วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > On Globalization > ประเทศแซมเบียประกาศต่อต้านการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงที่มีมานาน

ประเทศแซมเบียประกาศต่อต้านการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงที่มีมานาน

 

ในแต่ละปี มีเด็กผู้หญิงอย่างน้อย 10 ล้านคน ที่ต้องแต่งงานก่อนที่พวกเธอจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ และเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา หรือแม้กระทั่งในยุโรป เท่ากับว่าในหนึ่งวันจะมีเด็กผู้หญิงประมาณ 25,000 คนที่ถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่พวกเธอยังเป็นเด็กอยู่

ส่วนใหญ่แล้วผู้คนไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก เพราะเรื่องนี้ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะเป็นปัญหาทางครอบครัว หรือวัฒนธรรมในแต่ละประเทศที่มีมานาน แต่การเป็นเจ้าสาวตั้งแต่ยังเด็กนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราทุกคนควรหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้

ประเทศแซมเบียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา มีประธานาธิบดีเป็นผู้บริหารและปกครองประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการประจำชาติ ผู้คนส่วนใหญ่ 75% นับถือศาสนาคริสต์ และอีก 25% นับถือศาสนาอิสลามและฮินดู ประเทศแซมเบียเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มองเห็นความสำคัญเรื่องการแต่งงานกับเด็กผู้หญิง ผู้นำแซมเบียมีความเชื่อว่า ในการพัฒนาประเทศของตัวเอง การหยุดยั้งการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการที่จะพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ

ผู้นำประเทศแซมเบียได้ตัดสินใจให้มีการรณรงค์ยุติการแต่งงานกับเด็ก ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และยังให้สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศหรือภรรยาของท่านที่ชื่อ Christine Kaseba มาเป็นผู้ช่วยในการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้นเกี่ยวกับโครงการนี้

หลังจากที่โครงการนี้ได้เริ่มมาเกือบ 5 เดือนแล้ว ก็มีบุคคลสำคัญต่างๆ รวมไปถึงผู้นำทางศาสนาในแซมเบียที่ออกมาสนับสนุนโครงการนี้ และต้องการให้วัฒนธรรมการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงหมดไปจากประเทศแซมเบีย ผู้นำทางศาสนายังเรียกร้องให้รัฐบาลจับตัวผู้ที่ต้องการแต่งงานกับเด็กผู้หญิง หรือผู้ที่บังคับเด็กผู้หญิงให้แต่งงานไปเข้าคุกอีกด้วย เพราะถือว่าทำความผิดทางกฎหมาย

กฎหมายของประเทศแซมเบียระบุไว้ว่า ผู้หญิงจะแต่งงานได้ก็ต่อเมื่อมีอายุอย่างน้อย 21 ปีบริบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีเด็กผู้หญิงหลายๆ คนที่ต้องแต่งงานตั้งแต่มีอายุได้เพียง 13 ปีเท่านั้น United Nations Population Fund office in Zambia (UNFPA) ได้เปิดเผยว่า จากการสำรวจเรื่องการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงในประเทศแซมเบียนั้น พบว่ามีเด็กผู้หญิงครึ่งหนึ่งในประเทศแซมเบียที่แต่งงานตั้งแต่อายุ 18 ปี ทำให้ประเทศแซมเบียกลายเป็นประเทศที่มีการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงมากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ผู้นำทางศาสนาในประเทศแซมเบียยังคงมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ผู้นำทางศาสนาพยายามที่จะให้ความรู้กับประชาชนว่า ครอบครัวไหนที่แต่งงานกับเด็กผู้หญิงจะมีความผิดอย่างไรบ้าง และยังพยายามพูดถึงเรื่องนี้ทุกครั้งที่มีการชุมนุมกันในหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญและเข้าใจว่าการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงนั้นมีความผิดตามกฎหมาย

