วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > เกมขายหุ้น “เงินติดล้อ” ลุ้นแผนรุกร้านสะดวกซื้อ

เกมขายหุ้น “เงินติดล้อ” ลุ้นแผนรุกร้านสะดวกซื้อ

การประกาศขายหุ้นบริษัท เงินติดล้อ จำกัด 50% ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยหรือ “ไมโครไฟแนนซ์” ที่มีเม็ดเงินหลักแสนล้านบาท เมื่อผู้ถือหุ้นรายใหม่เป็นกลุ่มนักลงทุนนำโดยกองทุน CVC Capital Partners Asia Fund IV (CVC) และบริษัท Equity Partners Limited (EPL) ที่มีคนตระกูล “เจียรวนนท์” เป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่ ท่ามกลางสงครามการแข่งขันธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่เร่งขยายแนวรบ “แบงกิ้งเอเย่นต์”อย่างเต็มรูปแบบ

ไอเดีย “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน” ที่ ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตนายแบงก์ เคยจุดประกายเมื่อ 4 ปีก่อน ผุดขึ้นทันควัน

วันนั้น 20 กุมภาพันธ์ 2557 ทนงเปิดตัวในฐานะผู้ร่วมถือหุ้นและประธานกรรมการบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) ในงานแถลงข่าวการเสนอขายหุ้น IPO และเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยย้ำกลยุทธ์การสร้างเครือข่าย “ร้านสะดวกซื้อทางการเงิน” เปิดช่องทางให้ลูกค้าระดับชาวบ้านทั่วไปเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น

แน่นอนว่า “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” และ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” สร้างมหากาพย์การต่อสู้ในสงครามไมโครไฟแนนซ์อย่างยาวนาน ก่อนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาตัดสินใจรีแบรนดิ้ง บริษัท เงินติดล้อ ตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ออกจากแบรนด์เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมานี้เอง โดยปรับโลโกเหลือเพียง “เงินติดล้อ” พร้อมยิงหนังโฆษณาชุด “ขอโทษ” จากความสับสนระหว่างแบรนด์เงินติดล้อและสถาบันการเงินอื่นที่ใช้ชื่อคล้ายกัน เพราะสำรวจวิจัยการตลาดยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ใช้สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ทั่วประเทศ 57% เข้าใจผิดคิดว่า “เงินติดล้อ” เกี่ยวข้องหรือเป็นบริษัทเดียวกับผู้ให้บริการสินเชื่อบางราย

ทั้งนี้ “ศรีสวัสดิ์” เปิดฉากธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเมื่อเสี่ยเจ้าของธุรกิจอู่ซ่อมรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ “ฉัตรชัย แก้วบุตตา” ซึ่งมีเครือข่ายลูกค้าที่นำรถยนต์มาใช้บริการในอู่อยู่เป็นประจำ และส่วนใหญ่มักเจอปัญหาการติดต่อขอกู้เงินจากธนาคาร ตัดสินใจเปิดธุรกิจปล่อยเงินกู้ด้วยวิธีจำนำทะเบียนรถเป็นหลักประกัน โดยใช้ชื่อมารดา “ศรีสวัสดิ์ แก้วบุตตา” ตั้งบริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ เมื่อปี 2522 เริ่มต้นธุรกิจให้บริการสินเชื่อใน จ.เพชรบูรณ์ ใช้วิธีเดินสายไปยังพื้นที่ชุมชนต่างๆ จนเป็นที่รู้จักและกลายเป็นเจ้าตลาดในจังหวัด

ดำเนินธุรกิจเกือบ 20 ปี บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ สามารถขยายสาขาไปยังจังหวัดต่างๆ มากกว่า 130 สาขาทั่วประเทศ

ปี 2550 กลุ่มบริษัทเอไอเอ ซึ่งมี “เอไอจี” หรืออเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจประกันและผู้ให้บริการทางการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน เข้ามาเจรจาขอร่วมทุนกับกลุ่มศรีสวัสดิ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส ปลุกแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ทำตลาดทั่วประเทศ

ศึกช่วงชิงแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” ระเบิดขึ้นเมื่อกลุ่มเอไอจีเจอพิษวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า “แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส” ปี 2552 ต้องประกาศขายธุรกิจ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเวลานั้นมีกลุ่มจีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (GECIH) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สามารถฮุบซื้อกิจการ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ทั้ง 100%

