วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > จีดีพี หดตัว-อสังหาฯ ซบเซา สัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทย

จีดีพี หดตัว-อสังหาฯ ซบเซา สัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทย

ความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุด ดูจะเป็นประจักษ์พยานและดัชนีชี้วัดความสำเร็จ-ล้มเหลวของการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบห่งชาติ (คสช.) ในช่วงระยะเวลาตลอด 5 ปีหลังเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานะใหม่ในรัฐบาลชุดหน้า หลังสิ้นวาระลงจากผลของการเลือกตั้งและการเปิดประชุมรัฐสภาที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้

ความตกต่ำย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ได้รับการแถลงยืนยันโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในช่วงไตรมาส 1/2562 เติบโตในระดับร้อยละ 2.8 ซึ่งนับเป็นการเติบโตในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส บ่งบอกถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงการบริหารงานของ คสช. ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าตลอดระยะเวลาก่อนหน้ากลไกรัฐจะพยายามสื่อสารกับสาธารณะว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและอยู่ในสภาพที่ดีขึ้นก็ตาม

ความจำเริญแบบถดถอยลงทางเศรษฐกิจไทยในลักษณะที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ต้องมีการปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจลงอีก จากเดิมที่คาดว่าจะคงการเติบโตตลอดทั้งปีไว้ได้ที่ระดับร้อยละ 4 มาเหลือเพียงการเติบโตในระดับร้อยละ 3.3-3.8 ในปี 2562 เท่านั้น ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่นๆ ที่อาจฉุกกระชากให้ต้องมีการปรับลดเป้าการเติบโตอีกสำหรับอนาคต

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้จีดีพีของไทยในไตรมาส 1/2562 ตกต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ได้รับการอธิบายในลักษณะที่เกือบจะกลายเป็นสูตรสำเร็จว่าเป็นผลจากการที่การส่งออกของไทยชะลอตัวลงจากแรงกดดันของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ควบคู่กับการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่า ปัจจัยทางการเมืองว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะช่วยให้เกิดการผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณครั้งใหม่ ที่อาจช่วยคลี่คลายสถานการณ์ตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ได้บ้าง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในระดับร้อยละ 2.8 ในไตรมาส 1/2562 ที่ฉุดให้คาดว่าตลอดทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับร้อยละ 3.3-3.8 นับเป็นการขยายตัวเติบโตในระดับต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนประเทศอื่นๆ ซึ่งขยายตัวในระดับเฉลี่ยร้อยละ 6-9 ขณะที่ไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. และความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ประเด็นว่าด้วยวิกฤตจากกรณีพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่หลายฝ่ายประเมินว่ากำลังก่อให้เกิดสงครามทางการค้ารุนแรงในอนาคต ในอีกด้านหนึ่งถือเป็นโอกาสในการดึงดูดผู้ประกอบการและนักลงทุนจากต่างประเทศทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และชาติยุโรปตะวันตก ให้หันมาสนใจขยายการลงทุนในประเทศที่สามมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการที่เวียดนามอาศัยโอกาสดังกล่าวในการได้สร้างประโยชน์อย่างเต็มที่ และมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยกลับลดลง ทั้งๆ ที่กลไกรัฐไทยเชื่อมั่นว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยดีกว่าเวียดนามก็ตาม

ความสำคัญของการส่งออกของไทยซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แม้จะเป็นประหนึ่งจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ก็ดูจะเป็นประเด็นเปราะบางในท่ามกลางสถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะ เพราะสินค้าหลักๆ ในการส่งออกของไทย ล้วนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มไอที แต่ผู้ควบคุมนโยบายทางเศรษฐกิจภาครัฐกลับพยายามปลอบประโลมนักลงทุนและนักธุรกิจ ให้ไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องด้วยเชื่อว่าฐานะทางเศรษฐกิจของไทยยังคงเข้มแข็ง

ความถดถอยทางเศรษฐกิจไทยในอีกด้านหนึ่งยังได้รับการประเมินว่าเป็นผลมาจากการชะลอตัวซบเซาลงของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 11-12 ของจีดีพี แต่ในห้วงเวลาปัจจุบันกลับถดถอยลง โดยภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมียอดจำหน่ายติดลบอยู่ที่ระดับร้อยละ 18 ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมถดถอยหนักสุดด้วยยอดจำหน่ายติดลบถึงร้อยละ 25 เลยทีเดียว

กรณีว่าด้วยความซบเซาลงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ปรากฏอยู่นี้ ได้รับการประเมินว่าเป็นผลมาจากมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาล่าสุด กลับไม่มีผลต่อการช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ และผู้ประกอบการคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะหามาตรการออกมากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม ซึ่งหากกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาถดถอยลงอย่างมากนี้ ทำให้ผู้ประกอบการบางบริษัทประกาศขายห้องชุดหลุดโอนผ่านเว็บไซต์ และต้องให้โครงการตรวจสอบสินเชื่อก่อนแล้วจึงอนุมัติให้จองห้องชุดได้ หรือบางบริษัทต้องทำโปรโมชั่นทั้งลดราคาและเติมเงินดาวน์ ไปจนถึงแถมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อหวังระบายสต๊อกห้องชุดที่มีเหลืออยู่จำนวนมาก

ความพยายามของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในการกระตุ้นยอดจำหน่าย ดูจะวิ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงว่าด้วยความสามารถในการซื้อบ้านของคนไทยที่ส่งสัญญาณลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนราคาบ้านต่อรายได้ของครอบครัวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (AREA) ระบุว่า ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา (ปี 2550-2561) สัดส่วนราคาบ้านต่อรายได้ของครอบครัว เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ต่อปี ในขณะที่รายได้ต่อครัวเรือนของชาวกรุงเทพมหานครไม่ได้เพิ่มขึ้น ในทางกลับกันมีแนวโน้มลดลงอีกด้วย ซึ่งทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนจึงลดลงไปด้วย

ปัญหาความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน มีแนวโน้มที่จะวิกฤตมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการหลั่งไหลเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้นของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยกว่าร้อยละ 20 อิงอยู่กับผู้ซื้อต่างชาติ ทำให้ราคาบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีก และผลักให้ความสามารถในการซื้อบ้านของคนไทยลดลงตามไปด้วย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลาเช่นนี้ ดูจะเป็นสิ่งที่แต่ละฝ่ายควรให้ความสำคัญมากกว่าประแด็นว่าด้วยความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้สมการแห่งอำนาจที่กำลังดำเนินอยู่ทั้งภายในและภานนอกรัฐสภาเสียอีก เพราะปัจจัยการเมืองในประเทศ ดูจะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ เพราะหลายๆ โครงการลงทุนผ่านขั้นตอนการประมูลและจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว ประเด็นที่น่ากังวลจากนี้อยู่ที่ว่าการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดขึ้นอย่างไรและมีทิศทางไปในแนวไหน

ใส่ความเห็น