วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจออนไลน์สบโอกาส โตสวนทางวิกฤตโรคร้าย

ธุรกิจออนไลน์สบโอกาส โตสวนทางวิกฤตโรคร้าย

ท่ามกลางวิกฤตของการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมหลากหลายได้รับผลกระทบในเชิงลบจนทำให้การดำเนินธุรกิจตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ขณะที่บางบริษัทต้องปลดพนักงานหรือชะลอแผนการลงทุนจากผลของการแพร่ระบาดของโรคที่ดำเนินอยู่นี้

ธุรกิจการบินดูจะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีแนวโน้มที่ไม่สดใสเท่าที่ควร เพราะภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรค ทุกประเทศต่างใช้มาตรการคัดกรองนักเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงกันอย่างเข้มงวด โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

IATA ระบุว่า โรคโควิด-19 จะทำให้รายได้ของสายการบินประเภทเครื่องบินโดยสารลดลง 6.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐถึง 1.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดว่าจะขยายวงกว้างมากเพียงใด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ IATA ระบุว่า โรคโควิด-19 จะทำให้รายได้ของสายการบินลดลง 2.93 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมคาดการณ์ว่า ผลกระทบดังกล่าวจะจำกัดอยู่ในตลาดที่เกี่ยวข้องกับจีนเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จะมีต่อสายการบินประเภทขนส่งสินค้า

ความเสียหายที่ IATA ประเมินล่าสุดนี้ เป็นระดับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกระหว่างช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน เมื่อปี 2551 แต่ IATA ยังประเมินสถานการณ์ภายใต้ความเชื่อที่ว่าหากทั่วโลกสามารถควบคุมการระบาดได้รวดเร็ว และจัดการผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัด ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็จะอยู่ในระดับมูลค่าประมาณ 6.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นความสูญเสียที่มากพอจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นและความมั่นคงของผู้ประกอบการสายการบินแต่ละรายไม่น้อยเช่นกัน

แต่ภายใต้วิกฤตดูเหมือนว่าจะยังมีโอกาสใหม่ๆ ให้ได้แสวงหาเสมอ ซึ่งท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางของ COVID-19 ที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนประพฤติกรรม โดยผู้บริโภคต่างหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปจับจ่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้า รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งถือเป็นพื้นที่แออัดและเสี่ยงต่อโรค หันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นจนทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 80 สวนกระแสกับวิกฤตการแพร่ระบาดอย่างน่าสนใจ

การเติบโตของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งต้องเตรียมพร้อมรับมือและใช้เทคโนโลยีจัดการและติดตามการขนส่งแบบเรียลไทม์ พร้อมการกำหนดพิกัดอาณาเขตพื้นที่เสี่ยงบนแผนที่ (Geofence) เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่อาจเพิ่มขึ้น สำหรับบริหารการจัดส่งสินค้า เพิ่มความมั่นใจแก่ผู้รับสินค้าทุกการจัดส่ง ในกรณีเกิดปัญหากับเส้นทางจัดส่งสามารถติดตามข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ได้กลายเป็นปัจจัยบวกที่ถือว่าเป็นโอกาสต่อวงการโลจิสติกส์และการขนส่ง จากพฤติกรรมผู้บริโภคหันไปเลือกสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการบริการแบบจัดส่งด่วนมีแนวโน้มจะกลายเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นมาก นับเป็นโอกาสและความท้าทายของทั้งผู้ค้ารายใหญ่ รายย่อย และธุรกิจขนส่งที่จะเตรียมความพร้อมรับมือทั้งในเรื่องปริมาณการจัดส่งสินค้าจากระบบออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการรับบริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง และปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งสินค้าจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือในการจัดการและวางแผนการจัดส่งสินค้าที่ดี เพื่อให้การกระจายสินค้าในแต่ละวันเป็นไปอย่างราบรื่น

ประพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการจัดส่งและสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เกิดปริมาณการสั่งซื้อและการจัดส่งสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าในเวลาปกติอย่างมาก สอดคล้องกับผลสำรวจของ กสทช. ที่ระบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมกราคมเกินกว่าร้อยละ 80 โดยสัดส่วนที่เติบโตขึ้นนี้มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น