ขณะที่กลุ่มแก้วบุตตาซึ่งพยายามเจรจาซื้อคืนกิจการจากเอไอจี แต่ล้มเหลว จึงพลิกเกมเปิดบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ ให้บริการสินเชื่อจำนำรถและสินเชื่อที่อยู่อาศัย ภายใต้สโลแกนใหม่ “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” เร่งขยายสาขาแบบปูพรมทั่วประเทศ เพื่อทวงคืนตลาดและฐานลูกค้า

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายดึงกลุ่มหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบทำให้ตลาดขยายมูลค่าหลายเท่า และมีผู้เล่นรายใหม่กระโดดเข้ามาแข่งขันมากขึ้น จนกระทั่งไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดศึกแย่งชิงแบรนด์กันอีกต่อไป

แต่หากค้นคำว่า “เงินติดล้อ” ในกูเกิลล่าสุด บริษัทเงินติดล้อยังต้องวงเล็บข้อความ “ไม่ใช่ศรีสวัสดิ์”กำกับอยู่

ส่วนบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 ซึ่งปัจจุบันปรับโครงสร้างเป็นบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยังเดินหน้าภายใต้แบรนด์ “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” และโลโก “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” รุกขยายตลาด

ในขณะที่บริษัทเงินติดล้อได้ผู้ถือหุ้นใหม่เป็นกลุ่มกองทุน CVC Capital Partners Asia Fund IV (CVC) และบริษัท Equity Partners Limited (EPL) โดย CVC Capital Partners เป็นกองทุนส่วนบุคคลและที่ปรึกษาด้านการลงทุน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 ปัจจุบันมีเครือข่ายสำนักงาน 24 แห่ง ในทวีปยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา โดยได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั่วโลก ทำให้ได้รับเงินทุน (commitment) จากนักลงทุนมากกว่า 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริหารสินทรัพย์มากกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกองทุนที่บริหารและให้คำปรึกษาได้ลงทุนในกว่า 50 บริษัททั่วโลก มีรายได้รวมเกินกว่า 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วน อิคิวตี้ พาร์ตเนอร์ เป็นกองทุนส่วนบุคคล เน้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย ก่อตั้งโดย แฮตตัน แคปปิตอล และทู ดับเบิ้ลยู กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจครอบครัวของตระกูลเจียรวนนท์ ปัจจุบันเน้นการลงทุนในกลุ่มบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน ตลาดกลุ่มอุปโภคและบริโภค อาหาร การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มโทรคมนาคม

ล่าสุด บริษัทเงินติดล้อมีสาขากว่า 770 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ 74 จังหวัด เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร

ด้านบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กำลังเร่งดีลดึงกลุ่มคาเธ่ย์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง เข้ามาร่วมถือหุ้นโดยกลุ่มคาเธ่ย์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง เป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของไต้หวัน มีทุนจดทะเบียนกว่า 1.6 แสนล้านบาท และสินทรัพย์รวมกว่า 10.17 ล้านล้านบาท

ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การเข้ามาของกลุ่มคาเธ่ย์ฯ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งฐานะทางการเงิน ความน่าเชื่อถือ และเสริมศักยภาพการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับการขยายธุรกิจผ่านฟินเทค และการขยายธุรกิจร่วมกันในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชีย

สำหรับปี 2561 ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมสิ้นปีนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท อัตราเติบโต 20-30% จากสิ้นปีก่อน และลุยเปิดสาขาใหม่อีก 100-200 แห่ง ปัจจุบันมีสาขารวม 2,600 แห่ง โดยธิดามั่นใจรายได้ปีนี้จะเติบโต 20-30% จากปีก่อน ที่มีรายได้ 6,999 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 อยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตเป็น Banking Agent เพื่อซัปพอร์ตการปล่อยสินเชื่อของบริษัทลูก โดยเฉพาะลูกค้าจะได้รับเงินสดทันที จากปัจจุบันที่บริษัทต้องโอนเข้าบัญชีลูกค้า

แม้ยังไม่มีใครยืนยันถึงเกมรุกขั้นต่อไประหว่าง “เงินติดล้อ” กับตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ “ซีพี” ที่มีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” มากกว่า 13,000 แห่ง แต่ทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยาและเครือซีพีต่างต้องการต่อยอดรุกตลาดสินเชื่อรายย่อยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมหาศาล

เอาแค่เริ่มต้น ตลาดได้พลิกโฉมครั้งใหญ่แน่

ใส่ความเห็น