ที่จับจุดขายเรื่องธุรกิจสุขภาพนานหลายปี กล่าวว่า กระแสโครงการอสังหาฯ ที่มีเรื่องสุขภาพมาเกี่ยวข้องมาแรง 2-3 ปีแล้ว โดยผลสำรวจและวิจัยของ Global Wellness Institute ในประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ว่ารีสอร์ตเพื่อสุขภาพ (Wellness resort) จะโตขึ้นถึง 50% ของตลาดโลกภายในปี 2560 ตรงนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และมีช่องว่างในตลาด โดยเฉพาะรัฐบาลไทยเพิ่งประกาศนโยบายยืดอายุวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการมาพักระยะยาวในไทย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และยุโรป 
 
สำหรับกลุ่มลูกค้าอาเซียนเริ่มมีเทรนด์การหาบ้านหลังที่สองในไทย เช่น กัมพูชา เมียนมาร์ เพื่อรองรับช่วงเวลาเดินทางมาตรวจและดูแลสุขภาพในประเทศไทย
 
ขณะเดียวกันการหันมาทำโครงการอสังหาฯ เกาะกระแสสุขภาพ เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนยังลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ซึ่งทำให้ลูกค้าถูกแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ เพราะกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์พ่วงสุขภาพส่วนใหญ่พร้อมจ่ายเงินดูแลตัวเอง ไม่ค่อยมีปัญหาการขอสินเชื่ออย่างโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป
 
ทั้งนี้ กลุ่มณุศาศิริมีบริษัท พานาซี เมดิคอล เซ็นเตอร์ ผู้ให้บริการทางการแพทย์แบบองค์รวมจากเยอรมนีเป็นพันธมิตรหลัก และมีทั้งโครงการบ้านพักอาศัย คอนโดมิเนียม โรงแรม รีสอร์ตศูนย์สุขภาพแบบองค์รวม สวนสนุก เช่น โครงการ ณุศา มายโอโซน เขาใหญ่ ประกอบด้วยบ้านพักอาศัย ที่ดินเปล่า โรงแรม และศูนย์สุขภาพครบวงจร เนื้อที่ 1,300 ไร่ ใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท โครงการโรงแรมสุขภาพณุศาลายา ที่ภูเก็ตและโครงการโรงแรมสุขภาพใน จ.เชียงใหม่
         
ส่วนกลุ่มบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการตึกระฟ้า “มหานคร” เพิ่งจับมือกับ บริษัท เวอริตา เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ก่อตั้งบริษัท เวอริตา มหานคร ประเทศไทย ใช้เงินลงทุน 150 ล้านบาท เปิดตัวศูนย์สุขภาพ “เวอริตา เฮลท์ มหานคร” ที่อาคารมหานคร คิวบ์ โดยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย และวางแผนใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท กับขยายโครงการอีกแห่งที่หัวหิน ตามยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางเมดิคอลฮับของรัฐบาล 
 
ขณะเดียวกัน บริษัทอสังหาฯ อีกหลายแห่งเลือกที่จะลุยธุรกิจโรงพยาบาลนำร่องก่อนเข้าสู่ธุรกิจเฮลธ์แคร์หรือเมดิคอลฮับครบวงจร 
 
ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนรวม 17,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบซื้อที่ดิน 16,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการปี 2561 ส่วนเงินลงทุนอีก 1,000-2,000 ล้านบาท จะใช้ลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยกำลังศึกษาธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติในเดือน ก.พ.นี้  
 
มีรายงานว่า ทองมาสนใจที่จะลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนระดับกลาง เนื่องจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน จับกลุ่มลูกค้าระดับสูง ค่ารักษาและค่าบริการค่อนข้างแพง หรือกรณีโรงพยาบาลรัฐจะมีจำนวนลูกค้าหนาแน่น ไม่สะดวกในการใช้บริการ ไม่ค่อยมีโรงพยาบาลสำหรับคนชั้นกลาง ซึ่งกลายเป็นช่องว่างหนึ่งทางการตลาด 
 
ด้านบริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) เตรียมแผนร่วมลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งจะมีความชัดเจนในปี 2560 โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรจากฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น 
 
สมนึก ตันฑเทอดธรรม รองกรรมการผู้จัดการ เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง กล่าวว่า หากแผนร่วมทุนสำเร็จ นอกจากการสร้างธุรกิจใหม่แล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลจะช่วยสร้างตลาดลูกค้าชาวต่างชาติและต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นๆ นอกจากบ้านและคอนโดมิเนียม นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาการเข้าร่วมทุนกับ บมจ.โรงพยาบาลลาดพร้าว เพื่อผุดโรงพยาบาลลาดพร้าว 2 ย่านลำลูกกา
 
แม้การรุกหนักของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นการขยายสมรภูมิครั้งใหญ่และเพิ่มเม็ดเงินในตลาดมากขึ้น แต่บิ๊กเนมอย่าง “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” คงไม่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาบุกชิงส่วนแบ่งง่ายๆ แน่