วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > “ทีซีซี” ปูพรม “เอเชียทีค” เปิด “ลิงค์เกจ” ยึดอาเซียน

“ทีซีซี” ปูพรม “เอเชียทีค” เปิด “ลิงค์เกจ” ยึดอาเซียน

 
“ทีซีซีแลนด์” ใช้เวลาปีกว่าๆ ปลุกปั้น “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์” โครงการไลฟ์สไตล์ริมน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียและกำลังเร่งเดินสายโรดโชว์ไปทั่วโลก เพื่อสร้างแบรนด์ “เอเชียทีค” ในฐานะศูนย์การค้ารูปแบบ “ไลฟ์มิวเซียม” ที่มีจุดขายและจุดต่างจากชอปปิ้งมอลล์ค่ายอื่นๆ  
 
เป้าหมายไม่ใช่แค่การเปิด “ลิงค์เกจ” เชื่อมโครงข่ายธุรกิจริมน้ำเจ้าพระยาตามมาสเตอร์แพลน แต่เจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศวิสัยทัศน์ชัดเจน ต้องการเป็นผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าและตลาดเฉพาะทางในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภายใน 10 ปี มีสาขากระจายอยู่ในทุกประเทศของภูมิภาค
 
การเปิดตัว “เอเชียทีค” สาขาแรกบนที่ดินมากกว่า 70 ไร่ มีหน้ากว้างติดริมแม่น้ำเจ้าพระยายาวกว่า 300 เมตร และพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร จึงพุ่งเป้าสร้างศักยภาพรองรับกลุ่มเป้าหมายระดับนานาชาติ ไม่ใช่คอมมูนิตี้มอลล์จับกลุ่มชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น และวางแผนต่อยอด “บิ๊กโปรเจ็กต์” ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ ทั้งในกลุ่มโรงแรม คอนโดมิเนียม ค้าปลีก และธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์
 
ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ บริษัท ริเวอร์ไซด์ มาสเตอร์แพลน ในเครือทีซีซีแลนด์ เปิดเผย ผู้จัดการ360  ํ ว่า ทีซีซีแลนด์ทั้งในระดับผู้บริหารและทีมการตลาดมีแผนโรดโชว์ทั่วโลก ทั้งการพบปะกับนักลงทุนในอาเซียนและนอกอาเซียนอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ “เอเชียทีค” ในตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ดูไบ สิงคโปร์ มาเลเซีย เพื่อนำเสนอเอเชียทีคในฐานะแหล่งท่องเที่ยว “ไนท์มาร์เก็ต” แนวใหม่ 
 
“การโรดโชว์ได้ผลตอบรับดีมาก โดยเฉพาะจุดขายเรื่องต้นแบบ “โอเพ่นมอลล์” ที่มีความเป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น การออกแบบและการทำตลาดที่ต่างจากคู่แข่ง ซึ่งตามแผน 10 ปี นับจากปี 2557 เป้าหมายสูงสุด ต้องขยายเอเชียทีคไปอาเซียนครบทุกประเทศ แต่เป้าหมายแรกตามแผน 3-5 ปี จะขยายสาขาในประเทศไทยอย่างน้อย 3-5 แห่ง สร้างฐานการเป็นผู้นำตลาดเออีซี”
 
ปัจจุบันเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบสาขาแรกแบ่งพื้นที่ในส่วนร้านค้า จำนวนประมาณ  1,500 ร้านค้า โดยร้านค้าประเภทหลักๆ ได้แก่ ร้านขายสินค้านักท่องเที่ยว ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายสินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ ร้านขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน มีสถานที่แสดงโชว์ เช่น หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ คาลิปโซ่ คาบาเรต์ และล่าสุดบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ร่วมทุนกับบริษัท ไทยโชว์  2013 จำกัด สร้างโรงละคร “เดอะ สเตท” เพื่อจัดแสดงโชว์มวยไทยไลฟ์ พื้นที่กว่า 2,000 ตร.ม. จำนวน  650 ที่นั่ง  จะเปิดแสดงตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า เพื่อดึงดูดกลุ่มชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป จีน 
 
นอกจากนี้ เตรียมสร้างอาคารร้านค้า 2 ชั้น อีก 1 อาคาร โดยมีผู้จับจองพื้นที่เช่าแล้ว คือ จริญญา หาญณรงค์ อดีตรองนางสาวไทย จะเปิดร้าน “ซุปสตาร์” เจาะกลุ่มวัยรุ่น ในต้นปีหน้า 
 
พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นลานกิจกรรมจัดอีเวนต์ต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต ลานเบียร์ และนำชิงช้าสวรรค์ “เอเชียทีคสกาย” ความสูง 60 เมตร มาสร้างจุดขายดึงดูดกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติ  
 
ทั้งนี้ จำนวนลูกค้าของเอเชียทีคในวันธรรมดา เฉลี่ยมากกว่าวันละ 20,000 คน สุดสัปดาห์เฉลี่ยวันละ 60,000-70,000 คน และในช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง เฉลี่ยวันละ 1-2 แสนคน รวมถึงงานเคาน์ดาวน์ 2014 ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งจะถ่ายทอดสดผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ไปยังเครือข่ายสถานีทั่วโลก คาดว่ายอดลูกค้าและนักท่องเที่ยวในคืนนั้นจะทะลุมากกว่า  2 แสนคน
 
สำหรับสัดส่วนลูกค้าแบ่งเป็นกลุ่มคนไทย 40%  ยอดจับจ่ายต่อบิลประมาณ 500 บาท กลุ่มลูกค้าต่างชาติ 60% ยอดจับจ่ายต่อบิลเฉลี่ยมากกว่า 1,000 บาท โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมมาท่องเที่ยวที่เอเชียทีค ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย อเมริกา อินโดนีเซีย อังกฤษ เยอรมัน และรัสเซีย 
 
ฐวัฒน์กล่าวว่า โครงการของเอเชียทีคแห่งใหม่จะใช้แบรนด์ “เอเชียทีค” เป็นตัวหลักและตามด้วยชื่อที่อิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยโครงการแห่งที่ 2 อยู่บริเวณถนนเจริญนคร ฝั่งตรงกันข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 29 ไร่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 150,000 ตร.ม.  สาขานี้จะรองรับทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวและคนฝั่งธนบุรี ซึ่งจริงๆ มีกำลังซื้อสูงมาก ดูได้จากการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมาก แต่ขาดแหล่งชอปปิ้ง โดยเฉพาะรูปแบบไลฟ์สไตล์มอลล์ 
 
ตัวโครงการประกอบด้วยโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์ โรงแรมขนาดใหญ่ และโรงภาพยนตร์ ซึ่งตัวไลฟ์สไตล์มอลล์จะแบ่งพื้นที่โอเพ่นมอลล์ 50% และอาคารปิดอีก 50% เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าโรงแรมที่สามารถเดินมาจับจ่ายสินค้าและบริการได้ทั้งวันก่อนไปใช้บริการในโอเพ่นมอลล์รูปแบบไนต์มาร์เก็ต และสามารถนั่งเรือหรือกระเช้าลอยฟ้ามาจับจ่ายในเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ ได้ด้วย 
 
สำหรับกระเช้าลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 700-800 เมตร ได้ทีมสำรวจและออกแบบจากฝรั่งเศส แต่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเป็นไปได้ในแง่กฎหมายและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเชื่อมต่อโครงการเอเชียทีคฝั่งเจริญกรุงและเจริญนครถือเป็นจุดเริ่มโมเดลการเชื่อมโครงข่ายธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจาก “เจริญ สิริวัฒนภักดี” มีที่ดินขนาดใหญ่อยู่ในมืออีกหลายแปลง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่อเนื่องไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 
เริ่มตั้งแต่ “เอเชียทีค” ต่อเนื่องกับแปลงที่ 2 บริเวณอาคารอี๊สต์เอเชียติ๊ก ติดโรงแรมโอเรียนเต็ล เป็นอาคารเก่าสไตล์โคโลเนียล
 
แปลงที่ 3 ที่ดินเปล่าทำเล “ทรงวาด” ย่านการค้าของชุมชนชาวจีนในไทย ขนาดประมาณ 1 ไร่เศษ แปลงที่ 4 ที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาเกือบ 20 ไร่ อยู่บนถนนพระราม 3 ถัดจากเอเชียทีคไปไม่ไกลนัก แปลงที่ 5 บริเวณบางโคล่ ฝั่งธนบุรี แปลงที่ 6 ที่ดินริมน้ำในเขตบางกระเจ้า และถนนสรรพาวุธ บางนา ส่วนแปลงที่ 7  ที่ดินริมน้ำย่านบางไทร ใกล้ศูนย์ศิลปาชีพ ประมาณ  3,000 ไร่ ซึ่งตามมาสเตอร์แพลนของกลุ่มทีซีซีต้องการเชื่อมโยงโครงการต่างๆ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและวาง “เอเชียทีค” เป็นลิงค์เกจเชื่อมโยงกลุ่มเป้าหมายตามจุดต่างๆ 
 
