วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > ค่ายหนัง เกิด-ดับ สู้กระแสต่างชาติ ฮอลลีวูด

ค่ายหนัง เกิด-ดับ สู้กระแสต่างชาติ ฮอลลีวูด

หากพูดถึงบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ของไทยมีหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น “สหมงคลฟิล์ม” ก่อตั้งเมื่อปี 2513 โดย สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ แรกเริ่มทำธุรกิจจำหน่ายภาพยนตร์ ต่อมาลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ปี 2516 ได้แก่ นี่แหละสิ่งที่ข้าต้องการ, คุ้งตะเคียน, มารรัก, ตลาดพรหมจารี, เศรษฐีถังแตก, ดาร์บี้ และผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่าสิบเรื่อง นอกจากนี้ ร่วมกับพันธมิตรสร้างหนัง เช่น บั้งไฟ ฟิล์ม ของเพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก เช่น บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม และ แหยม ยโสธร ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท

“พร้อมมิตร โปรดักชั่น” เดิมชื่อ พร้อมมิตรภาพยนตร์ ก่อตั้งโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย ชื่อบริษัทมาจากชื่อซอยที่ตั้งของวังละโว้และโรงถ่ายของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ มีโรงถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดใหญ่ พร้อมมิตร สตูดิโอ ที่ ต. ลาดหญ้า อ. เมือง จ. กาญจนบุรี ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทยและละครโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 2512 จนถึงปัจจุบันผลงานเด่น ๆ ได้แก่ สุริโยไท และหนังชุดตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ช่วงปี 2550-2557

“ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น” ของ เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ก่อตั้งเมื่อปี 2516 เดิมชื่อว่า บริษัทนิวไฟว์สตาร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ซึ่งหนังแทบทุกเรื่องได้รับความนิยมมาก เช่น ขุนศึก, ลูกอีสาน, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, บุญชู, น้ำพุ, วัยระเริง, อนึ่งคิดถึงพอสังเขป, กลิ่นสีและกาวแป้ง, กว่าจะรู้เดียงสา, ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44, คู่กรรม, อำแดงเหมือนกับนายริด, หวานมันส์ฉันคือเธอ, ด้วยเกล้า, หลังคาแดง, ฟ้าทะลายโจร, มนต์รักทรานซิสเตอร์

แต่เมื่อเกียรติถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2524 เจริญ เอี่ยมพึ่งพร บริหารงานต่อจนเสียชีวิตในปี 2555 ปัจจุบันบริหารงานโดย เกียรติกมล และอภิรดี เอี่ยมพึ่งพร บุตรของเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร

บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นจากคณะละครวิทยุของสามีภรรยาตระกูลกัลย์จาฤกที่แยกออกมาจากคณะกันตถาวรเมื่อปี 2494 และเริ่มทำละครโทรทัศน์ป้อนสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ก่อน ปี 2503 ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ มอบบทประพันธ์ละครวิทยุให้บริษัทภาพยนตร์สร้างหลายเรื่อง เช่น ตุ๊กตาผี, สุรีย์รัตน์ล่องหน, บันทึกรักพิมฉวี และมีบางเรื่องที่กันตนาร่วมสร้างด้วย เช่น ผีพยาบาท, เพชรตาแมว แต่ประดิษฐ์ตัดสินใจหยุดผลิตหลังเจอปัญหาการขายหนังผ่านตัวแทน

ปี 2546 กันตนากรุ๊ปจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการแบ่งสายงานธุรกิจรายการละครโทรทัศน์ สายธุรกิจภาพยนตร์-แอนิเมชัน และสายธุรกิจการศึกษา พร้อมพัฒนาโครงการกันตนา มูฟวี่ ทาวน์ ใน อ. พุทธมณฑล จ. นครปฐม พื้นที่ 800 กว่าไร่ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท

นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ หรือ นนทนันท์ ก่อตั้งโดย อานนท์ อัศวานันท์ เดิมใช้ชื่อ กรุงเกษมภาพยนตร์ หรือ กรุงเกษม เอนเตอร์เทนเมนต์ มีผลงาน เช่น คู่กรรม 2, เพื่อเพื่อน เพื่อฝัน เพื่อวันเกียรติยศ รวมถึงมีกิจการโรงภาพยนตร์ ได้แก่ แอมบาสเดอร์ รามา โอเดียน และ NK THX

ต่อมา นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ปิดกิจการและเปลี่ยนเป็นบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส นำเข้าภาพยนตร์ฮอลลีวูด จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์วีซีดีและดีวีดี โดยควบรวมกิจการกับเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป มี วิชา พูลวรลักษณ์ ถือหุ้นใหญ่

มาถึงค่ายหนังที่คนรุ่นใหม่ต้องรู้จัก คือ จีเอ็มเอ็ม ไท หับ (จีทีเอช) เป็นกลุ่มอดีตบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์ไทยในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เกิดขึ้นหลังจากจีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และหับโห้หิ้น ฟิล์ม ร่วมกันสร้างภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน เมื่อปี 2546 และประสบความสำเร็จอย่างสูง จึงรวมตัวเป็นบริษัทเดียวกัน

GTH คือ G จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ H หับโห้หิ้น ฟิล์ม (ในเครือแกรมมี่) ของ จิระ มะลิกุล และ T ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ของ วิสูตร พูลวรลักษณ์ โดยหนังทำรายได้ดีแทบทุกเรื่อง เช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, ห้าแพร่ง, รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, กวนมึนโฮ, ลัดดาแลนด์, ATM เออรักเออเร่อ, พี่มากพระโขนง, คิดถึงวิทยา, ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้

อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 พ.ย. 2558 มีการแถลงยุติการดำเนินงานเนื่องจากกลุ่มผู้ก่อตั้งคิดเห็นไม่ตรงกันในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และหับโห้หิ้น แยกมาเปิดบริษัทใหม่ คือ จีดีเอช ห้าห้าเก้า มีบริษัท จอกว้าง ฟิล์ม เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ เรื่องแรก คือ สายลับจับบ้านเล็ก และมีผลงานเรื่อยมา

ส่วนไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ร่วมกับกลุ่มโมโนเปิดบริษัท ที โมเมนต์

นอกจากนี้ มีอีกหลายค่าย เช่น ฟิล์ม บางกอก ในเครือ บีอีซี เทโร มีผลงานสร้างชื่อคือ บางระจัน แต่ปัจจุบันปิดตัวแล้ว ซึ่งค่ายหนังส่วนใหญ่ต้องฝ่าฟันทั้งพิษเศรษฐกิจและกระแสหนังต่างชาติ.

ใส่ความเห็น