วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > ค่ายรถมะกันเหยียบคันเร่ง รุกขยายตลาดในเมียนมาร์

ค่ายรถมะกันเหยียบคันเร่ง รุกขยายตลาดในเมียนมาร์

 

ตลาดรถยนต์ในเมียนมาร์กำลังกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการค่ายรถยนต์จากซีกโลกตะวันตกต่างโหมสรรพกำลังเข้ารุกทำตลาดหลังจากรัฐบาลตะวันตกคลายมาตรการคว่ำบาตรและกดดันเมียนมาร์มายาวนาน

การขยับตัวของค่ายรถยนต์จากอเมริกาดูจะเป็นไปอย่างคึกคักและต่อเนื่องมากเป็นพิเศษ เมื่อฟอร์ดร่วมกับ “แคปิตัล ออโตโมทีฟ” บริษัทในเครือแคปิตัล ไดมอนด์ สตาร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจระดับแถวหน้าของพม่า เปิดตัวโชว์รูมผู้แทนจำหน่าย ฟอร์ด อย่างเป็นทางการในย่างกุ้ง เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

กลยุทธ์การตลาดของฟอร์ดในเมียนมาร์ นอกจากจะอยู่ที่การสร้างความหลากหลายและการจับกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงแล้ว เป้าหมายของฟอร์ดยังอยู่ที่การเบียดชิงพื้นที่การตลาดในกลุ่มรถกระบะที่คาดการณ์ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง ควบคู่กับความจำเริญทางเศรษฐกิจภายหลังการเปิดประเทศ

“รถยนต์ฟอร์ดที่จะจำหน่ายในเมียนมาร์จะนำเข้าจากทั้งโรงงานในอเมริกาเหนือ และประเทศไทย โดยรถกระบะรุ่น เอฟ-ซีรี่ส์ และฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ จะเป็นหนึ่งในรถรุ่นแรกๆ ที่ฟอร์ดจะเปิดตัวในเมียนมาร์” เดวิด เวสเตอร์แมน ผู้จัดการระดับภูมิภาค ตลาดเอ็กซ์ปอร์ต แอนด์ โกร๊ธ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ระบุ

แม้ว่าฟอร์ดจะเพิ่งเริ่มเข้าไปทำตลาดในย่างกุ้ง แต่แผนของฟอร์ดย่อมไม่ได้จำกัดอยู่เท่านั้น หากแต่เตรียมพร้อมที่จะขยายไปสู่หัวเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ของเมียนมาร์ด้วยการขยายเครือข่ายของผู้แทนจำหน่ายในอนาคต

เป้าหมายของฟอร์ดย่อมไม่ใช่สิ่งเกินความคาดหวัง โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า พันธมิตรของฟอร์ดในเมียนมาร์ ที่ชื่อ แคปิตัล ออโตโมทีฟ เป็นบริษัทในเครือแคปิตัล ไดมอนด์ สตาร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญและประสบผลสำเร็จในฐานะผู้กระจายสินค้าจากโลกตะวันตกอย่าง “เป๊ปซี่ โค” เข้าสู่ตลาดเมียนมาร์มาก่อนแล้ว

ฟอร์ดฝากความหวังไว้ที่เอเชียมากขึ้น หลังจากตลาดเดิมอย่างยุโรป มียอดขายลดลงในช่วงวิกฤตหนี้ยูโรโซน ขณะที่ในออสเตรเลีย ฟอร์ดก็ประกาศปิดกิจการ และปลดพนักงานกว่า 1,200 อัตราภายใน 3 ปี ซึ่ง แมตต์ แบรดลีย์ ประธานฟอร์ดประจำภูมิภาคอาเซียน ระบุว่า การเข้าไปในพม่าเป็นก้าวล่าสุดของฟอร์ดในการขยายตัวเชิงรุกสู่เอเชียแปซิฟิก

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา GM ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถยนต์อเมริกันอีกค่าย และเป็นคู่แข่งสำคัญของฟอร์ด ก็เร่งสปีดความเร็วรุกเข้าไปสร้างพันธมิตรและประกาศแผนการรุกเข้าทำตลาดในเมียนมาร์เช่นกัน

โดยเจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์ เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือกับบริษัท แปซิฟิก อัลไพน์ (Pacific Alpine Pte. Ltd) สำหรับการจัดจำหน่าย การขาย และการบริการรถยนต์ เชฟโรเลต ในประเทศเมียนมาร์ โดยศูนย์ผู้แทนจำหน่ายเชฟโรเลตแห่งแรกในพม่า จะเปิดทำการในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2556

มาร์ติน แอพเฟล ประธานกรรมการ ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า นี่เป็นก้าวย่างที่สำคัญของเชฟโรเลต ในการขยายการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ GM สู่การเติบโตในภูมิภาคนี้

“เมียนมาร์มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน ตลาดและเศรษฐกิจเริ่มเปิดกว้าง ขณะที่ชาวพม่าก็มีความมั่งคั่งมากขึ้น ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงมาก ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบสำหรับเชฟโรเลตในการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งบนรากฐานของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่จะเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ในทุกตลาด”

แปซิฟิก อัลไพน์ และแปซิฟิก-เอเอ มอเตอร์ (Pacific-AA Motor Ltd) ถือเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของเชฟโรเลต ซึ่งก่อตั้งโดยอัลไพน์ กรุ๊ป ของสิงคโปร์ (Alpine Group) และเอเอ เมดิคัล ของพม่า (AA Medical) ปัจจุบัน อัลไพน์ มอเตอร์ส (ส่วนหนึ่งของอัลไพน์ กรุ๊ป) เป็นผู้แทนจำหน่ายของเชฟโรเลต และโอเปิล แต่เพียงผู้เดียวในสิงคโปร์

ขณะที่เอเอ เมดิคัลเป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมและสารหล่อลื่นปิโตรเคมีในพม่า แปซิฟิก อัลไพน์ และแปซิฟิก-เอเอ มอเตอร์ ในฐานะผู้จัดจำหน่ายรถเชฟโรเลตอย่างเป็นทางการ จะบริหารจัดการทั้งในด้านการขาย การตลาด ฝึกอบรม บริการหลังการขาย และการดูแลลูกค้า รวมถึงการขยายเครือข่ายในพม่า

ซอว์ โม ไคน์ ประธานใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแปซิฟิก อัลไพน์ ระบุว่า การผสมผสานความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับแบรนด์เชฟโรเลต ของอัลไพน์ กรุ๊ป เข้ากับประสบการณ์และเครือข่ายในด้านค้าปลีก ของเอเอ เมดิคัล จุดเด่นเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถเปิดตลาดได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

การรุกคืบของผู้ประกอบการด้านยานยนต์สัญชาติแมริกัน 2 แห่งนี้ ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองมากที่สุดในพม่า เพราะกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ที่ใช้ในเมียนมาร์ในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยมากกว่าห้าปี

เพราะในช่วงที่เมียนมาร์ปกครองโดยรัฐบาลทหารมีการจำกัดการนำเข้ารถยนต์ อีกทั้งรถยนต์ยังมีราคาแพงมาก แต่หลังจากที่  เต็ง เส่ง ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย ที่อนุญาตให้นำเข้ารถเยนต์มาจำหน่ายในเมียนมาร์ ทำให้มีรถยนต์ใหม่ๆ ทยอยเข้าไปในเมียนมาร์หลายพันคัน ขณะที่กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ยังเพิ่มแรงจูงใจให้บริษัทรถยนต์เข้าไปในเมียนมาร์มากขึ้นและเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตรถทั้งในระดับโลกและภูมิภาคขานรับอย่างรวดเร็ว

การเปิดตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในเมียนมาร์ของทั้งฟอร์ด และเชฟโรเลต เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ที่ช่วยผนวกให้เมียนมาร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตรถยนต์จากตะวันตกเข้าสู่ตลาดเมียนมาร์ช้ากว่าคู่แข่งในเอเชีย จากผลของมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวด ซึ่งเพิ่งถูกระงับและยกเลิกไปโดยสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นทั้งโตโยต้า มอเตอร์ และฮอนด้า มอเตอร์ ต่างมีตัวแทนจำหน่ายในเมียนมาร์ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนซูซูกิ มอเตอร์ จะเริ่มต้นผลิตรถบรรทุกในเมียนมาร์อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม หลังจากหยุดไปสามปี