วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > 95 ปี Jubilee Diamond  แบรนด์เพชรเบอร์หนึ่งของไทยในมือ อัญรัตน์ พรประกฤต

95 ปี Jubilee Diamond  แบรนด์เพชรเบอร์หนึ่งของไทยในมือ อัญรัตน์ พรประกฤต

แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยและโลกจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับยังคงเป็นธุรกิจที่มีอนาคต นั่นเพราะกลุ่มลูกค้าหลักมีศักยภาพในการจับจ่าย แม้จะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าที่ผู้คนชื่นชอบ

และประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศชั้นแนวหน้าของโลก ได้รับการยอมรับในระดับสากลในอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส และเบลเยียม

สำหรับแบรนด์เครื่องประดับเพชรที่เฉิดฉายและส่องประกายมาอย่างยาวนานกว่า 95 ปี อย่าง Jubilee Diamond ที่ปัจจุบันบริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 4 อัญรัตน์ พรประกฤต อาจกล่าวได้ว่า เธอคือนักปฏิวัติวงการเครื่องประดับเพชรอย่างที่หลายคนให้คำนิยาม

นับตั้งแต่วันที่แบรนด์เครื่องประดับเพชรอย่าง Jubilee Diamond ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 ด้วยการจัดตั้งบริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ด้วยเงินทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาท แต่เส้นทางการเดินทางของยูบิลลี่นั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นตระกูลพรประกฤต ที่เริ่มธุรกิจโรงรับจำนำในย่านสะพานเหล็ก ก่อนจะผันตัวและขยับขยายสู่ร้านจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีในรุ่นถัดมา ก่อนจะบริหารงานโดย วิโรจน์ พรประกฤต ผู้เป็นบิดา

ความแตกต่างของแบรนด์ยูบิลลี่ ไดมอนด์ ในเวลานั้น คือ การสร้างความแปลกใหม่ให้วงการด้วยการเปิดเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำพร้อมกันถึง 10 สาขาในเวลาเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยแนวคิดที่ว่า บางครั้งลูกค้าอาจไม่กล้าเดินเข้าร้านเพชร เพราะกลัวว่าเข้ามาแล้วยังไม่ซื้อจะถูกร้านเพชรต่อว่า การเปิดสาขาที่ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อลูกค้าได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยูบิลลี่ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้วงการธุรกิจเครื่องประดับเพชรอีกครั้งด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai โดยในเวลานั้น มีอัญรัตน์ พรประกฤต บุตรสาวเริ่มเข้ามาบริหารงานด้วย

ปัจจุบัน อัญรัตน์ พรประกฤต ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หลังจากเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวได้ 21 ปี ความฉะฉานของเธอดูจะส่องประกาย ภายใต้แนวคิดที่เป็นเสมือนดีเอ็นเอของตระกูลในการสร้างมาตรฐานระดับ World Class และชูความเป็นผู้นำเครื่องประดับเพชรอันดับหนึ่งของเมืองไทย

“การเดินหน้าด้วยกลยุทธ์ Branding Communication คือการทำในสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้สื่อสารออกมาอย่างชัดเจน ปีนี้ในโอกาสครบรอบ 95 ปี เราจึงตัดสินใจเลือกที่จะสื่อสารมากขึ้น เพื่อเป้าหมายที่กว้างขึ้น ซึ่งเป้าหมายของเราในปีนี้ เราพยายามจะขยายฐานลูกค้าไปที่ระดับกลางถึงระดับบน แม้ว่าปีที่ผ่านมาเป้าหมายหลักของเราจะอยู่ที่ลูกค้าระดับบนเป็นหลัก” อัญรัตน์อธิบาย

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมองไม่เห็นความสดใส ภายใต้ปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอก แน่นอนว่าย่อมต้องมีคำถามต่อธุรกิจในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ถึงความกังวล แต่อัญรัตน์กลับมองว่า ลูกค้ากลุ่มที่เป็นเป้าหมายยังคงมีกำลังซื้อ เพราะไม่ถูกภาวะเศรษฐกิจกระทบ แม้จะส่งผลในด้านอารมณ์การตัดสินใจซื้อช้าลงบ้าง