ขณะเดียวกัน ตามแผนจะขยายสาขาในต่างจังหวัด หัวเมืองทางเศรษฐกิจในภาคต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลังการเปิดเออีซีในปี 2558 รวมถึงกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง โดยพล็อตจุดแล้วใน 2 จังหวัด คือ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และใน จ.เชียงใหม่ โดยเอเชียทีค ซีไซด์ หัวหิน เป็นการพัฒนาพื้นที่ริมชายหาด ประมาณ 15 ไร่ ส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ อยู่บริเวณถนนเจริญประเทศ ซึ่งทั้งเอเชียทีคเจริญนคร หัวหิน และเชียงใหม่ ล้วนมีประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นอย่างยาวนาน 
 
อย่างไรก็ตาม หากเทียบความร้อนแรงของทำเลแล้ว ต้องถือว่า สมรภูมิค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความดุเดือดมาก และรวมผู้ประกอบการรายใหญ่ทุนหนา ซึ่งสามารถแจ้งเกิด “ช้อปปิ้งพาราไดซ์” ไม่ต่างจากย่านราชประสงค์ สยามสแควร์ เพียงแต่เปลี่ยนจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นการล่องเรือผ่านจุดต่างๆ และรองรับไลฟ์สไตล์ของบรรดาเศรษฐีที่นิยมพักอาศัยในบ้านหรือคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา 
 
โดยเฉพาะการจับมือกันของ “สยามพิวรรธน์” กับค่าย “แมกโนเลียส์” ของทายาทเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผุดคอมเพล็กซ์มูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท บนที่ดิน 40ไร่ ย่านเจริญนคร  ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2558 รวมถึงโครงการที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่าง “ชาเทรียม เจริญกรุง” มีทั้งคอนโดมิเนียมหรู  เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และโรงแรมของบริษัทค่ายซิตี้เรียลตี้ จำกัด ในกลุ่มธนาคารกรุงเทพ โครงการแม่น้ำเรสซิเดนท์ เซอร์วิส คอนโดมิเนียม ของกลุ่มโรงแรมรามาดา พลาซ่า แม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ โครงการเดอะริเวอร์ เจริญนคร ของบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน)
 
ล่าสุด กลุ่มบริษัท อิตัลไทย เตรียมปรับปรุงภาพลักษณ์ศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ริเวอร์ซิตี้” ครั้งใหญ่ เพื่อรับศึกค้าปลีกริมน้ำด้วย 
 
เมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีกลุ่มบริษัท ตลาดยอดพิมาน จำกัด ออกมาเปิดเผยแผนพัฒนาที่ดินบริเวณปากคลองตลาดและตลาดยอดพิมาน เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เป็นชอปปิ้งมอลล์แนวใหม่ภายใต้ชื่อโครงการ “ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค” สร้างอาคารใหม่และระเบียงทางเดินริมน้ำที่ยาวที่สุดบนเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ไทย เฮอริเทจ มอลล์” พื้นที่กว่า 14,000 ตารางเมตร สไตล์การตกแต่ง “นีโอ คลาสสิก โคโลเนียล” 
 
การขับเคลื่อนครั้งใหม่ในสงครามค้าปลีก โดยใช้ “เอเชียทีค” เป็นแบรนด์ขยายฐานอย่างกว้างขวาง ทั้งในและนอกประเทศ จับกลุ่มนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ เสริมทัพเครือข่ายค้าปลีกที่มีอยู่ในอาณาจักรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพันธ์ทิพย์พลาซ่า ดิจิตอลเกตเวย์ เกตเวย์เอกมัย ดรักสโตร์ “โอเกนกิ” และคอนวีเนียนสโตร์ “บีเจซีสมาร์ท” 
 
เปรียบเทียบกับคู่แข่ง เกมการตลาดค้าปลีกทุกตัวของกลุ่มทีซีซีอยู่ที่ความเป็น “Niche” เจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และหากเปรียบเทียบจำนวนสาขา ทำเลทอง เงินทุนของโครงการแต่ละแบรนด์ “เอเชียทีค” คืออาวุธและลิงค์เกจตัวใหม่ที่ “เจริญ” คาดหวังไว้สูงอย่างยิ่ง