วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > New&Trend > SCN สุดแกร่ง ปี 66 รายได้พุ่งเท่าตัว ส่งกำไร Organic Growth โต 28 % YoY

SCN สุดแกร่ง ปี 66 รายได้พุ่งเท่าตัว ส่งกำไร Organic Growth โต 28 % YoY

SCN สุดแกร่ง ปี 66 รายได้พุ่งเท่าตัว ส่งกำไร Organic Growth โต 28 % YoY เคาะจ่ายปันผล 0.0124 บาท/หุ้น
บมจ. SCN ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน และขนส่งแบบครบวงจร โชว์ผลการดำเนินงานรอบปี 2566 พื้นฐานสุดแกร่ง รายได้โต 34% YoY กำไรสุทธิแบบออร์แกนิค พุ่ง 28 % YoY สูงสุดในรอบ 3 ปี ประกาศจ่ายปันผล 0.0124 บาท/หุ้น ขึ้น XD 7 พ.ค. จ่าย 23 พ.ค.นี้

ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากการขายและบริการ ใน Q4/2566 อยู่ที่ 1,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% หรือเท่าตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสามารถทำกำไรเติบโตได้สุทธิ 167 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นกำไรสุทธิแบบออร์แกนิค อยู่ที่ 132 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไม่รวมกำไร one – time ที่เกิดจากขายเงินลงทุนรวมถึงการตัดจำหน่ายโครงการที่เป็น Non-perform ของบริษัท ซึ่งเป็นการเติบโตแบบ Organic Growth หรือการเติบโตจากความแข็งแกร่งขององค์กรจริงๆ ทั้งนี้ปัจจัยการเติบโตเกิดจาก 1) การเติบโตของผลการดำเนินงานในหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้อานิสงส์บวกจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 2) บริษัทเริ่มรับรู้รายได้สัญญาจ้างขนส่งจากการชนะประมูลงานขนส่ง ปตท. ตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 เป็นต้นไป 3) รับรู้รายได้จากงานจ้างเหมาก่อสร้างอาทิ เช่น งานรับเหมาก่อสร้างปั๊มบางจาก และ 4) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน SAP ด้วยผลการดำเนินงานก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเตรียมความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี 2567

“ภาพรวมความสำเร็จในปี 2566 บริษัทฯ ได้ตอกย้ำความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติ โดยคว้าชัยชนะประมูลงานขนส่ง ปตท. ทำให้ขึ้นแท่นผู้ขนส่งก๊าซธรรมชาติ อันดับ 1 ของประเทศ โดยมีปริมาณขนส่งรวมอยู่ที่ 1 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ทั้งใน 6 พื้นที่ ได้แก่ ลาดหลุมแก้ว ลำลูกกา สามโคก (2 เขต) เชียงรากน้อย กิ่งแก้ว ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานและรับรู้รายได้จากสัญญาใหม่นี้ครบทุกพื้นที่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ในส่วนของ ธุรกิจ iCNG มีรายได้โตต่อเนื่อง จากปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้พลิกกลับมามีกำไรเป็นปีแรกนับตั้งแต่ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ เช่นเดียวกันในส่วนของบริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) ที่พร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2567 ก็มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยมีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีที่ผ่านมา เพิ่มอีก 6 โครงการ ทำให้ปัจจุบัน COD ไปแล้วกว่า 29 โครงการ ซึ่งรวมกำลังผลิตในมือตอนนี้กว่า 23 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำไรเติบโตกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ยังเติบโตอย่างมีนัยะสำคัญเช่นกัน โดยปีที่แล้ว บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลงานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ รวมถึงรับเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับก๊าซ (Non-Gas) โดยมีมูลค่าสัญญารวมกว่า 222 ล้านบาท และบริษัทฯ เล็งเห็นถึงการเติบโตของการงาน EPC กลุ่ม Non-Gas นี้ในอนาคตเป็นอย่างมาก” ดร.ฤทธี กล่าว