“แน่นอนค่ะว่า เศรษฐกิจในภาวะนี้ย่อมส่งผลกระทบในด้านความกังวลสำหรับการทำธุรกิจบ้าง แต่ลูกค้ากลุ่มที่เราเจาะเข้าไป หรือลูกค้ากลุ่มที่เป็นฐานของเรายังมีกำลังซื้อ และไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมากนัก อาจจะส่งผลในด้านอารมณ์บ้าง เช่น อาจจะตัดสินใจซื้อช้าลง”

จุดเด่นของแบรนด์ยูบิลลี่ ไดมอนด์ คือคุณภาพของเพชรที่นำเข้ามาจากประเทศเบลเยียม เมืองแอนด์เวิร์ป ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเจียระไนที่ดีที่สุดในโลก ขณะที่การขึ้นรูปจะผ่านนวัตกรรมการผลิตขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น

นอกเหนือจากคุณภาพของเพชรที่ถูกคัดสรรอย่างดี อัญรัตน์ยังมองไกลไปถึงเรื่องความคุ้มค่าที่ลูกค้าจะได้รับ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีแนวคิดว่า หากจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแต่สามารถมีเครื่องประดับเพชรที่สามารถใช้ได้ในหลายโอกาส เช่น ใช้ออกงานสังคม ใส่ได้ในชีวิตประจำวัน หรือ 1 ชิ้นสามารถแบ่งใส่ได้กับทุกคนในครอบครัว

“เราใช้ Dataให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ โดยนำข้อมูลจาก Consumer inside มาพัฒนาสินค้าออกคอลเลกชันใหม่ๆ ที่สร้างความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ลูกค้าไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าหลายๆ ชิ้น เพื่อใส่ในโอกาสที่แตกต่างกัน แต่เราพัฒนาสินค้าที่ลูกค้าสามารถซื้อไปเพียงหนึ่งชิ้น แต่สามารถแยกออกมาเพื่อใส่ได้ในหลายโอกาส ต่างวาระกัน”

อัญรัตน์ยังเชื่อว่า ธุรกิจเครื่องประดับเพชรยังคงเป็นธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะผู้บริหารยูบิลลี่ตั้งเป้าหมายการเติบโตของปี 2567 ไว้ไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และกำไรขั้นต้นต้องไม่ต่ำกว่า 45 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งหากพิจารณาจากรายได้ของยูบิลลี่ ไดมอนด์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่ายังคงมีกำไรอย่างต่อเนื่อง ปี 2561 รายได้ 1,554 ล้านบาท กำไร 191 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 1,820 ล้านบาท กำไร 262 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ 1,708 ล้านบาท กำไร 267 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 1,540 ล้านบาท กำไร 225 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 1,786 ล้านบาท กำไร 311 ล้านบาท และปีที่ผ่านมา ปี 2566 มีรายได้ 1,579 ล้านบาท กำไร 203 ล้านบาท นี่เป็นผลมาจากการใช้กลยุทธ์ Customer Centric ที่ยึดความต้องการและสร้างประสบการณ์พิเศษให้แก่ลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน

ขณะที่กลยุทธ์ Branding Communication ที่ยูบิลลี่ ไดมอนด์ เลือกใช้ นอกจากการสื่อสารด้วยตัวของแบรนด์ที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว ยังเปิดตัว Friend of Jubilee Diamond คนแรกของแบรนด์ แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ ซึ่งอัญรัตน์มองว่าจะเป็นการช่วยถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ยูบิลลี่ ไดมอนด์ ได้ในหลายมิติขึ้น

“เราอยากสื่อสารให้เห็นว่าเพชรเป็นสินค้าใกล้ตัว เครื่องประดับของยูบิลลี่ ไดมอนด์ทุกชิ้นทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในทุกความต้องการกับคุณภาพระดับ World Class และเราต้องการตอกย้ำความเป็นแบรนด์เพชรแท้สัญชาติไทยที่ยึดมั่นในความต้องการของลูกค้ามารังสรรค์เป็นบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง” อัญรัตน์ทิ้งท้าย

อาจกล่าวได้ว่า ตระกูลพรประกฤต ผู้บุกเบิกธุรกิจยูบิลลี่ ไดมอนด์ ได้เจียระไนเพชรเม็ดงามที่ชื่อว่า อัญรัตน์ พรประกฤต ได้อย่างงดงาม.