วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ค่าครองชีพ-เงินเฟ้อเพิ่ม เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไทยรับศึกรอบด้าน

ค่าครองชีพ-เงินเฟ้อเพิ่ม เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไทยรับศึกรอบด้าน

บทวิเคราะห์และการประเมินจากนักวิทยาศาสตร์ นักไวรัสวิทยา เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่อาจเป็นจุดสิ้นสุดของโรคร้ายและนำไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด ถือเป็นความหวังที่ค่อยๆ เรืองรองของประชากรโลก ที่จะได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ หรือกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามเดิม

ทว่า ปัจจุบันดูเหมือนปัญหาใหม่กำลังเริ่มขึ้น โดยเฉพาะคนไทยที่กำลังต้องรับมือกับภาระทางเศรษฐกิจที่ดูจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสายตาของประชาชนในระดับฐานรากอาจมองว่าสถานการณ์ครั้งนี้เริ่มเข้าขั้นวิกฤต

สถานการณ์ข้าวยากหมากแพงที่กำลังเกิดขึ้นในห้วงยามนี้ ดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมความชอกช้ำที่ยังไม่ทันจางหายไป ให้มีอาการทรุดหนักลงอีก เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการทยอยขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เช่นที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันตั้งแต่เริ่มต้นศักราชใหม่คือ ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง ชนิดที่ว่าร้านอาหารจำนวนไม่น้อยที่ต้องขอยุติกิจการชั่วคราวเพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนจากเนื้อหมูไหว และไม่ต้องการที่จะผลักภาระให้แก่ผู้บริโภคที่อยู่ปลายน้ำได้ ในขณะที่ผู้บริโภคเองมีตัวเลือกที่หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูได้

นอกจากเนื้อหมูที่ปรับราคาสูงขึ้นแล้ว สินค้าอื่นๆ ต่างทยอยปรับราคาไปแล้วเช่นกัน เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ประชาชนยังต้องแบกรับค่าสาธารณูปโภคและค่าเดินทางที่ปรับขึ้นมาแล้ว เช่น ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน ค่าขนส่งสาธารณะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 ต่อเดือน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้อื่น ซึ่งราว 36% มองว่า มีค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีก่อนที่จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ขณะที่คนกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบและสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้มากกว่า

ทั้งนี้ ค่าครองชีพที่ทยอยปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ในระยะสั้น คนกรุงเทพฯ วางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยจะเลือกใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ลดหรือชะลอการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทน รวมไปถึงลดกิจกรรมสังสรรค์ โดยธุรกิจที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบหนักน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ยิ่งจะกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจดังกล่าวในระยะถัดไป

นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ ยังเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้ในราคาที่ถูกลง เช่น สินค้ามือสอง สินค้าแบรนด์รอง สินค้าในช่วงจัดโปรโมชั่น รวมถึงการเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อสัตว์หรืออาหารที่มีราคาถูกลง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโอกาสของสินค้าแบรนด์รองที่จะเข้ามาทำการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคต่อไป

และเมื่อพิจารณาถึงความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรก คือ ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในหลายประเภทมากขึ้น เช่น ราคาอาหารสดประเภทอื่นๆ เช่น อาหารทะเล ของใช้ในชีวิตประจำวัน และราคาพลังงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ตลอดจนต้องการให้ขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา) ที่สิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชน ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ประกอบการชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า หรือลดปริมาณสินค้าแทนการปรับขึ้นราคาหากจำเป็น และเพิ่มการจัดโปรโมชั่นกิจกรรมลดราคาสินค้าให้ถี่ขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น อาหารปรุงสำเร็จ ของใช้ส่วนตัว เป็นต้น

ในระยะข้างหน้า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังมองว่าสถานการณ์ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะยังไม่คลี่คลายในระยะสั้น และกว่า 50% คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะลากยาวมากกว่า 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการรับมืออยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงน้อย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกเหนือจากการออกมาตรการเฉพาะหน้าที่จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคในระยะสั้นแล้ว เช่น การตรึงและควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น การจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า เป็นต้น ภาครัฐและเอกชนควรเร่งมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) ให้ตรงจุด