รัฐบาลแซมเบียเชื่อว่า ผู้นำทางศาสนามีความสำคัญอย่างมากในการยุติเรื่องการแต่งงานกับเด็กผู้หญิง และยังมีความสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในด้านอื่นๆ อีกด้วย เพราะผู้นำทางศาสนาเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของประชาชน และประชาชนก็ยังให้ความเคารพและเชื่อถือเป็นอย่างมาก เพราะผู้นำทางศาสนามักจะชี้แนะประชาชนให้ทำในสิ่งที่ดีและเลิกทำในสิ่งที่ไม่ดีต่อสังคมและวัฒนธรรมของตัวเอง ดังนั้นผู้นำทางศาสนาจึงน่าจะช่วยเปลี่ยนความคิดของประชาชนชาวแซมเบียให้ไปในทางที่ดีขึ้นได้ และชี้ให้พวกเขาเห็นว่าการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องหรือควรทำกันอีกต่อไป

นอกจากรัฐบาลและผู้นำทางศาสนาแล้ว ยังมีเจ้าหญิง Kapuwamba Mwaangala Mwintuminu Yeta ซึ่งเป็นเจ้าหญิงของรัฐ Barotseland ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศแซมเบีย ที่ออกมาสนับสนุนโครงการยุติการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงด้วยเช่นกัน เจ้าหญิง Kapuwamba ได้กล่าวว่า ตัวเธอเองนั้นก็ต้องการให้การแต่งงานกับเด็กผู้หญิงหมดไปจากประเทศแซมเบีย เธอได้พูดคุยกับพ่อแม่และผู้นำท้องถิ่นหลายๆ คนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอต้องการชี้ให้เห็นว่า การแต่งงานกับเด็กผู้หญิงนั้นไม่เพียงแต่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ยังคงทำให้ประเทศแซมเบียมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมายด้วยเช่นกัน

เจ้าหญิง Kapuwamba ได้เปรียบเทียบว่า การแต่งงานกับเด็กผู้หญิงก็เหมือนกับการที่เรากินเมล็ดพืชพันธุ์นั้นแทนที่จะได้กินผลผลิตจากต้นไม้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดนักที่เราควรจะทำ เด็กผู้หญิงก็มีความสำคัญต่อประเทศชาติเช่นเดียวกัน ถ้าหากพวกเธอได้รับการศึกษา พวกเธอก็จะสามารถช่วยพัฒนาประเทศในอนาคตได้

เจ้าหญิง Kapuwamba ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่รัฐ Barostseland มีการจัดตั้งโครงการยุติการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงขึ้น ซึ่งในโครงการนี้จะมีการพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้นำท้องถิ่น และรวมไปถึงเด็กผู้หญิงด้วย โครงการนี้ต้องการให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ และชี้ให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงเหล่านี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต เพื่อเป็นการโน้มน้าวจิตใจของผู้เป็นพ่อแม่ให้เห็นถึงความสำคัญของลูก และไม่ให้ลูกแต่งงานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เจ้าหญิง Kapuwamba เชื่อว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีการแก้ปัญหาในระยะยาวที่พ่อแม่จะไม่บังคับให้ลูกแต่งงานก่อนเวลาอันควร

นอกจากนี้ เจ้าหญิง Kapuwamba ยังทรงเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการขององค์การสิทธิมนุษยชน และเป็นกรรมการในองค์กรการพัฒนากฎหมายของประเทศแซมเบียอีกด้วย ดังนั้น เจ้าหญิง Kapuwamba จึงมีความพยายามเป็นอย่างมากที่ต้องการจะลดจำนวนเด็กผู้หญิงที่ต้องแต่งงานลง และเจ้าหญิงยังทรงมีจุดมุ่งหมายที่จะขจัดปัญหาเรื่องการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงให้หมดไปจากประเทศแซมเบียเหมือนกับคนอื่นๆ ที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วย
ปัญหาเรื่องการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงในประเทศแซมเบียนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาที่แก้ได้ง่ายๆ เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งในเมืองหลวงและชนบท และยังมีเรื่องความสับสนทางด้านกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า กฎหมายหลักของประเทศแซมเบียนั้นไม่อนุญาตให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี บริบูรณ์แต่งงานได้ แต่ยังคงมีกฎหมายอีก 2 ฉบับซึ่งมีความขัดแย้งกับกฎหมายนี้อยู่ และมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการยุติการแต่งงานกับเด็กผู้หญิง กฎหมายทั้งสองฉบับนี้คือ
 
