Home > อัตราดอกเบี้ย LTV

อสังหาฯ ไทยระส่ำ กับวิกฤตใหม่ที่ต้องเผชิญ

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้มาตรการ LTV ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน นับเป็นกระบวนการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบ เพราะปัญหาของอสังหาริมทรัพย์เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ทิศทางการขยายตัวของธุรกิจอสังหาฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเห็นได้จากซัปพลายที่เข้ามาในตลาดจำนวนมากเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้บริโภคหรือขีดความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อที่ลดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว และยังต้องอาศัยอานิสงส์จากความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในสภาวะถดถอยไม่ต่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขของตลาดอสังหาฯ จะตกวูบ บางค่ายมีจำนวนยูนิตเหลือขายสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหตุมาจากการที่ผู้ซื้อไม่ได้รับอนุมัติการปล่อยสินเชื่อ ในมุมของผู้ประกอบการอาจจะมองว่า ผลพวงจากการหดตัวของตลาดอสังหาฯ และจำนวนหน่วยที่เหลือขายนั้นเกิดจากการบังคับใช้มาตรการ LTV ที่แบงก์ชาติมองเห็นและคาดสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตถึงจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทว่าในอีกมิติที่ผู้ประกอบการต้องนำมาพิจารณาคือ การขยายตัวของจำนวนอสังหาริมทรัพย์ในตลาดที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีมากจนเกินความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค เพราะต้องยอมรับว่าผู้บริโภคบางส่วนซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเก็งกำไร แม้จะมีบางส่วนที่ซื้อเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรกก็ตาม ห้วงยามนี้ที่ฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจทุกตัวชะลอการทำงาน การท่องเที่ยวกำลังประสบปัญหาหนัก เมื่อนักท่องเที่ยวจีนที่เคยสร้างรายได้ให้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดจำนวนลง อีกทั้งไทยไม่อาจต้านกระแสธารจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ รวมไปถึงการถดถอยของเศรษฐกิจโลก แน่นอนว่ามีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่กราฟสูงขึ้นทุกปี กระทั่งแบงก์ชาติเตรียมใช้มาตรการใหม่เพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินอีกครั้ง มาตรการใหม่ที่ว่านี้จะเป็นการคำนวณภาระการผ่อนชำระหนี้โดยเทียบกับรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) เพื่อป้องกันและลดตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้มีรายได้ไม่แน่นอน กลุ่มคนเริ่มต้นทำงาน กลุ่มคนใกล้เกษียณ และกลุ่มเด็กจบใหม่ โดยหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยนับตั้งแต่ปี 2551 คือ 52.4 เปอร์เซ็นต์

Read More

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ สัญญาณเตือนภัยต้นปีหมู??

ความกังวลใจว่าด้วยการสะสมสินค้าล้นเกินในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ที่อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปีที่กำลังจะมาถึง ดูจะเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงว่าด้วยปัจจัยกดดันจากนโยบายภาครัฐที่กำลังจะมีผลบังคับในไม่ช้า ปัจจัยเสี่ยงหรือ negative impact ที่กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2562 และต่อจากนี้ นอกจากจะอยู่ที่แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระการผ่อนชำระของผู้บริโภคแล้ว ยังประกอบส่วนด้วยมาตรการ LTV-loan to value ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการลดเพดานปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีผลให้การซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมหลังที่ 2 เป็นต้นไป ต้องจ่ายเพิ่มเงินดาวน์ ประเด็นดังกล่าวนับเป็นการชะลออำนาจการซื้อของผู้บริโภคไปโดยปริยาย เพราะจากเดิมการซื้อบ้านอาจดาวน์ประมาณ 5% กลับต้องเพิ่มเป็น 10-20-30% การซื้อคอนโดมิเนียม เดิม 10% เพิ่มเป็น 20-30% หรือหากกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการซื้อบ้านหลังที่ 2 เงินดาวน์สูงสุด 20% ถ้าซื้อหลังที่ 3 ขึ้นไป บังคับเงินดาวน์ถึง 30% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในการระบายสินค้าด้วย แม้ว่ามาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในด้านหนึ่งจะเป็นความพยายามในการลดภาวะร้อนแรงในตลาดคอนโดมิเนียมที่มีทั้งการซื้อเพื่ออยู่อาศัย การลงทุนและการเก็งกำไรจำนวนมาก ที่ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมมีความร้อนแรงเกินจริง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้ตลาดคอนโดมิเนียมปรับตัวตามสภาพ และได้รับการประเมินว่าเป็นมาตรการที่พยายามทำให้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความแข็งแรงมากขึ้น หากแต่ในอีกด้านหนึ่งมาตรการที่มุ่งหมายสกัดการเก็งกำไรในตลาดคอนโดมิเนียมดังกล่าว กลับส่งผลกระทบต่อตลาดบ้านแนวราบทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ไปด้วย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระเงินดาวน์สูงขึ้นอย่างมาก และทำให้เกิดการชะลอตัวในตลาดบ้านเดี่ยวไปโดยปริยาย ขณะเดียวกันปัจจัยด้านการเมืองดูจะเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

Read More