วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
Home > Cover Story > ทิศทางตลาดแรงงานไทยปี 2024 กับ 5 สายงานยอดฮิต

ทิศทางตลาดแรงงานไทยปี 2024 กับ 5 สายงานยอดฮิต

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถือเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งแม้จะไม่สามารถดำเนินตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยตอนหาเสียง ที่ประกาศว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน

โดยการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้น 2-16 บาทต่อวัน ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง โดยจังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด 370 บาทต่อวันคือ จังหวัดภูเก็ต ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 363 บาทต่อวัน เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC อย่างจังหวัดชลบุรีและระยอง ค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาทต่อวัน และจังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุด 330 บาทต่อวัน ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา

แม้ว่าในช่วงการหารือเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะมีข้อเสนอให้ปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน แต่ยังเป็นอัตราที่สูงเกินไป แม้ว่าผู้ประกอบการและนายจ้างส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องว่าควรขึ้นค่าแรงก็ตาม

ขณะที่สถานการณ์การจ้างงานในไทย ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยมองว่า แนวโน้มการจ้างงานใหม่ในปี 2567 ยังมีความเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้าตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยการจ้างงานเพิ่มยังคงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดแรงงานไทยยังเผชิญกับการขาดแรงงานทักษะฝีมือ รวมไปถึงแรงงานระดับล่างที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว

แนวโน้มการจ้างงานที่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการขยายตัว มีความคล้ายกับการสำรวจของ Global Talent Survey ซึ่ง ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “จากผลสำรวจชุดนี้ พบว่าแนวโน้มตลาดแรงงานในปัจจุบันทั้งในประเทศไทย ระดับเอเชีย หรือระดับโลก เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือผู้หางานรู้ตัวว่ากำลังเป็นที่ต้องการมีอำนาจการต่อรองในด้านบวก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้เริ่มเกิดการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน แม้จะมีเด็กจบใหม่จำนวนมาก แต่องค์กรหรือผู้ประกอบการยังมองหาผู้ที่มีประสบการณ์ในสายงานมากกว่า ทำให้ผู้สมัครเกิดความรู้สึกมั่นใจในอำนาจต่อรอง แม้ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยจะมีค่าเฉลี่ยของความถี่ในการได้รับข้อเสนองานน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่โดยรวมยังนับเป็นข้อเสนอในความถี่ระดับปกติ”

โดยตำแหน่งงานที่ได้รับข้อเสนองานทุกสัปดาห์ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ดิจิทัล การจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล และ AI 37% 2. สื่อ ศิลปะ และการออกแบบ 36% 3. การบริการและการต้อนรับ 34% 4. บริการทางการเงิน 30% 5. บริการด้านสุขภาพและสังคม 30%

การเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบส่งผลให้ลักษณะความต้องการแรงงานเปลี่ยนไปจากเดิม ดวงพรขยายความเพิ่มเติมว่า “ซึ่ง 5 สายงานนี้เป็นอาชีพที่มาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทุกธุรกิจต้องการบุคลากรที่เข้าใจงาน และพร้อมเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าทั้ง 5 สายงานมีจุดเชื่อมโยงกัน คือ ทักษะด้านการวางแผน การดำเนินการ และการสื่อสาร เกี่ยวข้องกับปัจจัยสำคัญในชีวิตด้านการเงิน สุขภาพ และสังคม คาดว่าในปี 2567 จะพบธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น”

นอกจากผลการสำรวจสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในไทย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการและแรงงานแล้ว อีกหนึ่งผลสำรวจที่สะท้อนความต้องการของแรงงาน ที่จะเป็นนัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ คือ การมัดใจเพื่อรักษาบุคลากรให้อยู่ในองค์กรได้ในระยะยาว

แรงงานต้องการงานที่มั่นคงและมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน 77 เปอร์เซ็นต์ ทำงานในบริษัทที่ดี และมีโอกาส เติบโตในตำแหน่งงานที่สูงขึ้น 55 เปอร์เซ็นต์ และต้องการมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นของตัวเอง 32 เปอร์เซ็นต์

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ปฏิเสธงานทันที คือ ค่าตอบแทนและความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน หากไม่สมเหตุสมผลก็จะปฏิเสธข้อเสนองานทันที ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจรับข้อเสนองานเช่นเดียวกับผู้สมัครงานทั่วโลก คุณค่าของการได้ร่วมงานกับองค์กรที่มีชื่อเสียงหรือความหมายของงานเป็นข้อพิจารณาที่ให้ความสำคัญน้อยกว่าเล็กน้อย” ดวงพรอธิบาย

จากสถานการณ์การปรับเปลี่ยนเวลาทำงานในสภาพสังคมปัจจุบันที่แรงงานมีความต้องการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น สามารถทำงานที่บ้านมากกว่าที่สำนักงาน มีผลสำรวจเกี่ยวกับแรงงานไทยที่ผู้ประกอบการไทยอาจต้องปรับตัว พบว่า แรงงานไทยมีการคำนึงถึงเวลาการทำงาน ที่มีความต้องการแบบ Hybrid Working สูงมากขึ้น เพราะผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยลังเลที่จะกลับไปทำงานเต็มเวลาที่สำนักงาน มีเพียง 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต้องการกลับไปทำงานที่สำนักงาน ซึ่งต่างจาก 35 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกที่พร้อมทำงานเต็มเวลาที่สำนักงานมากกว่าทำงานที่บ้าน ในขณะที่เวลาทำงานที่ต้องการสำหรับคนไทย 69 เปอร์เซ็นต์ ยังคงต้องการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ และ 21 เปอร์เซ็นต์ต้องการทำงานแบบพาร์ตไทม์

แน่นอนว่า หากผู้ประกอบการจะมองหาวิธีดึงดูดผู้สมัครที่ตรงกับความต้องการ อาจต้องมีข้อเสนอที่ดี เช่น เงินเดือน และสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าบริษัทเดิม ตำแหน่งงานที่สูงกว่า และทำให้ผู้สมัครงานเห็นว่า โอกาสก้าวหน้าในที่ทำงานดีกว่าเดิม ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้สามารถดึงดูดใจ เพิ่มความน่าสนใจแก่ผู้สมัครงานได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติตรงกับที่ผู้ประกอบการมองหา

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจแรงงานไทยทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า มีแรงงานในระบบประกันสังคม หรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,842,335 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ส่วนสถานการณ์การว่างงานของไทยในระบบประกันสังคมในเดือนกันยายน 2566 จากการเปิดเผยของกระทรวงแรงงาน พบว่ามีผู้ว่างงานจำนวน 229,070 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ -7.58 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่มีจำนวน 74,067 คน ลดลงร้อยละ -8.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ -12.64 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ส่งผลถึงการจ้างงานในประเทศไทยนั้น พบว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในไตรมาส 2 ของปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.80 สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของไทยเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามรายรับในภาคการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่านักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวและตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง.