วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ครึ่งปีเศรษฐกิจไทย กับโจทย์เฉพาะหน้าที่รัฐต้องเร่งแก้

ครึ่งปีเศรษฐกิจไทย กับโจทย์เฉพาะหน้าที่รัฐต้องเร่งแก้

การระบาดของเชื้อโควิดระลอก 3 ในไทย นับว่าเป็นการระบาดที่หนักกว่าสองรอบที่ผ่านมา ทั้งในด้านของจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมา 2 เดือน และยังไม่มีท่าทีที่จะลดจำนวนลง อีกทั้งยังเกิดขึ้นในหลายกลุ่มคลัสเตอร์และกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ขณะที่ผลของการแพร่ระบาดในระลอก 3 เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ติดลบ 2.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน แม้ว่าจีดีพีไทยจะติดลบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563

ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา สถานการณ์หลายด้านจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ เศรษฐกิจบางตัวเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ประกอบกับความหวังในเรื่องวัคซีนที่เริ่มเร่งการพัฒนา ผลิต และแจกจ่ายระดมฉีดกันในหลายประเทศ

ทว่า ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจไทย การเงิน ด้านแรงงาน การลงทุน ที่ไทยประสบอยู่เดิมทำให้ไทยบอบช้ำง่ายขึ้นจากวิกฤตโควิดระลอก 3

หลายกิจการพยายามจะประคองตัวให้ผ่านพ้นห้วงเวลาอันเลวร้ายนี้ ภายใต้ข้อจำกัดหลายด้านที่เป็นมาตรการด้านสาธารณสุขจากภาครัฐ แต่คล้ายกับว่าสงครามที่มนุษยชาติต้องฟาดฟันห้ำหั่นกับเชื้อไวรัส ไม่อาจไขว่คว้าชัยชนะมาอย่างง่ายดาย

ข้อมูลจากผู้บริหารฟู้ดแพนด้า ระบุว่า มีร้านอาหารที่อยู่บนแพลตฟอร์มต้องปิดตัวลงเพราะ Covid-19 (ทั้งชั่วคราวและถาวร) ถึง 25,000 ราย อีกทั้งผู้บริโภคที่สั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มของฟู้ดแพนด้าลดจำนวนลง และเปลี่ยนไปประกอบอาหารรับประทานเองมากขึ้น หลังเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง

ล่าสุด ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ประเมินว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรแล้ว 50,000 ราย และเตรียมปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรอีก 50,000 ราย หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินจากภาครัฐภายในเดือนกรกฎาคมนี้

สถานะกิจการของธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 550,000 ราย แบ่งเป็น ร้านอาหารขนาดกลาง-ใหญ่ (200 ตารางเมตรขึ้นไป) จำนวน 150,000 ราย และไมโครเอสเอ็มอี เช่น ร้านอาหารตามตึกแถว สตรีตฟูดอีกจำนวน 400,000 ราย

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายกสมาคมภัตตาคารไทยต้องทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องผ่อนคลายมาตรการควบคุมร้านอาหาร โดยได้ขอขยายเวลานั่งรับประทานอาหารในร้านของพื้นที่ 4 จังหวัดเข้มงวดและควบคุมสูงสุด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ถึงเวลา 23.00 น. และให้ปิดร้านในเวลาเที่ยงคืน จากปัจจุบันให้นั่งได้ถึงเวลา 21.00 น. และสั่งกลับบ้านได้ถึง 23.00 น.

อีกทั้งขอเพิ่มจำนวนที่นั่งในร้านของพื้นที่ 4 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยใช้การแบ่งระดับมาตรการป้องกันของทางร้าน 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ร้าน สำหรับร้านที่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ที่ ศบค. กำหนด และ 80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับร้านอาหารที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ World Travel & Tourism Council ให้การยอมรับ และเมื่อมีมาตรฐานสูง ดังนั้น จึงขออนุญาตให้ร้านอาหารที่มีมาตรฐานขั้นสูงสุด สามารถจำหน่ายและบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ ขณะที่พฤติกรรมของลูกค้าที่มาใช้บริการร้านอาหารจะเป็นการนั่งดื่มในวงจำกัดของแต่ละโต๊ะที่มาด้วยกัน และจะใช้เวลาในการรับประทานอาหารอยู่ในร้านเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมง

แน่นอนว่า ไม่ได้มีเพียงธุรกิจร้านอาหารเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ที่ทำให้พบความเสี่ยงที่อาจต้องปิดกิจการ ธุรกิจอีกจำนวนมากที่อยู่ในสภาวะที่ไม่แตกต่างกัน การหยุดดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่ ซัปพลายเชนต่างๆ และสิ่งที่น่าเป็นกังวลในลำดับถัดมาคือ ภาคแรงงานที่ดูจะเปราะบางที่สุดในเวลานี้ เพราะเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้น

หลายปัญหาที่เกิดขึ้นในห้วงยามนี้ เป็นโจทย์เดิมที่ภาครัฐเผชิญมาแล้วในช่วงการระบาดระลอกแรก และระลอกสอง ในขณะที่ปัญหาเก่ายังไม่ได้ถูกแก้จนหมด รัฐบาลกลับต้องเจอโจทย์เดิมที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไว้ที่ 1.8 เปอร์เซ็นต์ โดยมองว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการฉีดวัคซีน แต่หากสามารถเร่งกระจายวัคซีนได้มากพอภายใน 2-3 เดือนนี้ คงทำให้ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่คาดว่าการระบาดในระลอกที่ 3 จะบรรเทาลงในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยได้รวมผลบวกจากทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการภาครัฐที่กำลังทยอยออกมาทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

ขณะที่คาดว่าการเร่งกระจายฉีดวัคซีนจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมนี้ ซึ่งหากเร่งฉีดได้ในปริมาณที่มากพอกับการสร้างความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจ คงทำให้ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 มีทิศทางที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก และเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า

นอกจากเรื่องวัคซีนและการควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสแล้ว ภาครัฐยังต้องเตรียมรับมือกับอีก 4 โจทย์สำคัญได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น อันทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น

ณัฐพรมองว่า ในระยะสั้นการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและการขยายเพดานหนี้สาธารณะยังไม่น่าจะเป็นประเด็น โดยคงจะเห็นระดับหนี้สาธารณะที่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2565 แต่ในระยะกลางหากยังมีการขาดดุลการคลังในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาจจะนำมาสู่ประเด็นความเชื่อมั่นทางภาคการคลังของไทย ด้านโจทย์เงินเฟ้อไทยที่เพิ่มขึ้นนั้น แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราวและคงไม่ทำให้ กนง. เปลี่ยนท่าทีนโยบายดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มาในจังหวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เติบโตได้ดีก็จะทำให้เฟดส่งสัญญาณถอยออกจากนโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งสุดท้ายแล้วจะนำมาสู่ต้นทุนทางการเงิน ผ่านอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทยกดดันภาคธุรกิจที่เพิ่งจะเริ่มดีขึ้น

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ เพิ่มเติมโจทย์เรื่องหนี้ภาคครัวเรือนจากผลสำรวจความคิดเห็นหลังมีโควิดรอบ 3 ว่า สถานการณ์หนี้รายย่อยถดถอยลง โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ลด ค่าใช้จ่ายไม่ลด และภาระหนี้สูงเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8 เปอร์เซ็นต์ในโควิดรอบ 2 มาที่ 22.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและน่าจะแตะระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีภายในปีนี้ จะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้

ส่วนโจทย์สุดท้ายคือ การปรับขึ้นของต้นทุนหรือราคาสินค้าที่มีผลซ้ำเติมผู้ประกอบการธุรกิจ โดยนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการมองว่า กระทบต่อธุรกิจซื้อมาขายไปในยามไม่ปกติ ที่โควิดฉุดกำลังซื้อและตลาดมีการแข่งขันสูง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี โดยประเมินเบื้องต้นว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ จะกระทบค้าปลีก SMEs ประมาณ 23,600-23,800 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการเผชิญข้อจำกัด ในการผลักภาระไปให้กับผู้บริโภค ขณะที่มาตรการรัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการในทางตรงข้าม หากเศรษฐกิจดี ปัญหาหรือผลกระทบนี้คงมีขนาดที่ลดลง ทั้งนี้ต้องติดตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังจากนี้ ซึ่งจะมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี

ปัญหาที่รายล้อมเข้ามาหาภาครัฐในเวลานี้ ไม่ใช่ตัวชี้วัดความท้าทายความสามารถของรัฐบาล แต่อาจเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ภาคส่วนไหนบ้างที่แสดงออกว่าพร้อมที่จะร่วมมืออย่างแท้จริง แน่นอนว่าแม้หัวใจสำคัญในการคลายปมทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่หากไร้ซึ่งความร่วมมือจากคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็คงไม่ต่างอะไรกับนั่งเอาเท้าราน้ำ และนั่นทำให้ไทยไปไม่ถึงไหนสักที

ใส่ความเห็น