วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > COVID-19 ถล่มค้าปลีกไทย วอนร้องรัฐเร่งช่วยเหลือด่วน

COVID-19 ถล่มค้าปลีกไทย วอนร้องรัฐเร่งช่วยเหลือด่วน

พิษจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบกระเทือนไปทุกแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรม โดยล่าสุดสมาคมค้าปลีกไทยเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ได้ออกมาเปิดเผยถึงตัวเลขผลกระทบที่ผู้ประกอบการค้าปลีกได้รับจากผลของการแพร่ระบาดและมาตรการป้องกันควบคุมโรคของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกไทยสูญเสียรายได้ไปมากกว่า 5 แสนล้านบาท จากผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมที่ชะงักตัวลง

ความสำคัญและเป็นไปของธุรกิจค้าปลีกไทย ซึ่งถือเป็นกลไกและฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นกลไกที่ครอบคลุมและเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตการค้าทั้งระบบตั้งแต่ผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ค้าปลีกรวมในระบบมากกว่า 1.3 ล้านราย และมีการสร้างงานโดยตรงมากกว่า 6.2 ล้านราย และเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบ และทำให้ดัชนีค้าปลีกของสมาคมค้าปลีกไทยปี 2563 ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 2.8 ในปี 2562 มาอยู่ที่ระดับติดลบที่ร้อยละ -12 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ดัชนีติดลบด้วยตัวเลข 2 หลัก

ความชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากผลของมาตรการควบคุมโรคของรัฐยังส่งผลต่อเนื่องมาสู่การคาดการณ์ตัวเลขในไตรมาสที่ 1/2564 หลังจากที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความหนักหน่วงและรุนแรงมากกว่าการแพร่ระบาดระลอกแรกและยังไม่มีแนวโน้มจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในเร็ววัน โดยคาดว่าดัชนีค้าปลีกไทยในไตรมาส 1/2564 จะยังหดตัวติดลบที่ระดับร้อยละ 7-8

ผลจากภาวะชะลอตัวดังกล่าวนี้ได้ส่งให้เกิดผลเสียหายในวงกว้างอย่างมาก โดยนอกจากจะเกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รายได้ลดลง และมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากทยอยปิดตัวลง ท่ามกลางกำลังซื้อที่หดหาย ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกไทยได้เรียกร้องให้กลไกภาครัฐเร่งเยียวยาในระบบค้าปลีกโดยเร็วที่สุดในฐานะที่เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นเร่งด่วนเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการเกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่องและทันที

ก่อนหน้านี้ สมาคมค้าปลีกไทยได้เคยเสนอให้รัฐนำมาตรการบรรเทาผลกระทบ COVID-19 เมื่อช่วงกลางปี 2563 พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกและศูนย์การค้าเป็นภาคธุรกิจสำคัญ ที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ และแรงงานบนเส้นทาง supply chain จำนวนมาก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต COVID-19 โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้นำเสนอวาระเร่งด่วนต่อภาครัฐในการฟื้นฟูธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเดินหน้า และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อหนุนเศรษฐกิจไทยให้ไต่ระดับฟื้นตัวในช่วงระยะเวลา 8-24 เดือนจากนี้

วิกฤต COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยให้อยู่ในภาวะหยุดชะงักอย่างฉับพลัน (Sudden Stop) โดยผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกจากการปิดเมือง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่บันเทิง สันทนาการ ร้านอาหาร ภัตตาคาร ทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการหยุดชะงัก ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกรกว่า 4 แสนราย ซึ่งเป็นห่วงโซ่สำคัญ ส่งผลให้ขาดรายได้ กระทบต่อหนี้ทางธุรกิจ และภาวะการว่างงาน การจ้างงานที่ไม่เต็มอัตราเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะมีกว่า 3-5 ล้านคน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีค้าปลีกไทยในไตรมาส 1/2563 ลดลงร้อยละ 3-7 โดยตัวเลขต่ำสุดอยู่ในไตรมาสที่ 2/2563 ซึ่งดัชนีติดลบมากถึงร้อยละ 20-50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ทั้งในภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ได้รับผลกระทบมากที่สุด

การผ่อนปรนมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในช่วงที่ผ่านมา กระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะทรงตัว แต่การเติบโตก็ยังไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิม และยังคงติดลบมากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าจะพลิกฟื้นกลับมาจุดเดิมคงต้องใช้เวลา 8-24 เดือน หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวมากหรือน้อย

ข้อเสนอเพื่อให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจค้าปลีกไทย ดำเนินไปด้วยการเสนอให้ภาครัฐทดลองเพิ่มทางเลือกสำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นการลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มการจ้างงานใหม่ในภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ โดยการจ้างงานประจำจะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มอัตราการจ้างงานแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือก และสอดรับการให้บริการในแต่ละช่วงของวันให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด ซึ่งภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา และ เพิ่มได้ถึง 200,000 อัตราในระยะยาว

ขณะเดียวกันยังเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือ SMEs โดยให้มีการปล่อยสินเชื่อ (Soft Loan) ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกร ทำให้เข้าถึงสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ซึ่งจะสามารถเข้าถึง SMEs เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย ได้โดยตรงและอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่ข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่าน E-Commerce/E-Marketplace ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจากข้อมูล ETDA มูลค่า E-Commerce มีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ไม่มีมาตรการเรื่องการเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ทำให้ SMEs ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่ง SMEs ไทยมีการเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก ถือว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade) และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบค้าปลีกไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศยังเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูงกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการ และควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย และราคาต่ำได้มากขึ้น ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาเป็นประจำส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่น ๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ นอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs

การพัฒนาดัชนีค้าปลีกให้สามารถรายงานข้อมูลและสถานการณ์รายเดือน เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดการบริโภคค้าปลีกภายในประเทศ อาจจะเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐในการกำหนดทิศทาง และนโยบายการบริโภคภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจเป็นอีกหนึ่งดัชนีสำคัญที่เพิ่มขึ้น เพื่อบ่งชี้ความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจค้าปลีกไทย แต่สิ่งที่สำคัญเฉพาะหน้าในขณะปัจจุบัน น่าจะอยู่ที่การเข้าช่วยพยุงสถานะของผู้ประกอบการค้าปลีกไทยให้อยู่รอด ควบคู่กับการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้ผู้บริโภคได้กลับมามีศักยภาพในการใช้จ่ายได้อีกครั้ง

เพราะการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกไทยแต่เพียงลำพังด้านเดียวอาจไม่สามารถกระตุ้นให้ดัชนีค้าปลีกกระเตื้องขึ้นมาได้หากผู้บริโภคไทยยังตกอยู่ในภาวะที่ขาดสภาพคล่องและจมอยู่ในกองภาระหนี้ครัวเรือนที่กำลังสั่งสมพอกพูนเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับอยู่ในขณะนี้

ใส่ความเห็น