วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > เคแบงก์พลิกเกมใหม่ คอนวีเนียนสโตร์ คอนวีเนียนแบงกิ้ง

เคแบงก์พลิกเกมใหม่ คอนวีเนียนสโตร์ คอนวีเนียนแบงกิ้ง

ย้อนไปเมื่อปี 2561 ธนาคารกสิกรไทยลุยกลยุทธ์ KBank Service เปิดเกมรุกส่งตรงบริการถึงตัวลูกค้า โดยประเดิมพันธมิตรรายแรก คือ ไปรษณีย์ไทย ซึ่งมีเครือข่ายสาขากระจายทั่วประเทศ และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีไล่จับมือกับพาร์ตเนอร์รายใหญ่ๆ มากกว่าสิบราย ปลุกสมรภูมิ Banking Agent แข่งขันกันอย่างดุเดือด

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศร่วมลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท ผนึกกำลังกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว เพื่อพัฒนาร้านสะดวกซื้อชุมชนที่ชื่อ “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนทั่วไทย โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชนที่สนใจเปิดร้านเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น ผ่านบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร

ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนของธนาคารยังครอบคลุมการร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้บริหารเครือข่ายร้านถูกดี มีมาตรฐาน และเตรียมลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการสินชื่อเต็มรูปแบบ โดยตั้งเป้าปูพรมสาขามากถึง 30,000 ร้านภายในปี 2567

นี่ไม่ใช่แค่การจับมือรุกขยายบริการแบบเดิมๆ แต่เคแบงก์รุกเข้าสู่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ในฐานะแบ็กอัปเพื่อสร้างศูนย์บริการทางการเงินแบบครบวงจร โดยไม่ต้องลงทุนเปิดสาขาธนาคารรูปแบบเดิม เหมือนยิงปืนนัดเดียว ไม่ใช่แค่นก 2 ตัว แต่ได้กลับมาอีกนับไม่ถ้วน

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ชุมชนนอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ลูกค้ามีความต้องการใช้บริการการเงิน บางส่วนไม่มีบัญชีเงินฝาก ไม่มีหลักฐานการเงินที่ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และเป็นพื้นที่ที่สาขาของธนาคารยังเข้าไม่ถึงและกลายเป็นที่มาของแผนผนึกกำลังกับกลุ่มธุรกิจคาราบาว โดยกำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ

1. การส่งเสริมศักยภาพของร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นร้านสะดวกซื้อชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านและระบบการชำระเงินต่างๆ

2. ทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เป็นแหล่งเงินทุนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค้าขายต่างๆ โดยธนาคารนำข้อมูลการจับจ่ายในชีวิตประจำวันของลูกค้ามาพิจารณาสินเชื่อ เน้นกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ประจำ หรือเจ้าของร้านค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนภายในร้าน

3. เปิดจุดให้บริการธุรกรรมการเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันกับคนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล และเพิ่มบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น สแกนจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยแล้วจากนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในช่วงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ที่สำคัญ ความร่วมมือนี้จะทำให้ธนาคารมีจุดบริการ KBank Service เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมมีกว่า 27,000 จุด สามารถเพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขา 830 สาขา ตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติรวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย สามารถตัดลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในแง่การเปิดสาขาธนาคารรูปแบบปกติ ทั้งการก่อสร้าง ค่าเช่าพื้นที่และบุคลากร

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเมื่อปี 2561 ซึ่งกสิกรไทยเริ่มเปิดบริการ KBank Service โดยประเดิม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นพาร์ตเนอร์รายแรก เริ่มต้นที่ 964 แห่ง เมื่อรวมกับสาขาของธนาคารในขณะนั้น 1,016 สาขา และตู้บริการอัตโนมัติ 11,792 ตู้ ทำให้ธนาคารมีจุดให้บริการธุรกรรมการเงินเพิ่มขึ้นทันที รวมแล้วกว่า 13,772 จุดทั่วประเทศ ก่อนกระจายไปยังสาขาของไปรษณีย์อีกเกือบพันแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตภูมิภาค

ช่วงแรกให้บริการฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย สูงสุด 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่เกิน 40,000 บาทต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายมีลูกค้าใช้บริการกว่า 150,000 ธุรกรรมภายในสิ้นปี 2561

ปัจจุบันธนาคารสามารถดึงพันธมิตรร่วมเปิดจุดบริการ KBank Service ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ทั้งร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต กลุ่มไฟแนนซ์ และตู้เติมเงินแบรนด์ต่างๆ ทั้งบริการฝาก ถอน และการยืนยันตัวตน

