วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > “ชาวเกาะ” ไม่หวั่นการเมืองไทย เพิ่มการผลิตลุยตลาดโลก

“ชาวเกาะ” ไม่หวั่นการเมืองไทย เพิ่มการผลิตลุยตลาดโลก

 
จากจุดเริ่มธุรกิจขายส่งและปลีกมะพร้าวลูก ของสองสามีภรรยา อำพล-จรีพร เทพผดุงพร บริเวณตลาดท่าเตียน  เมื่อ 50 ปีก่อน ฝ่าฟันวิกฤต ผนวกกับการมองการณ์ไกลของอำพล ที่ว่าอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะการแปรรูปอาหาร น่าจะเป็นที่ต้องการในประเทศและโลกในอนาคต   
 
ทั้งนี้ อำพลได้เตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจโดยส่งบุตรธิดาไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยเน้นที่หลักการผลิตและแปรรูปผลิตผลการเกษตรให้ออกมาเป็นอาหารสำเร็จรูป 
 
และเมื่อบุคลากรพร้อม วัตถุดิบพร้อม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง “บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด” ในปี  2519 โดยตั้งอยู่บนเนื้อที่ 28 ไร่บนถนนพุทธมณฑลสาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมด้วยงบลงทุน 25 ล้านบาท  และเริ่มผลิตกะทิสำเร็จรูปภายใต้ แบรนด์ “กะทิชาวเกาะ” ในรูปแบบของกะทิพาสเจอร์ไรซ์บรรจุถุง กะทิกระป๋อง และกะทิผง
 
แม้ในช่วงแรกจะไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดในประเทศมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าล้ำหน้าสังคมไทยอยู่มาก แต่ในทางกลับกัน กะทิชาวเกาะกลับแจ้งเกิดในต่างแดน โดยเฉพาะร้านอาหารไทย เนื่องจากความสะดวกสบาย และหลังจากนั้นความนิยมชมชอบก็กลับมายังผู้บริโภคไทยในเวลาต่อมา
              
กว่า 38 ปี ของบริษัท เทพผดุงพร ที่ผลิตและขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสินค้าแปรรูปการเกษตรเพื่อส่งออก ภายใต้แบรนด์  “ชาวเกาะ” “แม่พลอย”  และแบรนด์  “ยอดดอย” ด้วยผลิตภัณฑ์กว่า 200 ชนิด โดยผลิตจากโรงงาน  2 แห่ง ในจังหวัดนครปฐม เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดไทยและตลาดโลก ด้วยจำนวนพนักงานประมาณ  1,700 คน ภายใต้การบริหารงานแบบมืออาชีพในรูปแบบธุรกิจครอบครัว  Family Business      
 
ด้วยปริมาณความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจนผลิตสินค้าออกไม่ทัน  “ชาวเกาะ” ได้ประกาศทุ่มงบลงทุนในปีนี้ 400 ล้านบาทโดย 300 ล้านบาทจะลงทุนซื้อเครื่องจักร 4  เครื่อง และเพิ่มไลน์ขยายกำลังการผลิตกะทิ และน้ำมะพร้าวยูเอชที โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 30,000 ตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ เครื่องจักรใหม่นี้จะสามารถติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ในกลางปีนี้ และคาดว่าจะสามารถผลิตได้ประมาณไตรมาสที่  3 ของปีนี้
 
ในขณะเดียวกัน ชาวเกาะได้ทุ่มงบลงทุนอีก 100 ล้านบาทเพื่อสร้างคลังสินค้า 2 แห่งที่จะสามารถสต๊อกสินค้าได้อีก 15,000 ตันต่อปี ซึ่งคลังสินค้าใหม่นี้จะช่วย support บริษัทฯ ไม่ให้สินค้าขาดตลาด
 
อภิศักด์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ได้เปิดเผยถึงการลงทุนในครั้งนี้ว่า เป็นส่วนสำคัญของแผนการผลิต ที่จะช่วยขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทโดยบริษัทได้ตั้งเป้าอัตราการเติบโตให้ได้ไม่น้อยกว่า 10% โดยในปีนี้จะเน้นการขยายตลาดในจีน และประเทศแถบละตินอเมริกา ด้วยแบรนด์  “ชาวเกาะ” โดยมีสินค้าหลักเป็นกะทิสำเร็จรูป น้ำมะพร้าว และผักผลไม้กระป๋อง และแบรนด์ “แม่พลอย” จะมีน้ำจิ้มไก่ น้ำพริกแกง และเครื่องปรุงรสต่างๆ นอกจากนี้ ชาวเกาะยังจะพัฒนาสินค้าใหม่ประเภทน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย เนื่องจากกำลังเป็นที่นิยมของตลาดโลก
 
แบรนด์ “ชาวเกาะ” ยังเป็นที่นิยมของคนเอเชียในต่างประเทศ โดยเฉพาะออเดอร์จากอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ของเรา จากการเดินทางไปดูตลาดทำให้พบว่าสินค้าของเราขาดตลาด” อภิศักดิ์กล่าว ซึ่งเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวเกาะทุ่มงบลงทุนมากเป็นพิเศษในปีนี้ ในขณะที่ปกติก็มีการลงทุนสม่ำเสมออยู่แล้ว
 
ในขณะที่ยอดขายในปีที่ผ่านมาอยู่ที่  4,500 ล้านบาท  โดย 70% อยู่ที่แบรนด์ชาวเกาะ 29%  จากแบรนด์แม่พลอย  และอีก 1% เป็นแบรนด์ชาวดอย ซึ่งรายได้ปีที่แล้วเติบโตเพียง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้า  ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ คือมะพร้าวนั่นเอง เนื่องจากประมาณปลายปี 2553 เกิดวิกฤตโรคระบาดมะพร้าว ประกอบกับภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตมะพร้าวน้อยลง 
 
“อาจมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งปีนี้คาดว่าน่าจะดี ขึ้น ปัญหาแรงงาน หรือเทคโนโลยีการผลิตก็มีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว แต่ปัญหาที่ผมกังวลมากที่สุด คือการไม่มีวัตถุดิบ ขณะที่ปัญหาด้านเมืองนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ต้องส่งออก ผมไม่กังวล ผมกังวลเรื่องการไม่มีวัตถุดิบในการผลิตมากกว่า  ทั้งนี้ เราได้แก้ไขปัญหานี้โดยนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปีที่แล้ว” อภิศักดิ์กล่าว
 
จากผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารประเภทกะทิสำเร็จรูปเป็นอันดับหนึ่งของโลก และมีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ประมาณ  30% โดยคู่แข่ง  80% มาจากไทยด้วยกัน ขณะที่  20% มาจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา   
 
ขณะที่สัดส่วนการส่งออกต่างประเทศกับการจำหน่ายในไทย ในอัตราร้อยละ 80 : 20 ครอบคลุมลูกค้ากว่า  27 ประเทศทั่วโลก โดยมีสัดส่วนการจัดจำหน่ายในตลาดหลัก ร้อยละ 55 ส่งออกอเมริกาและแคนาดา รองลงมาคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะ ร้อยละ 16 กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก (รวม จีน ญี่ปุ่น) ร้อยละ 15 และทวีปยุโรป ร้อยละ 13 ในปีนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 5,000 ล้านบาท
 
ปัจจุบันอาหารไทยเป็นที่ชื่นชอบ แพร่หลายและเติบโตในตลาดโลก ความต้องการความเข้มข้น กลมกล่อม ของกะทิแท้ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของรสชาติอาหารก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ตอกย้ำคำกล่าวที่ว่า “กะทิชาวเกาะ คู่ครัวทั่วโลก” นั่นเอง