วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > New&Trend > ยูโอบี ประเมินจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัวได้ 3.6% จากภาคส่งออกและท่องเที่ยวฟื้นตัว ดันเงินบาทแข็งแกร่ง

ยูโอบี ประเมินจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัวได้ 3.6% จากภาคส่งออกและท่องเที่ยวฟื้นตัว ดันเงินบาทแข็งแกร่ง

ยูโอบี ประเมินจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัวได้ 3.6% จากภาคส่งออกและท่องเที่ยวฟื้นตัว ดันเงินบาทแข็งแกร่ง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อแผ่วลง

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยรายงานวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2567 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้าในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะขยายตัวได้แข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากมาตราการกระตุ้นทางการคลังของรัฐบาล ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและส่งออก ธนาคารประเมินว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี (GDP) ของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ร้อยละ 3.6 ในปีนี้

นายเอ็นริโก้ ทานูวิดจายา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economics and Market Research ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า “ปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยคือ ภาคส่งออกสินค้าและภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการ ควบคู่ไปกับการบริโภคภาคครัวเรือนที่จะยังคงแข็งแกร่งและได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้นพร้อมกับการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งแกร่งขึ้น”

นอกจากนี้ ประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทต่างชาติที่เดินหน้าย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากผลกระทบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยส่วนหนึ่งสะท้อนจากสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน และสนับสนุนให้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว

“ดังนั้น ยูโอบีประเมินว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ดี การฟิ้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของจีน” นายเอ็นริโก้กล่าวทิ้งท้าย

ท่องเที่ยวและส่งออกเป็นปัจจัยหลักหนุนการเติบโต
รายงานการศึกษาของธนาคารยูโอบีพบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศสูงถึง 28.2 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 ซึ่งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลักดันการเติบโตในปีนี้ เห็นได้จากดัชนีผลผลิตภาคบริการ (Service Production Index: SPI) ที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารคาดการณ์ว่านโยบาย “วีซ่าฟรี” ของรัฐบาลที่จะดำเนินควบคู่ไปกับความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และสถานการณ์การเดินทางโดยอากาศยานที่กำลังกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ จะมีส่วนกระตุ้นให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 อยู่ที่ 33 ล้านคน (หรือร้อยละ 83 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19)

สำหรับภาคส่งออกที่ถึงแม้จะหดตัวในปีที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การค้าโลกที่ส่งสัญญาณในทางบวกจะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าของไทยให้เพิ่มขึ้นได้ในปี 2567 โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหลัก เช่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอาหารแปรรูป

แรงกดดันเงินเฟ้อแผ่วลง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยติดลบต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 4 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าของภาครัฐ ขณะที่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหารปรับดีขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อในหมวดอาหารสดชะลอลง ธนาคารประเมินว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปรกติหลังจากมาตรการภาครัฐและมาตราการระยะสั้นอื่นๆ สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนนี้

ถึงแม้รัฐบาลมีแผนที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นการในการบริโภคในประเทศและอาจส่งแรงกดดันต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ แต่ธนาคารประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราคงที่จากปีก่อน ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มทรงตัว และอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ค่าเงินบาทแข็งแกร่ง
ยูโอบีประเมินว่าสกุลเงินบาทจะเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้สกุลเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกันสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐคือ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราดอกเบี้ยที่มีเสถียรภาพ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งสนับสนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและอยู่ที่ระดับ 34.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรก และมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในครึ่งปีหลัง