วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > ทีเอ็มบีธนชาตรุกบัตรเครดิต-สินเชื่อ อีกความเคลื่อนไหวใหญ่หลังการควบรวม

ทีเอ็มบีธนชาตรุกบัตรเครดิต-สินเชื่อ อีกความเคลื่อนไหวใหญ่หลังการควบรวม

หลังจากประกาศควบรวมกิจการระหว่าง “ธนาคารทหารไทย” และ “ธนาคารธนชาต” สู่ความเป็น One Bank อย่างสมบูรณ์ ภายใต้ชื่อใหม่ที่เป็นทางการว่า “ธนาคารทหารไทยธนชาต” ไปตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวหลังจากนั้นจะยังคงค่อยเป็นค่อยไปและไม่หวือหวานัก

“ธนาคารทหารไทย” เป็นธนาคารที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานเกินครึ่งศตวรรษ ด้วยการริเริ่มของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มุ่งให้บริการทางการเงินแก่หน่วยงานทหารและข้าราชการทหารเป็นหลัก จนกระทั่งเปิดให้บริการสาขาราชประสงค์เป็นสาขาแรกในปี 2506 ก่อนที่จะขยายการบริการสู่ลูกค้าทุกกลุ่มในภายหลังจนกลายเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ และในปี 2547 ธนาคารได้รวมกิจกรรมกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมเป็นธนาคารเดียวในภาพลักษณ์ใหม่ภายใต้ชื่อ “TMB”

ในขณะที่ “ธนาคารธนชาต” คือผลผลิตของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด กลุ่มธุรกิจการเงินของไทยที่ผ่านการเดินทางของธุรกิจการเงินมาอย่างยาวนานเช่นกัน โดยบริษัทเงินทุนเอกชาติ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทลูกของกลุ่มธนชาต ได้ยื่นขอจัดตั้งเป็นธนาคารและเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยเปิดให้บริการในวันที่ 22 เมษายน 2545 เป็นต้นมา

ถ้ามองย้อนตามไทม์ไลน์ จุดเริ่มต้นของการควบรวมกันระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต จนกลายมาเป็นทหารไทยธนชาต หรือ ทีเอ็มบีธนชาต ในปัจจุบันนั้น มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2562 โดยผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 ธนาคาร เล็งเห็นถึงประโยชน์จากการนำเอาจุดแข็งที่ธนาคารมีอยู่มาส่งเสริมซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการรวมกิจการ

หลังจากใช้เวลากว่า 2 ปี การควบรวมจึงแล้วเสร็จ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 มีการประกาศเปลี่ยนชื่อและโลโกธนาคารใหม่ในชื่อ “ทีเอ็มบีธนชาต” ภายใต้ชื่อเป็นทางการว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) โดยมีโลโกคือ ttb (ทีทีบี) ตามด้วยการประกาศความเป็น “One Bank” อย่างสมบูรณ์ พร้อมให้บริการลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ซึ่งหลังจากนั้นความเคลื่อนไหวที่ปรากฏออกมาดูจะค่อยเป็นค่อยไป

กระทั่งล่าสุด ทีเอ็มบีธนชาตเคลื่อนไหวใหญ่ในรอบ 1 ปีภายหลังการควบรวม ประกาศเดินหน้าสู่ความเป็นหนึ่งในผู้นำสถาบันการเงิน ด้วยการส่ง “ทีทีบี คอนซูมเมอร์” บริษัทในเครือรุกตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล พร้อมทั้งตั้งเป้าใหญ่ หวังขึ้นแท่น 1 ใน 4 ผู้นำของตลาดภายใน 3 ปี ภายใต้การนำของมืออาชีพอย่าง “ฐากร ปิยะพันธ์” และ “จเร เจียรธนะกานนท์”

บริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ จำกัด (ttb consumer company limited) เป็นธุรกิจในเครือของทีเอ็มบีธนชาต ที่ดำเนินธุรกิจด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลครบวงจร โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 มีทีเอ็มบีธนชาตเป็นผู้ถือหุ้น 100% ถือเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจและขยายฐานลูกค้าบุคคลของธนาคาร โดยแต่งตั้ง จเร เจียรธนะกานนท์ เป็นกรรมการผู้จัดการ พร้อมเสริมทัพความแกร่งด้วยการเชิญ “ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาติ นั่งแท่นที่ปรึกษาอาวุโส

สำหรับ ฐากร ปิยะพันธ์ ถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในธุรกิจการเงินและดิจิทัลแบงกิ้งคนหนึ่งของวงการ โดยสร้างชื่อในตำแหน่ง ประธานกรรมการ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรมที่ธนาคารกรุงศรี ก่อนไปรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) TGH หนึ่งในอาณาจักรของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และล่าสุดกับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของทีเอ็มบีธนชาต

ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการและที่ปรึกษาอาวุโส ฐากรฉายภาพของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า โควิด-19 เป็นสถานการณ์เดียวที่ทำให้ตลาดบัตรเครดิตติดลบ แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจจะเริ่มทยอยฟื้นตัว แต่จากภาวะเงินเฟ้อในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่ปรับสูงถึง 5.89% ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น และมีกำลังซื้อที่เปราะบาง

สถิติจากเสิร์ชเอนจินในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า คนไทยมีพฤติกรรมค้นหา “สินเชื่อเงินด่วน” เพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่า สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่พบว่า ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยับตัวขึ้นในสินเชื่อทุกประเภทในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เพราะประชาชนยังต้องการหาแหล่งเงินกู้เพื่อเป็นตัวเลือกในการรับมือกับภาระค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้นการช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ผ่านโซลูชันการเงินต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ช่วยลูกค้ากว่า 200,000 ราย ให้เข้าถึงแหล่งเงิน เพิ่มสภาพคล่องในยามฉุกเฉินผ่านบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ช่วยให้ลูกค้า 43,000 ราย มีสภาพคล่องผ่านสินเชื่อบุคคล เป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 8,000 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้ ทีเอ็มบีธนชาตมองว่าโอกาสและศักยภาพในการเติบโตในตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งการเปิดตัว “ทีทีบี คอนซูมเมอร์” ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาจึงถือเป็นการรุกตลาดนี้อย่างจริงจัง

จเร เจียรธนะกานนท์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อ กล่าวว่า ปัจจุบันทีทีบี คอนซูมเมอร์ ได้ให้บริการผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้ารายย่อยแบบครบวงจร ทั้งบัตรเครดิตทีทีบีและสินเชื่อบุคคล

โดยในส่วนของบัตรเครดิตทีทีบีถือว่ามีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า ได้แก่ บัตรเครดิต ทีทีบี โซ ฟาสต์ เน้นสะสมคะแนนจากการใช้จ่าย, บัตรเครดิต ทีทีบี โซ สมาร์ท เน้นรับเงินคืน, บัตรเครดิต ทีทีบี โซ ชิลล์ ฟรีค่าธรรมเนียมกดเงิน, บัตรเครดิต ทีทีบี แอปโซลูท สำหรับผู้ที่ชอบเดินทางและนักช้อปออนไลน์

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีบัตรเครดิตสำหรับลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง อย่างบัตรเครดิต ทีทีบี รีเซิร์ฟ อินฟินิท และ ทีทีบี รีเซิร์ฟ ซิกเนเจอร์ อีกด้วย ด้านสินเชื่อบุคคล ส่ง “ทีทีบี แคชทูโก” สินเชื่อเงินก้อนดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติไว เข้าชิงตลาด

สำหรับเป้าหมายในปี 2565 ของทีทีบี คอนซูมเมอร์นั้น ธนาคารตั้งเป้าจำนวนลูกค้าบัตรเครดิตอยู่ที่ 1,400,000 บัตร เป็นลูกค้าสมัครใหม่ 250,000 บัตร โตขึ้นจากปีก่อน 200% โดยเป็นการสมัครผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 35% วางเป้าสร้างยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากปีก่อน เน้นยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 30% และมีเป้ายอดคงค้างอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ส่วนสินเชื่อบุคคล ตั้งเป้ามีลูกค้ารายใหม่ 1.7 แสนราย เติบโต 270% จากปีก่อน

ล่าสุดทีเอ็มบีธนชาตยังประกาศตั้งเป้าก้าวสู่ 1 ใน 4 ของผู้นำตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลให้ได้ภายในปี 2568 หรือ 3 ปีนับจากนี้ จากปัจจุบันที่อยู่ในลำดับ 6-7 ของตลาด ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1. Digital & Innovation 2. สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) และ 3. ขับเคลื่อนด้วยการใช้ Data มากขึ้น

กลยุทธ์ “Digital & Innovation” จะมุ่งพัฒนานวัตกรรมการเงินและช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านแอปพลิเคชัน ttb touch เพื่อเพิ่มความสะดวกในการสมัครบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อบุคคล

กลยุทธ์สร้าง “Partnership” ทางธุรกิจ เดินหน้าขยายพันธมิตรธุรกิจใหม่ๆ ผ่าน 3 กลุ่มลูกค้า ทั้งกลุ่มลูกค้าพนักงานเงินเดือน ลูกค้ามีรถยนต์ และลูกค้ามีบ้าน อีกทั้งยังเน้นการเพิ่มจำนวนร้านค้ารับบัตรให้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์

กลยุทธ์ขับเคลื่อนด้วยการใช้ “Data” มากขึ้น นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าแบบรายบุคคล เพื่อนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่โดนใจลูกค้า ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ที่หลายองค์กรทางธุรกิจกำลังให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ ยังวางแผนจัดกิจกรรมทางการตลาดบัตรเครดิตในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเน้นกิจกรรมที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ และเตรียมแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงปลายปีอีกด้วย ถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงการรุกตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของธนาคารอย่างเต็มตัว.

ใส่ความเห็น