วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > The Exploratorium นิยามใหม่สยามดิสคัฟเวอรี่

The Exploratorium นิยามใหม่สยามดิสคัฟเวอรี่

 
 
ภายหลังจากใช้ระยะเวลาในการวางแผน 18 เดือน และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างออกแบบปรับโฉม 12 เดือน สยามพิวรรธน์ฉีกทุกกฎการค้าปลีกและสร้างบันทึกหน้าใหม่ด้วยคอนเซ็ปต์ The Exploratorium ให้สยามดิสคัฟเวอรี่
 
แม้ว่าตลอดเส้นทางของถนนพระราม 1 ถนนเพลินจิต จนกระทั่งถึงถนนสุขุมวิท เป็นถนนที่ถูกกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทยเลือกทำเลปักหมุดใช้เป็นสนามประลองกำลัง และต่อสู้กันด้วยชั้นเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ ที่ต้องยอมรับว่าแม้แต่ผู้นำด้านธุรกิจรีเทลอย่าง ชฎาทิพ จูตระกูล ยังเอ่ยปากว่า “ธุรกิจรีเทลในประเทศไทยมีการต่อสู้ทางกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างหนักมากกว่าประเทศอื่นๆ” 
 
ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนจุดที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพน้อยที่สุด หากแต่บนหน้าข่าวเศรษฐกิจยังคงปรากฏให้เห็นถึงการขยับตัวของบรรดากลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทย ไม่ว่าจะด้านอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ซึ่งบริษัทสยามพิวรรธน์ คือหนึ่งในบรรดากลุ่มธุรกิจที่ตัดสินใจเปิดเผยโฉมหน้าของ “สยามดิสคัฟเวอรี่” หลังปรับปรุงนานถึง 12 เดือน
 
อาคารกระจกที่ตั้งอยู่หัวมุมถนนพระราม 1 กลายเป็นประหนึ่งพื้นที่จัดแสดงความคิดสร้างสรรค์ที่สยามพิวรรธน์ส่งมอบคอนเซ็ปต์ให้กับ Nendo ที่สามารถตอบโจทย์และแปลงโฉมสยามดิสให้ออกนอกกรอบความเป็นห้างค้าปลีกแบบเดิม
 
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด พร้อมด้วย โอกิ ซาโตะ หัวหน้านักออกแบบและผู้ก่อตั้งเนนโดะ พร้อมเปิดสยามดิสคัฟเวอรี่ ให้เป็นสนามทดลองพลังอำนาจแห่งความคิดสร้างสรรค์ในมิติของ The Exploratorium โดยหวังให้เข้าถึงใจลูกค้ามากที่สุด
 
อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาจากความสามารถที่อุดมไปด้วยความคิดอันแยบยลในเชิงธุรกิจของผู้นำหญิงจากสยามพิวรรธน์แล้ว คงจะมีเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถของเธอได้เป็นอย่างดี เมื่อยังปรากฏผลงานที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนถนนพระราม 1 
 
แต่หากจะเอ่ยถึงโอกิ ซาโตะ จากเนนโดะผู้เข้ามาควบคุมงานออกแบบโดยรวมแล้ว แม้ว่าชื่อเสียงในประเทศไทยอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก หากแต่ความสำเร็จและชื่อชั้นบนทำเนียบของนักออกแบบระดับโลกแล้ว ผลงานและรางวัลน่าจะสามารถการันตีถึงความสามารถได้เป็นอย่างดี
 
เมื่อผลงานการออกแบบของซาโตะไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีความหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ งานอินสตอลเลชั่น วินโดว์ดิสเพลย์ และอินทีเรียดีไซน์ต่างๆ รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ผลงานการออกแบบของเนนโดะยังปรากฏอยู่ที่ Museum of Modern Art ในมหานครนิวยอร์ก และสถาบัน Museedes Arts Decoratifs และ Centre Pompidou ในกรุงปารีส อีกทั้งยังได้รับเลือกจากนิตยสาร Newsweek ให้เป็นหนึ่งใน “ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุด 100 คน” 
 
ทั้งนี้สไตล์การออกแบบของเนนโดะน่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชฎาทิพได้มากที่สุด เมื่อสยามดิสคัฟเวอรี่ต้องการใช้พื้นที่ 40,000 ตารางเมตรให้คุ้มค่าในทุกมิติ เปลี่ยนห้างสรรพสินค้าสู่พื้นที่ที่ลูกค้าไม่ใช่เพียงแค่มาซื้อสินค้า แต่เหมือนการมาเล่นสนุกเสียมากกว่า
 
และดูเหมือนการฉีกกฎของรีเทล ชฎาทิพดูจะไม่ยี่หระแม้แต่น้อยถึงความกังวลเรื่องการตอบรับของลูกค้าที่อาจจะเปลี่ยนไป เมื่อมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า “หากวันนี้คุณมาสยามดิส แล้วมาอีกครั้งในอาทิตย์หน้า และอีกสองเดือนกลับมาใหม่ จะพบว่าแทบจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย เพราะเราพร้อมจะปรับเปลี่ยนตามกระแสโลกตลอดเวลา” 
 
ทั้งนี้นอกเหนือจากการนำเสนอสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่แล้ว ในแต่ละชั้นยังเปิดพื้นที่พิเศษ Discovery Lab เพื่อสร้างประสบการณ์ภายใต้ธีมและเรื่องราวตามความสนใจของผู้คนรวมไว้ในจุดเดียว 
 
นอกจากนี้สยามดิสยังนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสื่อสารกับลูกค้า ทั้งสื่อมัลติมีเดีย มัลติสกรีน และยังคิดค้นเครื่องมือที่จะเข้าถึงลูกค้าในโลกยุคดิจิตอล ด้วยการเปิดตัวเทคโนโลยี “สยามดิสคัฟเวอรี่ แอพพลิเคชั่น” เพื่อนำเสนอข้อมูล เรื่องราว สิทธิประโยชน์ รวมไปถึงโปรโมชั่นต่างๆ
 
กระนั้นสยามพิวรรธน์ยังมีความพยายามที่จะจับเอา Shopping Mall ผูกโยงเข้ากับการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีนโยบายที่คำนึงถึง Sustainabilty นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหลากหลายสำหรับบุคคลที่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น แคมเปญ To Sharing For Green World ร่วมกับมูลนิธิประเทศสีเขียว แคมเปญปลูกป่าทั่วประเทศ แคมเปญรณรงค์ลดใช้ถุง
 
อย่างไรก็ตาม จากงบประมาณที่ลงทุนเปลี่ยนปรับโฉมสยามดิสที่สูงถึง 1,800 ล้านบาท และงบประมาณในการจัดงานแกรนด์โอเพนนิ่ง 300 ล้านบาท โดยชฎาทิพ จูตระกูล ตั้งเป้ายอดขายของสยามดิสคัฟเวอรี่เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปีก่อน และจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของสยามดิสคัฟเวอรี่เป็นลูกค้ากลุ่มต่างชาติ ภายหลังจากที่นโยบายจากภาครัฐและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาตรการจะดึงและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศไทยมากขึ้น
 
กลยุทธ์ในเรื่องของการออกแบบสยามดิสคัฟเวอรี่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนให้ทันตามกระแสโลกได้ตลอดเวลานั้น น่าจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำพาให้การปรับโฉมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของประชาชนก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เราจะต้องรอดูคำตอบกันต่อไปว่า เป้าประสงค์ที่ชฎาทิพตั้งธงเอาไว้นั้นจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่