วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > “เถ้าแก่น้อย” ยึดทุกเซกเมนต์ เปิดเกม Brand Content Creator 

“เถ้าแก่น้อย” ยึดทุกเซกเมนต์ เปิดเกม Brand Content Creator 

สาหร่าย “เถ้าแก่น้อย” บุกตลาดสแน็กเซกเมนต์ใหม่เมื่อ 20 ปีก่อน สร้างเซอร์ไพรส์ทั้งในแง่ยอดขาย แผนการตลาด และการเติบโตชนิดที่ไม่มีคู่แข่งยักษ์ใหญ่โค่นแชมป์ได้ ล่าสุด อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จํากัด (มหาชน) ประกาศเดินหน้าลุยเป้าหมายเพิ่มยอดดันรายได้พุ่งแตะระดับหมื่นล้านบาทให้ได้ภายในปี 1-3 ปีนี้

โดยเฉพาะปีนี้ 2567 ตลาดขนมขบเคี้ยวมีแนวโน้มเติบโตสูง หลังชะลอตัวเพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด รวมถึงมีเซกเมนต์ใหม่ๆ เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งมากขึ้น มีตั้งแต่กลุ่มมันฝรั่งทอดกรอบ ซึ่งยึดสัดส่วนมากสุด 36% ตามด้วยกลุ่มขนมขึ้นรูป 27-28% ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ปลาหมึก หมู ไก่ อีก 11-12% หรือแค่ 3 กลุ่ม รวมแล้วมากกว่า 75-76%

ตลาดที่เหลือ ได้แก่ ถั่ว ขนมที่ทำจากข้าว สาหร่าย ข้าวเกรียบ และป๊อปคอร์น โดยสาหร่ายมีส่วนแบ่งในตลาดราว 6.5% หรือประมาณ 2,500-2,600 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมสแน็กทั้งหมดประมาณ 40,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สาหร่ายถือเป็นสแน็กเพื่อสุขภาพที่มีฐานลูกค้าหลากหลายและเหนียวแน่น ทั้งสาหร่ายทอด สาหร่ายอบ และสาหร่ายย่าง ซึ่ง “เถ้าแก่น้อย” สามารถกวาดส่วนแบ่งมากกว่า 65% ขณะที่คู่แข่งหลักมีส่วนแบ่งราว 22% ที่เหลือเป็นยี่ห้ออื่นๆ อีก 13%

ทั้งนี้ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เถ้าแก่น้อยเปิดยุทธศาสตร์สำคัญตั้งแต่หลังโควิดคลี่คลาย ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย (Product Mix) มีแผนออกสินค้าใหม่ด้านนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมาร์จินสูง โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสาหร่าย (Seaweed) ไม่ต่ำกว่า 10 รายการ และผลิตภัณฑ์นอกเหนือกลุ่มสาหร่าย (Non-Seaweed) เครื่องดื่มแบรนด์ “จัสท์ดริ้งค์ (Just Drink)” ซึ่งจะเพิ่มรสชาติใหม่ๆ ไม่ต่ำกว่า 2-3 รายการ

การเพิ่มช่องทางการขายใหม่ เน้นขยายเครือข่ายร้านค้าท้องถิ่น (Traditional Trade) โดยปัจจุบันมีจำนวน Traditional Trade เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ร้านค้า ส่วนตลาดต่างประเทศเน้นจัดกิจกรรมออนไลน์ ใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ของแต่ละประเทศเข้ามาทำกิจกรรมร่วมด้วย

ขณะเดียวกัน เดินหน้านโยบาย “3GO” คือ  GO Firm ปรับองค์กรให้กระชับคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น เพื่อลดต้นทุนต่างๆ GO Broad ขยายฐานธุรกิจกว้างขึ้นและมีคุณค่า ผ่านการพัฒนาสินค้านวัตกรรมกลุ่มใหม่ๆ (Innovation Food) และ Go Global ขยายตลาดในต่างประเทศที่มีศักยภาพ

ที่สำคัญ การกลับมาเปิดสาขา Taokaenoi Land อีกครั้งที่เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เพราะก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ร้าน Taokaenoi Land เป็นร้านของฝากแบบ One Stop Shopping และเป็นหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อของฝากก่อนกลับประเทศไปทุกครั้ง

นายปรมินทร์ จาวลา ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่บริษัทต้องการรุกตลาด เพื่อตอกย้ำความสำเร็จในฐานะผู้นำตลาดสาหร่ายอันดับ 1 ทุกเซกต์เมนต์ทั้ง ทอด อบ ย่าง รวมถึงอีเวนต์ฉลองครบรอบ 20 ปี โดยงัดกลยุทธ์ Brand Content Creator การตลาดบนโซเชียลมีเดีย ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง มีการติดตามในโซเชียล เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงในด้านใดด้านหนึ่งมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ สร้างคอนเทนต์สีสันและความสนุกของแบรนด์

เป้าหมายสำคัญ คือ เจาะผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ ที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน เพื่อขยายฐานสกัดคู่แข่ง เพราะตลาดสแน็กมีการช่วงชิงรุนแรงมากขึ้น

ล่าสุด บริษัทดึง “แป้ง-นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส” หรือ zbing z. (ซีบิ๊ง ซี) ยูทูบเบอร์สาวสายเกม ซึ่งมียอดผู้ติดตามสูงสุดอันดับต้นๆ ของเมืองไทยในแพลตฟอร์ม Youtube กว่า 18.4 ล้าน Subscribe มีความสามารถแคสต์เกมและพากย์การ์ตูน มีฐานแฟนคลับตั้งแต่วัยเด็กเล็กจนถึงกลุ่ม GEN Z  มาเป็นผู้สื่อสาร Key Message บวกกับกิจกรรมต่างๆ โดยเตรียมเผยโฉมครีเอเตอร์ชื่อดังมาร่วมสร้างคอนเทนต์ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายตลอดทั้งปีนี้ด้วย.