ตัวอย่างพันธมิตรที่รับฝากเงิน เช่น กลุ่มสบาย เคาน์เตอร์ ให้บริการฝากเงินตั้งแต่ 1-20,000 บาท/รายการ สูงสุด 40,000 บาท/วัน/บัญชี

โลตัสให้บริการฝากเงินตั้งแต่ 100-30,000 บาท/รายการ สูงสุด 99,000 บาท/วัน/บัญชี

CenPay Powered by บุญเติม บริการรับฝากเงินตั้งแต่ 1-30,000 บาท/รายการ สูงสุด 60,000 บาท/วัน/บัญชี

ไปรษณีย์ไทยรับฝากตั้งแต่ 1-30,000 บาท/รายการ สูงสุด 60,000 บาท/วัน/บัญชี บิ๊กซีรับฝากตั้งแต่ 1-20,000 บาท/รายการ/วัน ส่วนร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น รับฝากเงิน ตั้งแต่ 1-30,000 บาท/รายการ สูงสุด 99,999 บาท/วัน

ขณะที่กลุ่มตู้บุญเติมรับฝากตั้งแต่ 1-5,000 บาท/รายการ ตู้เติมสบาย ตั้งแต่ 1-2,000 บาท/รายการ ตู้เติมดี วงเงินที่ทำรายการตั้งแต่ 1-3,000 บาท/รายการ ตู้ Singer วงเงินที่ทำรายการตั้งแต่ 1-3,000 บาท/รายการ ซึ่งกลุ่มตู้เติมเงินคิดค่าบริการ 30-70 บาทต่อรายการ สูงกว่ากลุ่มค้าปลีก ไปรษณีย์ไทย ที่คิด 15 บาท/รายการ เพราะกลุ่มตู้เติมเงินให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม จุดบริการ KBank Service เหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้มากเท่าที่ต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนคนรากหญ้าที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ใช่กลุ่มคนที่กู้เงินเพื่อล้างหนี้เก่าหรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้น

ดังนั้น การจับมือกับกลุ่มคาราบาวเป็นเกม win-win ทั้งสองฝ่าย เพราะธนาคารกสิกรไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการลงทุนเปิดกิจการผ่านการคัดสรรเบื้องต้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง และสามารถขยายบริการทางการเงินไปพร้อมๆ กันด้วย

ด้านทีดี ตะวันแดง มีโอกาสเร่งปูพรมสาขาร้านรวดเร็วขึ้น เนื่องจากคู่ค้าเข้าถึงแหล่งเงินง่ายกว่าเดิมและต่อสายป่านยาวขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนรายย่อยในต่างจังหวัด

นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยช่วยเสริมสร้างกำลังซื้อให้ชุมชนและเพิ่มความแข็งแกร่งให้ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ทั้งเจ้าของร้าน คู่ค้าใหม่ ซัปพลายเออร์และผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ในการแข่งขันกับร้านค้าปลีกรายใหญ่

ตามแผนบริษัทจะขยายสาขาร้านถูกดี มีมาตรฐานเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ร้าน ภายในปี 2567 จากปัจจุบันเปิดแล้ว 5,000 ร้าน โดยคาดว่าสิ้นปี 2565จะมีสาขาเพิ่มเป็น 10,000 ร้าน และเตรียมขยายคลังสินค้า 8 แห่ง มูลค่าการลงทุนราว 24,000ล้านบาท เฉพาะปีนี้คาดว่ารายได้อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 60,000-70,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน เครือข่ายร้านถูกดี มีมาตรฐานยังถือเป็นองค์ประกอบสนับสนุนศักยภาพความแข็งแกร่งให้บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ซึ่งบริหารกิจการร้านสะดวกซื้อแบรนด์ CJ ในกลุ่มคาราบาวอีกแบรนด์หนึ่ง โดยเฉพาะการแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากต้องเลื่อนหนีวิกฤตต่างๆ หลายรอบ

เบื้องต้นบริษัทวางแผนยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ช่วงไตรมาส 2/2566 ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาและเตรียมความพร้อมในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) มีบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย และบริษัทหลักทรัพย์ภัทรเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยคาดว่าธุรกิจ CJ มีมูลค่าตลาด (Market Cap) เกิน 1 แสนล้านบาท

เสถียรประเมินว่า ปีนี้ร้าน CJ จะมีรายได้ 28,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 23,000 ล้านบาท และเร่งเดินหน้าขยายสาขาร้าน CJ ให้ได้ 2,000 สาขา ในปี 2569 จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 1,000 สาขา

แน่นอนว่า ยิ่งคาราบาวกรุ๊ปขยายสาขาแบรนด์ค้าปลีกเพิ่มขึ้นเท่าใด เคแบงก์ย่อมมีโอกาสเปิดเกมรุกได้มากขึ้นด้วย.

ใส่ความเห็น