(1) กฎหมายที่เกี่ยวกับจารีตประเพณี (The Customary Law) ซึ่งอนุญาตให้แต่งงานได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี บริบูรณ์ เพราะถือว่าคนที่มีอายุครบ 16 ปีแล้วนั้น นับว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ดังนั้นจึงสามารถแต่งงานได้

(2) กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (The Statutory Law) ซึ่งกำหนดไว้ว่า บุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว และสามารถแต่งงานได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครอง

จะเห็นได้ว่ากฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีความขัดแย้งกันเองในเรื่องอายุของผู้ที่สมควรจะพิจารณาว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว และทั้งสองฉบับยังมีความขัดแย้งกับกฎหมายหลักของประเทศแซมเบียอีกด้วย

ดังนั้นในการที่รัฐบาลแซมเบียจะแก้ไขปัญหาเรื่องการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงนั้น รัฐบาลควรจะเริ่มจากการแก้ปัญหาในเรื่องของกฎหมายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก่อน ด้วยการกำหนดอายุที่แน่นอน และเหมือนกันในกฎหมายทุกฉบับว่า อายุเท่าไรจึงสมควรจะพิจารณาว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว และสมควรที่จะแต่งงานมีครอบครัวได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลใดที่ทำผิดกฎหมายด้วยการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงสามารถนำกฎหมายเหล่านี้มาโต้แย้งและพ้นผิดไปได้

ถ้าหากยังไม่มีการแก้กฎหมาย การยุติปัญหาการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงก็คงเป็นไปได้ยาก  UNFPA ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 จะมีเด็กผู้หญิงถึง 142 ล้านคนจากทั่วโลกที่ต้องแต่งงานตั้งแต่พวกเธอยังเป็นเด็ก ในแต่ปี และจะมีเด็กผู้หญิงถึง 140 ล้านคนต่อปีจากทั่วโลก ที่จะแต่งงานตั้งแต่พวกเธอยังอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และอีก 50 ล้านคนที่จะแต่งงานตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์

จากข้อมูลตัวเลขที่ได้มาจาก UNFPA ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรได้รับความสนใจและต้องเร่งรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด

เมืองต่างๆ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของแซมเบียได้พยายามหาทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการให้ทุนการศึกษากับเด็กๆโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ผู้นำท้องถิ่นเชื่อว่า ถ้าเด็กผู้หญิงเหล่านี้ได้รับทุนการศึกษา พวกเธอก็จะเรียนต่อ และสามารถหลีกเลี่ยงการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กได้

ในขณะที่เมืองต่างๆ ที่อยู่ทางใต้ของประเทศแซมเบียนั้นได้พยายามชี้แจงให้พ่อแม่ได้รับทราบว่า หากผู้ปกครองคนใดบังคับให้ลูกต้องแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก จะถือว่าผู้ปกครองคนนั้นมีความผิดและต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งจากประกาศนี้ทำให้จำนวนการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงในทางใต้ของแซมเบียลดลง ผู้นำท้องถิ่นทางตอนใต้เชื่อว่า ถ้ามีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงว่าเป็นความผิด และให้เด็กผู้หญิงเหล่านี้ได้รับการศึกษาแล้วนั้น  เด็กผู้หญิงเหล่านี้จะสามารถไปบอกพ่อแม่ของพวกเธอได้ว่าพวกเธออยากทำอะไรในอนาคต หรืออะไรเป็นความฝันที่พวกเธออยากจะทำ ซึ่งไม่ใช่การแต่งงานตั้งแต่ยังเป็นเด็กแน่นอน

เรื่องนี้คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า รัฐบาลแซมเบียจะเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างไร แต่ทุกฝ่ายต่างก็ออกมาสนับสนุนโครงการนี้ และพยายามลดจำนวนเด็กผู้หญิงที่ต้องแต่งงานลง ถ้าหากว่ารัฐบาลแซมเบียสามารถแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปในทางเดียวกันได้ จำนวนเด็กผู้หญิงที่ต้องแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กก็น่าจะลดลงด้วยเช่นกัน เพราะกฎหมายน่าจะมีน้ำหนักที่แข็งแรงพอที่จะทำให้พ่อแม่หรือบุคคลที่ต้องการแต่งงานกับเด็กผู้หญิงกลัวเกรงกฎหมายกันขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

 

Column: Woman in Wonderland