20 ปี เส้นทางสาหร่ายพันล้าน

21 กันยายน 2547 ต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสาหร่ายแปรรูปภายใต้แบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท พร้อมเปิดโรงงานผลิตที่สำนักงานท่าอิฐ และหมู่บ้านณีรวัลย์ โดยช่วงแรกวางจำหน่ายสินค้าที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

ปี 2548 เริ่มจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศผ่านผู้ส่งออกภายในประเทศ (Thai Exporter) โดยเริ่มเปิดตลาดที่สิงคโปร์เป็นประเทศแรก

ปี 2549 ย้ายโรงงานผลิตจากท่าอิฐมายังโรงงานแห่งใหม่ที่บางบัวทอง

ปี 2550 สินค้าได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand’s Brand

ปี 2551 บริษัทขยายกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและรองรับลูกค้าใหม่ๆ ในอนาคต โดยเปิดโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และเป็นปีที่สามารถทำรายได้จากการขายมากกว่า 1,000 ล้านบาท

ปี 2552 จัดตั้ง บริษัทเถ้าแก่น้อย เรสเตอร์รองท์ แอนด์ แฟรนไชส์ จำกัด (TKNRF) เพื่อประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและของฝาก “เถ้าแก่น้อยแลนด์” โดยมีสาขากระจายอยู่ในเขตเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต

ปี 2553 ซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ว้อนท์มอร์ อินดัสตรี้ จำกัด จากกลุ่มผู้ถือหุ้น สัดส่วน 99.99% ของทุนชำระแล้ว เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เถ้าแก่น้อย แคร์ จำกัด และปีต่อมาซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอ็นซีพี เทรดดิ้ง แอนด์ ซัพพลาย เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผงปรุงรส

บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง รองรับการขยายตัวและแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2556 ใช้ชื่อว่า บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 160 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท

ปี 2558 ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 360 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4 บาท แก่ประชาชนทั่วไป โดยรับชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวแล้วทั้งจำนวนรวม 1,440 ล้านบาท

วันที่ 3 ธันวาคม 2558 หุ้นเถ้าแก่น้อย หรือ TKN เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเป็นปีที่บริษัทสามารถสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท

ปี 2559 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะเดินเครื่องการผลิตรองรับตลาดในและต่างประเทศ บริษัทสามารถทำรายได้มากกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี

ปี 2560 บริษัทซื้อกิจการ GIM Factory Inc. เปลี่ยนชื่อเป็น Taokaenoi USA Inc. ผลิตสาหร่ายอบในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ของบริษัทและแห่งแรกนอกประเทศ บริษัทสามารถทำรายได้จากการขายมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

ปี 2561 เปิดสำนักงานตัวแทน ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำตลาดในประเทศจีน

ปี 2562 บริษัทร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มบริษัท ORION จากประเทศเกาหลีที่ประกอบธุรกิจในประเทศจีนมานานกว่า 40 ปี ตั้งตัวแทนจัดจำหน่ายแบบ Exclusive ในประเทศจีน ขณะที่ปรับรูปแบบการดำเนินงาน Taokaenoi USA Inc. จากโรงงานและจัดจำหน่าย เป็นสำนักงานดูแลการขายภูมิภาคสหรัฐอเมริกา

ปี 2563 ปิดสำนักงานตัวแทน ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตาม ปีต่อมา แต่งตั้งตัวแทนจัดจำหน่ายในประเทศจีนอีก 1 ราย เพื่อดูแลตลาด Traditional Trade และ Online

ปี 2565 มีการศึกษาการปรับปรุงและจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายในตลาด Traditional Trade ของตลาดในประเทศ เพื่อครอบคลุมกลุ่มร้านค้าย่อย โดยจับมือตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นเป็นพันธมิตรทั้งสิ้น 14 รายในไทย กระจายอยู่ทั่วประเทศ

บริษัทยังร่วมมือกับร้านกาแฟ Double Win ในประเทศจีน ทำตลาดข้ามกลุ่มผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จนได้รับรางวัล bronze medal prize จาก 2565 Gold Rank Awards

ปี 2566 ‘เถ้าแก่น้อย’ ร่วมกับพันธมิตรออกรสชาติใหม่อย่างต่อเนื่อง และตอบรับเทรนด์ตลาดเกมออนไลน์มาแรง จับมือ Gen Play จัดแคมเปญ GOH: God of Highschool เกมมือถือจากการ์ตูนชื่อดังบน WEBTOON นำแบรนด์คาแรกเตอร์ตัวละคร ‘เถ้าแก่น้อย’ สื่อสารผ่านตัวละครในเกม เจาะกลุ่มเกมเมอร์

ปี 2567 ฉลองครบรอบ 20 ปี ชูกลยุทธ์สร้างคอนเทนต์การตลาดแนวใหม่.