Home > หนี้ครัวเรือน (Page 2)

หนี้ครัวเรือนพุ่ง วิกฤตที่ไทยต้องเผชิญ

ภัยพิบัติที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เหมือนซ้ำเติมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หาหนทางตะเกียกตะกายขึ้นมายืนอยู่ขอบเหวแทบไม่เจอ ให้ตกต่ำและทับถมจมลงไปก้นเหวลึกกว่าเดิม เมื่อเวลานี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นประวัติการณ์ แม้คำว่า “หนี้” จะหมายถึงการมีภาระผูกพันที่ต้องชดใช้คืน ทว่า นัยความหมายของหนี้ครัวเรือนในอีกมิติ คือภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางใด ทั้งนี้ดูได้จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สอดคล้องกับระดับรายได้ของประชาชน หากหลังจากชำระหนี้สินแล้วยังมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย นั่นหมายถึงเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี แต่หากภาระหนี้ครัวเรือนมากกว่ารายได้ครัวเรือนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในครัวเรือนใดครัวเรือนหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นเป็นการบ่งชี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคของประเทศนั้นๆ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะชะลอตัวในทุกมิติ โดยมีปัจจัยที่สร้างผลกระทบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกคืออิทธิพลจากกระแสของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กำลังโรมรันห้ำหั่นกันอย่างต่อเนื่อง สงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยในแง่ของความต้องการสินค้าและภาคการผลิต ไม่ต่างจากระลอกคลื่นที่ถาโถมเข้าฝั่งที่ไร้ปราการป้องกัน นั่นย่อมเกิดความสูญเสียได้ง่าย รวมไปถึงความเป็นไปได้ของการหาทางออกอื่น ในที่นี้หมายถึงตลาดใหม่ แม้ว่าจะยังไม่สายที่จะมองหาตลาดใหม่สำหรับภาคการส่งออก แต่ต้องยอมรับว่าหลายประเทศได้รับผลกระทบไม่ต่างจากที่ไทยกำลังเผชิญมากนัก นั่นทำให้การรุกตลาดใหม่ของภาคส่งออกทำได้ยากมากขึ้น เมื่อภาคการส่งออกเดินทางมาถึงขั้นวิกฤต ย่อมส่งผลต่อภาคการผลิตในประเทศ เมื่อสินค้าที่ปกติสามารถระบายออกไปได้อย่างต่อเนื่อง กลับกระจุกและช่องทางการกระจายสินค้าไปยังแหล่งอื่นเป็นไปได้ยาก นั่นทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง กำไรลดลง ขณะที่ยังต้องแบกภาระต้นทุนอยู่ตลอดเวลา สถานการณ์เช่นนี้ย่อมสร้างให้เกิดความไม่มั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและเศรษฐกิจโลก ทางออกอาจเป็นไปได้ทั้งชะลอการลงทุนใหม่ในรายของผู้ประกอบการที่กำลังมีแผนในการขยายงานหรือขยายตลาด ขณะที่ทางออกของผู้ประกอบการบางรายอาจจบลงที่หยุดประกอบกิจการและจบลงด้วยการเลิกจ้าง แม้ว่าในปัจจุบันจะมีข่าวการประกาศเลิกจ้างให้ได้ยิน ได้อ่านอยู่บ้างประปราย ทว่าไม่ได้เกิดจากสถานการณ์จากเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยในปัจจุบันขณะ ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสธารที่เปลี่ยนแปลงไปของการบริโภคในปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่แบรนด์ต่างๆ จะรักษาความจงรักภักดีในตัวแบรนด์หรือ Brand Loyalty ของผู้บริโภคเอาไว้ได้ตลอดไป แน่นอนว่า เมื่อเกิดการเลิกจ้าง หรือภาวะการว่างงานมีสูงขึ้น ส่งผลถึงความไม่มั่นคงทางรายได้และหนี้ครัวเรือนที่จะต้องเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยผลการสำรวจภาวะการว่างงานเดือนกรกฎาคม 2562 ว่า มีผู้ว่างงาน 4.36 แสนคน