ตลอดจนควรเพิ่มโอกาสการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดควบคู่ไปด้วย เช่น การเพิ่มปริมาณสุกรในตลาดผ่านการสนับสนุนเงินทุนและสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรมากขึ้น การใช้มาตรการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ต่างๆ อย่างเข้มงวด การเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ภาคธุรกิจจะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคและสร้างโอกาสการเติบโตในระยะถัดไป เช่น ลดปริมาณหรือขนาดของสินค้า แทนการปรับขึ้นราคา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสต็อกสินค้า รวมถึงการนำฐานข้อมูลลูกค้ามาช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความต้องการได้แม่นยำมากขึ้น เป็นต้น

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยในปัจจุบันสูงขึ้น ประกอบกับรายได้อยู่ในภาวะชะลอตัว หนี้สินที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุให้ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเป็นไปตามคาดการณ์ของสถาบันการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2564 จากเดิม 1% เป็น 1.2% ต่อปี ปี 2565 ปรับจาก 1.4% เป็น 1.7% และปี 2566 คาดการณ์เงินเฟ้อที่ 1.4% โดยสาเหตุการปรับประมาณอัตราเงินเฟ้อขึ้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานชะงัก หรือ Supply Disruption และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยประเมินว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราว และจะทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งประมาณการราคาน้ำมันดิบปีนี้ปรับเป็น 68.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 65.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นเล็กน้อยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ ทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ไม่มาก โดยปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% จากเดิม 0.3% ตามการขึ้นภาษีสรรพสามิต ยาสูบและการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ ส่วนปี 2566 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.7% เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้านธนาคารโลกประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 และ 2565 เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของไทยปีนี้สู่ระดับ 3.9% โดยลดลง 1.2% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน 2564 และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปีที่แล้วสู่ระดับ 1.0% ลดลง 1.2% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้เช่นกัน จากการที่ไทยมีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโควิด จนกว่าจะถึงปี 2566

สิ่งที่น่าจับตาคือ เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งแต่ละประเทศที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มประกาศใช้มาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นขึ้น ทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐแต่ละประเทศที่เข้มงวดขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ปัญหาด้านอุปทานและขาดแคลนแรงงานอาจรุนแรงขึ้น เงินเฟ้อสูง เร่งให้ธนาคารกลางบางแห่งลดการผ่อนคลายทางการเงินลง นักลงทุนมีแนวโน้มปิดรับความเสี่ยงและเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB EIC ประเมินว่า การแพร่ระบาดของโอมิครอนอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ปีนี้ชะลอลงจากที่คาดไว้เดิม แต่ผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ารอบก่อนหน้า และเศรษฐกิจโลกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 หลังเร่งแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้น EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกทั้งปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงราว 0.3-0.4 ppt เทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโอมิครอน ทำให้ปี 2022 จะขยายตัวราว 4.1% ลดลงจาก 5.8% ในปี 2021

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ ทั้งการท่องเที่ยวที่ไทยเองมีมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศที่เข้มงวดขึ้น จากความกังวลของการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการส่งออกไทยที่จะได้รับแรงกดดันจากปัญหาด้านอุปทานที่อาจยืดเยื้อขึ้น และอุปสงค์โลกที่อาจชะลอตัวลง โดย EIC ประเมินการส่งออกไทยในปี 2022 จะขยายตัวที่ 3.4% จากการแพร่ระบาดของโอมิครอน ที่จะมีอยู่ทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่มาตรการควบคุมจะไม่เข้มงวดเท่าการระบาดในอดีต

ในเวลานี้ ไทยยังต้องรับศึกรอบด้าน ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อปากท้องของชาวบ้านร้านตลาด แม้ว่าภาครัฐจะเร่งนำมาตรการหลายด้านออกมาใช้ ทั้งความช่วยเหลือต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่กำลังเร่งรัดให้เกิดขึ้นในเร็ววัน การปรับราคาสินค้า การควบคุมราคาสินค้า หรือการนำสินค้ามาจำหน่ายในราคาถูกผ่านร้านธงฟ้า คงต้องรอดูกันว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่ดาหน้ามาพร้อมกันได้หรือไม่

ใส่ความเห็น