วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > อนาคตของเยาวชน บนสถานการณ์ COVID-19

อนาคตของเยาวชน บนสถานการณ์ COVID-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานกว่า 1 ขวบปี และกระจายขยายตัวเป็นโลกระบาดขนาดใหญ่ซึ่งปกคลุมอาณาบริเวณและพื้นที่ทุกภูมิภาคของโลก นอกจากจะส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม การจ้างงาน ผลิตภาพทางธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อมิติทางการศึกษาและพัฒนาการของเยาวชนอย่างไม่อาจเลี่ยง

ความเป็นไปของ COVID-19 ได้ส่งผลให้โรงเรียนใน 192 ประเทศทั่วโลก ต้องปิดการเรียนการสอนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยอาศัยเทคโนโลยีเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านแทน ซึ่งการระงับการเรียนการสอนตามปกติได้ส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษาจำนวนรวมมากกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลก และมีนักเรียนอีกไม่ต่ำกว่า 870 ล้านคนใน 51 ประเทศ ที่ยังไม่สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติอีกด้วย

กรณีดังกล่าวทำให้กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ : UNICEF ระบุว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดวิกฤตทางด้านการศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยนักเรียนไม่น้อยกว่า 24 ล้าคน มีความเสี่ยงที่จะต้องหลุดออกจากระบบและวงจรการศึกษาอย่างถาวร เพราะเมื่อนักเรียนไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนได้นานมากเท่าไร โอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการเปิดโรงเรียนเมื่อมาตรการต่างๆ มีการผ่อนปรนลง

เพราะการไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อเยาวชน และเพิ่มความเสี่ยงที่เยาวชนจะเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงทั้งด้านร่างกาย และอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพจิต รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่เยาวชนจะต้องเจอกับปัญหาด้านการใช้แรงงานเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ และไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้

ประเด็นที่น่าสนใจที่ UNICEF ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของโรงเรียนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในฐานะที่โรงเรียนเป็นสถานที่ที่อำนวยการศึกษาเรียนรู้ให้กับเยาวชนเท่านั้น หากแต่โรงเรียนยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งโภชนาการด้านอาหารให้กับเด็กนักเรียนในหลายสังคมและหลายพื้นที่ของโลกอย่างมีนัยสำคัญ การที่เด็กนักเรียนและเยาวชนต้องหยุดอยู่บ้าน ยิ่งทำให้นักเรียนในครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายอาหารกลางวันไปโดยปริยาย

ทางออกของวิกฤตการศึกษาในสถานการณ์ COVID-19 ในห้วงเวลาปัจจุบัน อาจจะอยู่ที่การเรียนออนไลน์ แต่ความจริงแล้วการเรียนออนไลน์ก็ไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้ และข้อเท็จจริงประการสำคัญก็คือ มีนักเรียนอีกไม่น้อยกว่า 460 ล้านคนทั่วโลก ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือไว้ใช้สำหรับเรียนออนไลน์ ซึ่งการจัดสรรและการกระจายทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขาดแคลนบุคลากรครู และอุปกรณ์ทางการศึกษายังคงเป็นปัญหาที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมระหว่างนักเรียนหรือเยาวชนในเขตเมืองกับเขตชนบทค่อนข้างสูง

ข้อน่าสังเกตในกรณีของประเทศไทยว่าด้วยการเรียนที่บ้านในด้านหนึ่งจึงเป็นเหมือนการผลักภาระให้ผู้ปกครอง ซึ่งอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น หากผู้ปกครองไม่มีความพร้อมในการช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีนักเรียนกว่า 8 หมื่นคนอยู่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง รวมไปถึงโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในต่างจังหวัด ที่คุณครูก็ยังไม่มีความคุ้นชินกับโปรแกรมต่างๆ รวมถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่ดีนัก เพราะประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์ค่อนข้างสูง

แม้ความไม่เท่าเทียมนั้นจะมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม แต่ในประเทศไทย พบว่ามีความเหลื่อมล้ำในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อสำรวจความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนและคอมพิวเตอร์ พบว่า เด็กในเขตเมืองส่วนใหญ่มีความพร้อมกว่าร้อยละ 70 ขณะที่เด็กนักเรียนในเขตชนบทมีความพร้อมเพียงร้อยละ 45 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

ขณะเดียวกันการสำรวจผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กไทยในช่วง COVID-19 โดยใช้ดัชนีชี้วัด 3 ด้าน ประกอบด้วย การปรับตัวในการสอนของครู ระเบียบวินัยในห้องเรียน และคุณภาพการเรียนการสอน พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในกลุ่มโรงเรียนที่ด้อยโอกาสจะมีดัชนีชี้วัดทั้ง 3 ข้อนี้ ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน

นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแก (bully) ในโรงเรียน ยังพบว่า เด็กนักเรียนไทยมีอัตราการถูกกลั่นแกล้งรังแกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ทำให้เด็กไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ไม่มีความสุขในการไปโรงเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการอ่านที่ลดต่ำลงตามไปด้วย

ความเปราะบางของสถานการณ์ COVID-19 ที่ดูจะมีผลอย่างมากต่อเยาวชนในลำดับต่อไปอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่เปิดเผยออกสู่สาธารณะโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งระบุว่า GDP ของไทยน่าจะติดลบ ร้อยละ -8.1 และมีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 8-12 เท่า ซึ่งเป็นอัตราว่างงานสูงสุดในรอบ 20 ปี และเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยหนึ่งในกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเยาวชน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ นักเรียน และเด็กด้อยโอกาส ที่เสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบการศึกษา และมีแนวโน้มตกลงสู่ความยากจนมากขึ้นในที่สุด

สอดคล้องกับรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่าผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้อัตราการว่างงานจะสูงถึงร้อยละ 3-4 จากเดิมเฉลี่ยที่ร้อยละ 1 บ่งชี้ว่าแรงงานเยาวชนจะประสบปัญหาการว่างงานรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากเดิมเยาวชนมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 5 หรือเกือบ 5 เท่าของแรงงานผู้ใหญ่ และเนื่องจากตำแหน่งงานหดตัวไปมากอันเป็นผลจาก COVID-19 จนไม่พอรองรับบัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ และที่สะสมในปีก่อนๆ มีมากกว่า 5 แสนคน และคาดว่าจะมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ

วิกฤต COVID-19 ทำให้ปัญหาเยาวชนกลุ่ม NEET ยิ่งน่าเป็นห่วง เยาวชนว่างงานและนอกระบบการศึกษา หรือกลุ่ม NEET (Youth not in education, employment, or training) ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO นิยามว่าหมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม ซึ่งในสังคมไทยยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก

โดยจากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย กลุ่ม NEET ประกอบด้วยเยาวชนที่ 1. ทำงานบ้าน 2. อยู่ว่าง หรือกำลังพักผ่อน 3. ยังเด็ก ป่วย พิการ จนทำงานไม่ได้ และ 4. ว่างงาน โดยในปี 2562 ไทยมีจำนวนกลุ่ม NEET มากถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14 ของเยาวชนไทย และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 1 สวนทางกับจำนวนเยาวชนไทยที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ในทศวรรษที่ผ่านมา

การถูกละเลยจากระบบการศึกษาและการจ้างงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยยังไม่รองรับกลุ่มเด็กเรียนรู้ช้า (Slow Learner) และผู้บกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities) ทำให้เด็กบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งการเรียนออนไลน์จะเป็นอุปสรรคใหม่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ อีกทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุงานที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามทำ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่านายจ้างสามารถจ้างเยาวชนในตำแหน่งใดได้บ้าง ทำให้นายจ้างมักหลีกเลี่ยงการจ้างงานเยาวชน

นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 65 ของกลุ่ม NEET เป็นเพศหญิง และมีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งจากสถิติพบว่าร้อยละ 80 ของกลุ่ม NEET คือเพศหญิงทำงานบ้าน โดยกว่าครึ่งมีสถานภาพสมรส และสำเร็จการศึกษาเพียงระดับมัธยม สอดคล้องกับโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ปี 2558-2559 พบว่าร้อยละ 88 ของนักเรียนหญิงออกกลางคันด้วยสาเหตุตั้งครรภ์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ข้อเท็จจริงจากเหตุที่เกิดขึ้นนี้ กลไกรัฐไทยจึงจำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรให้มากขึ้นกว่านี้ เพื่อให้เยาวชนได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง และสร้างโอกาสให้เยาวชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เกิดการพัฒนาเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศ ไม่จมปลักกับความยากจน รวมไปถึงมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลายและกลายเป็นปัญหาสังคมในระยะยาว

ใส่ความเห็น