วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Life > ภาวะเครียด เหงาอ้างว้าง หมดไฟ Work From Home เป็นเหตุสังเกตได้

ภาวะเครียด เหงาอ้างว้าง หมดไฟ Work From Home เป็นเหตุสังเกตได้

การ Work From Home ไม่ใช่เทรนด์อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่นั่นเป็นนโยบายเหมาะสมที่ถูกประกาศใช้โดยรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายให้การทำงานที่บ้านนั้นเป็นแนวทาง ลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเวลานั้นทั้งหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนต่างขานรับนโยบาย

ในช่วงแรกของการ WFH หลายคนอาจรู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะได้ทำงานจากที่บ้านได้ ประหนึ่งว่าได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากการลดโอกาสการติดเชื้อโควิดแล้ว ยังมีข้อดีโดยเฉพาะ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะทุกระบบ นอกจากนี้ ยังได้ประหยัดเงินที่ปกติแล้วจะถูกใช้ไปกับการจับจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยระหว่างวัน จากแหล่งชอปปิงในพื้นที่ใกล้สำนักงาน หรือบางคนอาจได้ลดค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์หลังเลิกงานมากขึ้น

แม้ว่าการทำงานที่บ้านจะมีข้อดีหลายด้าน แต่ตอนนี้หลายคนคงเห็นแล้วว่าข้อเสียก็มีมากเช่นเดียวกัน และแน่นอนว่าหลายคนอาจประสบกับปัญหาของการทำงานที่บ้านเข้าให้แล้ว

ความเหงา อ้างว้าง
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มักจะโหยหาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ อยู่เสมอ การทำงานในรูปแบบปกตินั้น มนุษย์ทำงานมักจะมีการพบปะพูดคุยและเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนระหว่างแผนก บทสนทนาที่มักเกิดขึ้นระหว่างการเดินไปชงกาแฟ การเดินออกไปรับประทานอาหาร และไม่ว่าบทสนทนานั้นจะเกี่ยวกับงานหรือเป็นแค่การนินทา เมาท์มอย ล้วนแต่ช่วยให้คลายเหงา ลดความเครียดจากการทำงานได้ทั้งสิ้น คล้ายกับเป็นการระบายความอึดอัดอย่างหนึ่ง

ทว่า เมื่อการทำงานแบบ WFH โอกาสที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์แบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในออฟฟิศนั้นเป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะยังมีการพูดคุยหรือทักทายกับเพื่อน แต่เป็นรูปแบบออนไลน์ แม้จะได้เห็นหน้ากัน แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นย่อมไม่เหมือนกันแน่นอน หรือในบางรายอาจไม่มีเวลาที่จะทักทายกับใครเลย

ความเครียด-หมดไฟ
“บ้าน” ถูกกำหนดไว้ภายใต้กรอบการเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนจากความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการทำงาน เป็นพื้นที่ที่เราสามารถมาผ่อนคลายด้วยกิจกรรมสันทนาการเล็กๆ เช่น การดูละคร ดูภาพยนตร์ ซีรีส์ ฟังเพลง หรือแม้แต่การนอนเอกเขนกโดยไม่ต้องคิดอะไร

สถานการณ์ปัจจุบันหลายคนได้เปลี่ยนให้ “บ้าน” กลายเป็นที่ทำงาน พื้นที่สำหรับการพักผ่อนหายไปในช่วงเวลานี้ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นที่ทำงานแห่งที่สองภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่จำเป็น เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โต๊ะและเก้าอี้สำหรับการทำงาน

นอกจากนี้ บางคนอาจไม่สามารถจัดสรรเวลาในการทำงานให้ดีพอทั้งจากตัวเอง และจากคณะผู้บริหารของบริษัท แม้การทำงานที่บ้านจะคล้ายกับเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง แต่นั่นอาจไม่เสมอไป เพราะบางคนอาจเจอผู้บริหารหรือเจ้านายที่มีระบบความคิดที่ว่า ในเมื่อทำงานที่บ้าน ก็น่าจะสามารถลุกขึ้นมาทำงานตามที่สั่งตอนไหนก็ได้ หรือบางคนอาจต้องใช้เวลางานในการประชุมหารือทั้งกับฝ่ายของตัวเอง และประชุมกับฝ่ายอื่นๆ ของบริษัท หลายคนใช้เวลาในการประชุมทั้งวัน จนกลายเป็นคำถามที่ว่า “เอาเวลาไหนไปทำงานตามปกติ”