การขยายตัวเติบโตของธุรกิจออนไลน์ และ e-Commerce ซึ่งมีมูลค่ามากถึงกว่า 7.5 แสนล้านบาทและมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 20-30 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ทำให้ Lazada เปิดโครงการ Lazada Young Entrepreneur Challenge 2020 เพื่อสร้างนักธุรกิจอีคอมเมิร์ซรุ่นใหม่ ด้วยการแข่งขันสร้างไอเดียธุรกิจจริงบนแพลตฟอร์มลาซาด้า พร้อมส่งเข้าร่วม Ecommerce Workshop ระดับนานาชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Alibaba Business School และโครงการ Global Ecommerce Talent

ภายใต้มูลค่าธุรกิจ E-commerce ในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 7.5 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20-30 ดังกล่าวนี้ ทำให้ธุรกิจ E-commerce กลายเป็นประหนึ่งหัวใจที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งโครงการ Lazada Young Entrepreneur Challenge 2020 นอกจากจะกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ ได้ร่วมแสดงไอเดียธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสนามจริงแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษามีโอกาสสร้างโมเดลธุรกิจสินค้าของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจ SMEs รุ่นใหม่ๆ ที่สามารถเติบโต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีคอมเมิร์ซไทยได้อย่างยั่งยืน

ประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือจากการตื่นตระหนกของประชาชนที่ทำให้เกิดการแห่ซื้อสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างเอิกเกริกจนเป็นเหตุให้สินค้าบางชนิดขาดหายไปจากชั้นวางสินค้า ที่ทำให้เกิดความกังวลใจว่าอาจติดตามมาด้วยการขาดแคลนสินค้าจำเป็นในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ปรากฏการณ์อีกด้านหนึ่งยังพบว่าการสั่งอาหารแบบ delivery มารับประทานที่บ้านแทนการออกไปในที่ชุมนุมชนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในห้วงยามที่สถานการณ์โดยรอบถูกทำให้หยุดชะงัก

กระนั้นก็ดีการเกิดโรคระบาดส่งผลให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผู้ปฏิบัติงานขายส่งสินค้าควรกำหนดพิกัดอาณาเขตพื้นที่บนแผนที่ ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่อันตราย พื้นที่ห้ามเข้า พื้นที่กักกันการระบาด พื้นที่เสี่ยง พื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย หรืออื่นๆ ที่เรียกว่า Geofence โดยกำหนดเป็นจุดพิกัด หรือตีกรอบพื้นที่และจัดแยกเป็นกลุ่มหมวดหมู่ ระบบจะหลีกเลี่ยงเส้นทางการขับรถในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และแจ้งเตือนหากเข้าใกล้พื้นที่ดังกล่าวด้วย

ประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลเส้นทางจัดส่งสินค้า หรือ Trace on Cloud โดยตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังการจัดส่งได้ทุกจุด ว่ารถขนส่งได้วิ่งผ่านในเส้นทางใด และแวะส่งสินค้าที่จุดใดบ้าง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้รับสินค้าทุกการจัดส่ง หรือในกรณีที่เกิดปัญหากับเส้นทางการจัดส่งนั้นก็สามารถติดตามข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

การเติบโตขึ้นของธุรกรรมการจัดส่งสินค้าออนไลน์ที่ดำเนินอยู่นี้ ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ ก็ควรจะมีมาตรการป้องกันเตรียมพร้อม โดยเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งระยะสั้นและระยะยาว และเตรียมข้อมูลเพื่อการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อโรคระบาดสำหรับพนักงานของบริษัท ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในมิติของการตรวจคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ทำงาน การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การกักตัว 14 วัน เมื่อมีพนักงานเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง

มาตรการดังกล่าวนอกจากจะทำให้มีความปลอดภัยต่อทั้งพนักงานแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในอีกทางหนึ่งด้วย การปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ เพื่อป้องกันโรคระบาดไม่ได้เป็นเพียงความรับผิดชอบที่มีต่อตนเองเท่านั้น แต่ยังถือเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่ทุกคนพึงปฏิบัติตามด้วย

ใส่ความเห็น