Read More

อสังหาฯ ไทยระส่ำ กับวิกฤตใหม่ที่ต้องเผชิญ

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้มาตรการ LTV ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน นับเป็นกระบวนการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบ เพราะปัญหาของอสังหาริมทรัพย์เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ทิศทางการขยายตัวของธุรกิจอสังหาฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเห็นได้จากซัปพลายที่เข้ามาในตลาดจำนวนมากเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้บริโภคหรือขีดความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อที่ลดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว และยังต้องอาศัยอานิสงส์จากความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในสภาวะถดถอยไม่ต่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขของตลาดอสังหาฯ จะตกวูบ บางค่ายมีจำนวนยูนิตเหลือขายสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหตุมาจากการที่ผู้ซื้อไม่ได้รับอนุมัติการปล่อยสินเชื่อ ในมุมของผู้ประกอบการอาจจะมองว่า ผลพวงจากการหดตัวของตลาดอสังหาฯ และจำนวนหน่วยที่เหลือขายนั้นเกิดจากการบังคับใช้มาตรการ LTV ที่แบงก์ชาติมองเห็นและคาดสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตถึงจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทว่าในอีกมิติที่ผู้ประกอบการต้องนำมาพิจารณาคือ การขยายตัวของจำนวนอสังหาริมทรัพย์ในตลาดที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีมากจนเกินความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค เพราะต้องยอมรับว่าผู้บริโภคบางส่วนซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเก็งกำไร แม้จะมีบางส่วนที่ซื้อเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรกก็ตาม ห้วงยามนี้ที่ฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจทุกตัวชะลอการทำงาน การท่องเที่ยวกำลังประสบปัญหาหนัก เมื่อนักท่องเที่ยวจีนที่เคยสร้างรายได้ให้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดจำนวนลง อีกทั้งไทยไม่อาจต้านกระแสธารจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ รวมไปถึงการถดถอยของเศรษฐกิจโลก แน่นอนว่ามีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่กราฟสูงขึ้นทุกปี กระทั่งแบงก์ชาติเตรียมใช้มาตรการใหม่เพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินอีกครั้ง มาตรการใหม่ที่ว่านี้จะเป็นการคำนวณภาระการผ่อนชำระหนี้โดยเทียบกับรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) เพื่อป้องกันและลดตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มผู้มีรายได้ไม่แน่นอน กลุ่มคนเริ่มต้นทำงาน กลุ่มคนใกล้เกษียณ และกลุ่มเด็กจบใหม่ โดยหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยนับตั้งแต่ปี 2551 คือ 52.4 เปอร์เซ็นต์

Read More

ภาระหนี้ครัวเรือน ภัยร้ายเศรษฐกิจไทย

ความเป็นไปว่าด้วยภาระหนี้ครัวเรือนของไทยที่กำลังไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) กำลังสะท้อนความเปราะบางทางเศรษฐกิจโดยรวมของชาติอย่างยากจะปฏิเสธ และเป็นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความกังวลต่อสัญญาณลบที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ข้อมูลตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปรับตัวขึ้นจากร้อยละ 77.7 ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2561 มาสู่ที่ระดับร้อยละ 77.8 เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 โดยอัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 78.6 เมื่อสิ้นปี 2561 และมียอดคงค้าง 12.8 ล้านล้านบาท ขณะที่สถานการณ์ในปี 2562 คาดว่าหนี้ครัวเรือนมีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้นไปสู่ระดับร้อยละ 79.5 อีกด้วย ภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากภาระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิตและการขยายธุรกิจ ซึ่งในระยะนับจากนี้หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เมื่อพิจารณาจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากกรณีที่ภาครัฐส่งเสริมให้การกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกรณีที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและต้องมีการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ที่สร้างมูลค่า มีสินทรัพย์ หรือใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น เพราะอาจมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ ประเด็นที่น่าสนใจของการเปลี่ยนหนี้จากนอกระบบเข้ามาในระบบอยู่ที่แม้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นผลมาจากการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อรับบริการทางการเงินและสินเชื่อซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากสามารถลดภาระดอกเบี้ยจากสินเชื่อนอกระบบที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าในระบบมาก โดยในปัจจุบันสินเชื่อในระบบคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับร้อยละ 28 ต่อปีสำหรับการบริการสินเชื่อบุคคล และร้อยละ 36 ต่อปีสำหรับนาโนไฟแนนซ์ ขณะเดียวกันการเข้าถึงสินเชื่อในระบบที่สามารถทำได้สะดวกขึ้น จากการใช้ข้อมูลต่างๆ เข้ามาร่วมในการวิเคราะห์ให้สินเชื่อ นอกเหนือจากการใช้เพียงรายการเดินบัญชีของธนาคารเท่านั้น ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ขับจักรยานยนต์รับจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ได้กลายเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการก่อหนี้ที่สูงขึ้น เพราะต้นทุนการกู้ต่ำ ขณะที่การออมก็ได้รับผลตอบแทนต่ำจึงไม่จูงใจให้เกิดการออม

Read More