แม้เป้าหมายในการประชุมจะเป็นไปเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน สร้างความเข้าใจในเนื้อหาของงานที่ต้องทำในสัปดาห์นั้นๆ แต่การประชุมที่มากจนเกินไปกลับเป็นการลดประสิทธิภาพในการทำงานลง

ความเครียด ความกดดัน ที่เกิดขึ้นทั้งจากการคาดหวังของผู้บริหาร ลูกค้า หรือแม้แต่ตัวเอง บางคนเกิดภาวะความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว ประสิทธิภาพในการทำงานค่อยๆ ลดลง และเมื่อความรู้สึกนี้เกาะกินเป็นเวลานั้น อาจเป็นสาเหตุให้หมดไฟในการทำงานได้

แน่นอนว่า คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องแรงบันดาลใจ ในเมื่อการทำงานที่บ้านคล้ายการถูกล้อมกรอบ ออกไปข้างนอกกลัวจะติดเชื้อโควิด ทำงานที่บ้านเจอความเครียด การจะสร้างแรงบันดาลใจจึงยากที่จะทำได้เช่นกัน

ปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น
นอกจากปัญหาด้านสภาพจิตใจที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำงานที่บ้านแบบไม่เป็นระบบแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่ม เช่น โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ภาวะซึมเศร้าที่มาจากความเครียด อาการปวดเมื่อยจากการนั่งหรือนอนทำงานในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม

ใครที่กำลังประสบกับภาวะเหล่านี้ ควรเร่งหาทางแก้ปัญหาก่อนที่จะลุกลามปานปลาย และส่งผลต่อสุขภาพกายสุขภาพใจมากกว่านี้ โดยเริ่มจาก

ตั้งเวลาชีวิต กำหนดกิจวัตรประจำวัน
แม้การทำงานที่บ้านนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากเพียงใด แต่เราควรกำหนดกรอบเวลาของการทำงานที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ตื่นตามเวลาปกติ ทำกิจวัตรเหมือนที่เคยทำในสถานการณ์ปกติ เช่น ดื่มกาแฟ ออกกำลังกาย อาบน้ำ สร้างตารางเวลาการทำงานที่ชัดเจนแม้จะอยู่ที่บ้าน ทั้งกำหนดการประชุม การเริ่มงาน พักเที่ยง หรือแม้แต่เวลาเลิกงาน ควรจัดให้เหมาะสม เพราะการผ่อนปรนและให้เวลากับงานมากเกินไปย่อมส่งผลต่อสุขภาพ

จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสม
แยกโซนทำงานกับโซนพักผ่อนให้ชัดเจน ทำให้บ้านยังคงเป็นสถานที่ที่สามารถผ่อนคลายความเมื่อยล้า ความเครียดความกดดันจากที่ทำงานได้

ลุกออกจากโต๊ะทำงาน
การลุกออกจากโต๊ะทำงานเป็นการผ่อนคลาย เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อยืดเส้นยืดสาย ได้พักสายตาหลังจากที่ต้องจ้องมองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แนะนำว่าควรลุกออกจากโต๊ะทำงานทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ออกไปสูดอากาศรับลมสัก 5-10 นาที นอกจากจะช่วยให้ร่างกายได้พักแล้ว ยังสามารถช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือบางครั้งอาจเกิดความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจใหม่ในระยะที่พัก หรือช่วงเวลาที่จิตใจสงบ

หาเวลาสังสรรค์
แม้สถานการณ์อันตึงเครียดของการแพร่ระบาดโควิดจะทำให้ยังไม่สามารถพบปะกับเพื่อนฝูง หรือคนในครอบครัวได้ แต่เรายังสามารถติดต่อกันได้โดยใช้เทคโนโลยี การวิดีโอคอล พูดคุยกับบุคคลใกล้ชิด แม้จะเห็นหน้า ได้ยินเสียง แต่ถือว่าเป็นการได้ระบายความรู้สึก ส่งความคิดถึงความห่วงใยให้แก่กันได้ หรือได้ถามไถ่เรื่องสุขภาพ เรื่องงาน รวมไปถึงเรื่องส่วนตัว การได้พูดคุยเช่นนี้ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น

การ Work From Home แม้จะมีข้อดีมากมาย มีความยืดหยุ่นสูง แต่ก็มีผลเสียตามมาเช่นกัน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือหาจุดสมดุลให้ชีวิต และเราจะผ่านพ้นในช่วงวิกฤตนี้อย่างปลอดภัยทั้งกายและใจ

ใส่ความเห็น