ดร.ฤทธี กล่าวเพิ่มว่า นับว่าในช่วงตั้งแต่โควิดที่ผ่านมาจนมาถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีการเทิร์นอะราวด์ที่ชัดเจน และเติบโตขึ้นปีละเกือบเท่าตัว สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มีการเติบโตอย่างมีนัยะสำคัญในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยภาพรวมการดำเนินงานของธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโต โดยมีรายได้อยู่ที่ 990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) ในส่วนธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ อะไหล่ และซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศ มีรายได้อยู่ที่ 156 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 173 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 233% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) นอกจากนี้สำหรับธุรกิจขนส่งและอื่นๆ มีรายได้อยู่ที่ 189 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแบ่งปันความสำเร็จให้แก่ผู้ถือหุ้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2567 ได้มีการอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2566 ในอัตรา 0.0124 บาท/หุ้น คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 15 ล้านบาท โดยจะกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 8 พ.ค. 2567 และกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 7 พ.ค.2567 พร้อมกำหนดเตรียมจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 พ.ค. 2567

สำหรับการลงทุนในปีนี้ บริษัทฯ เตรียมรุกธุรกิจ EV Charger โซลาร์โฮม โดยก่อนหน้านี้ที่ได้มีการศึกษาการขยายธุรกิจพลังงานเพิ่มเติม โดยวางงบลงทุน 20 ล้านบาท ทำโครงการ “Private PPA” อีวี ชาร์จเจอร์ นำร่องพื้นที่หอพัก คอนโดมิเนียม และโรงแรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเข้าเจรจา โดยคาดว่าจะสามารถเติบโตได้มากในอนาคต และให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ที่ราว 10% นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติรูปแบบใหม่ในอนาคต คือการผลิตไฮโดรเจนหรือบลูไฮโดรเจน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงและเป็นก๊าซพิเศษให้แก่บางอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจให้ SCN ได้ในอนาคต ดร. ฤทธี กล่าว

ล่าสุด ศาลฎีกาพิพากษา SCN ชนะขาด คดีข้อพิพาทหลุมก๊าซ ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพง อีโค่ โอเรียนท์ ชดใช้กว่า 40 ล้านบาท เป็นชัยชนะอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ต้นปี 2567

โดย บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 ให้บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) เป็นผู้ชนะคดีกรณีข้อพิพาทที่ยื่นเรียกร้องให้ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (“ECOR”) รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ ECOR ผิดสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ จำนวน 40,712,438.34 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่จะปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่า ECOR จะชำระให้บริษัทเสร็จสิ้น ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดีต่อไป

สำหรับการชนะคดีนี้ มีเหตุมาจากการที่บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales and Purchase Agreement for Associated Gas) จากหลุมก๊าซ จังหวัดเพชรบูรณ์ กับ ECOR ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ โดยมีข้อตกลงในสัญญาว่าจะมีก๊าซให้ในปริมาณ จำนวน 700,000 ลูกบาศก์ฟุตมาตรฐานต่อวันเป็นระยะเวลา 10 ปี แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ECOR ไม่สามารถจัดหาก๊าซให้บริษัทได้ตามสัญญา และ ECOR ไม่สามารถจัดหาหลุมก๊าซใหม่ที่มีความเหมาะสมเพื่อการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาได้ บริษัทจึงได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อเรียกร้องให้ ECOR รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ ECOR ผิดสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามกรณีคดีข้อพิพาทที่ SCN ต่อสู้มานานจนได้รับชัยชนะนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า บริษัท สแกน อินเตอร์ จากัด (มหาชน) หรือ SCN ดำเนินธุรกิจบนความสุจริตถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ทำให้สามารถยืนหยัดบนความจริงแก่ทุกฝ่ายตามที่ปรากฎนี้ได้ อีกทั้งยังเป็นการสอนบทเรียน ครั้งสำคัญให้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจ ที่จำต้องยึดมั่นในความถูกต้องเช่นกันและไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว