วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > Battery of Asia กับสิ่งที่ต้องแลกของ สปป.ลาว

Battery of Asia กับสิ่งที่ต้องแลกของ สปป.ลาว

เหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในเมืองสนามชัย แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว แตกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวลาวและผู้คนที่ติดตามข่าวสารไม่น้อย ทั้งภาพการหนีน้ำของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ภาพความเสียหายที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ชาวลาวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมากถึง 11,700 คน และกว่า 6,000 คน ต้องอพยพจากบ้านเรือนไปพักอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตประมาณ 30 คน และสูญหายกว่า 130 คน

โครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท SK Engineering & Construction ถือหุ้น 26 เปอร์เซ็นต์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาล สปป.ลาว ถือหุ้น 24 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้เขื่อนที่แตกจนสร้างผลกระทบวงกว้างเป็นเขื่อนดินย่อยส่วน D ซึ่งเป็นเขื่อนเล็กที่อยู่ล้อมรอบเขื่อนหลัก โดย กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ให้ข้อมูลหลังเกิดเหตุว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่กระทบกับเขื่อนหลัก และจะไม่มีผลต่อกำหนดการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ที่พร้อมจะผลิตกระแสไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562”

คำถามที่ตามมา อะไรคือสาเหตุแห่งหายนะครั้งนี้ จะด้วยภัยธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝนที่มากเกินกว่าที่เขื่อนบริเวณดังกล่าวจะรองรับได้ หรือการขาดมาตรฐานในการก่อสร้าง แน่นอนว่าคำตอบของคำถามยังคงต้องค้นหากันต่อไป

เมื่อยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ในที ระหว่างกรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH ซึ่งให้ความเห็นต่อสาเหตุที่เขื่อนแตกว่า เป็นเพราะปริมาณน้ำที่มากเกินกำหนด ขณะที่ภาครัฐของ สปป.ลาว มองว่าเป็นเพราะการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน

หากแต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เราต้องย้อนกลับมาดูต้นสายปลายเหตุของเป้าหมายสำคัญของ สปป.ลาว ต่อความพยายามในการเป็น Battery of Asia

ในกลุ่มประเทศ CLMV สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทั้งการมีแหล่งแร่ที่เสมือนขุมทรัพย์ใต้ดิน ป่าไม้นานาพรรณ และภูมิประเทศที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเหมาะแก่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า

นอกจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของ สปป.ลาว แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย คือ การเปลี่ยนรูปแบบทางสังคม ซึ่งแต่เดิมนั้น สปป.ลาว เป็นสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้ สปป.ลาว ต้องทรานสฟอร์มสู่การเป็นสังคมเกษตรกรรมเพื่อการส่งออกและการแปรรูป นั่นคือการเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยขึ้น และเพื่อให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว “พลังงาน” ถือเป็นคำตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

และยุทธศาสตร์แบตเตอรี่แห่งเอเชียดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหลายฉบับ ที่ถูกดำริขึ้นภายใต้การนำของรัฐบาลสมัยท่านไกสอน พมวิหาน อดีตนายกรัฐมนตรี

นั่นทำให้เราได้รับทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของ สปป.ลาว อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเป้าหมายน่าสนใจที่ว่า การที่ สปป.ลาว จะต้องหลุดพ้นจากกับดักความยากจนและการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 ด้วยการเป็น “Battery of Asia” และต้องมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ถึง 2 หมื่นเมกะวัตต์ต่อปี

ถ้าจะกล่าวว่า สปป.ลาว กำลังเติบโตขึ้นอย่างเงียบๆ ก็ดูจะไม่ผิดนัก หากจะพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นนับจากการเปิดเผยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นับตั้งแต่การประกาศใช้ยุทธศาสตร์แบตเตอรี่แห่งเอเชีย เป็นผลให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย เริ่มตอบสนองนโยบายสำคัญของ สปป.ลาว ด้วยการลงนามในสัญญาก่อสร้างเขื่อน รวมไปถึงการซื้อขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพื้นที่ของ สปป.ลาว นับเป็นความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่ายมาอย่างยาวนานต่อเนื่องหลายสิบปี

ปัจจุบัน สปป.ลาว มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการไปแล้วกว่า 42 แห่ง และด้วยภูมิประเทศที่มีแม่น้ำสำคัญหลายสายรวมไปถึงแม่น้ำสาขา ทำให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมากถึง 39 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าที่ผลิตได้จากชานอ้อย

แน่นอนว่า หากจะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย จำนวนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ 40 กว่าแห่งดูจะยังไม่เหมาะสมเพียงพอที่จะทำให้ สปป.ลาว เดินทางไปสู่เป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์

เมื่อขณะนี้ใน สปป.ลาว ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างอีก 53 แห่ง ซึ่งหากการดำเนินการก่อสร้างเป็นไปตามกรอบกำหนดเวลาเดิม ภายในปี 2563 สปป.ลาว จะมีจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมากกว่า 90 แห่ง

และคงไม่ต้องรอให้ถึงการเปิดเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าแบบเต็มสูบทุกแห่ง น่าเชื่อเหลือเกินว่า สปป.ลาว จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2 หมื่นเมกะวัตต์ต่อปี

แม้จะมีการคาดการณ์ว่า หากโรงไฟฟ้าทุกแห่งใน สปป.ลาว เดินเครื่องเต็มกำลัง ประเทศเล็กๆ ในสายตาชาวโลกแห่งนี้น่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 26,000 เมกะวัตต์ต่อปี

ซึ่งตรงกับความต้องการของลาวที่พยายามจะผลักดันให้กระแสไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ และประเทศที่รับซื้อมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิต คือ ประเทศไทย

นั่นเพราะจำนวนประชากรของ สปป.ลาว ที่มีประมาณ 6.5 ล้านคน มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพียง 11 เปอร์เซ็นต์จากกำลังผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 1,579 เมกะวัตต์

เส้นทางสู่การเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียของ สปป.ลาว คงจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เมื่อพิจารณาจากอัตราเร่งที่ต้องการให้ไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกหลัก และการมีลูกค้ารายใหญ่อย่างไทย ที่รอซื้อทุกหน่วยตามที่ตกลงกันไว้ใน MOU

เมื่อประเทศไทยมีการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคตว่ามีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2579 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่า ความต้องการไฟฟ้าของไทยจะสูงถึง 49,655 เมกะวัตต์ และการมีตลาดที่มีไฟฟ้ารอขายอย่าง สปป.ลาว จึงสอดรับกับความต้องการของไทยอย่างยิ่ง

แม้ว่าปัจจุบันเป้าหมายของ สปป.ลาว จะยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่การมีไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกหลักก็นำมาซึ่งรายได้ที่มีอัตราเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่สร้างปัญหาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็น่าจะทำให้รัฐบาลของ สปป.ลาว ต้องขบคิดเพิ่มว่า เขื่อนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีโอกาสที่จะประสบเหตุอันนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศได้หรือไม่

ความเสียหายที่เกิดจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่เป็นประวัติศาสตร์ หากแต่ในรอบ 3 ปี เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันมาแล้วถึง 3 ครั้ง นั่นคือ ครั้งล่าสุดเกิดกับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย และปีก่อนหน้า วันที่ 11 กันยายน 2560 เกิดขึ้นที่เขื่อนน้ำอ้าว เมืองผาไซ เชียงขวาง และปี พ.ศ. 2559 ในวันที่ 16 ธันวาคม เกิดเหตุที่เขื่อนเซกะมาน 3 เมืองดากจัง แขวงเซกอง

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หมุดหมายของ สปป.ลาว ที่จะสยายปีกในภูมิภาคอาเซียนกับการเป็น Battery of Asia จะสะดุดลงเพราะเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกหรือไม่ เมื่อกำหนดเวลาที่ตั้งไว้กำลังเดินทางมาถึงในอีกไม่กี่ปี

แน่นอนว่าเขื่อนแตกครั้งล่าสุดเป็นบทเรียนสำคัญให้รัฐบาล สปป.ลาว และบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ไม่มากก็น้อย เพราะนอกจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องคาดการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายเพื่อให้สามารถรับมือได้ แม้ว่าธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาก็ตาม

นั่นเพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่บริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการเท่านั้น หากแต่เป็นประชาชนตาดำๆ ในพื้นที่ที่เป็นผู้รับเคราะห์โดยตรง

ใส่ความเห็น