วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > Cover Story > ฟาร์มผักปลอดสารพิษ ธุรกิจในกระแสรักษ์สุขภาพ

ฟาร์มผักปลอดสารพิษ ธุรกิจในกระแสรักษ์สุขภาพ

 
กระแสความห่วงใยและใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เบียดแทรกตัวเข้าสู่ธุรกิจรักษ์สุขภาพได้อย่างกว้างขวางและจริงจังมากยิ่งขึ้น
 
ล่าสุด บริษัท เอ็นพีพี จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการและจัดจำหน่ายผัก ผลไม้และอาหารทะเล ได้เปิดฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ บนพื้นที่ 15 ไร่ ในกาญจนบุรี เพื่อตอบสนองกับกระแสผู้บริโภคที่นิยมผักปลอดสารพิษ
 
จุดเด่นของฟาร์มไฮโดรโปนิกส์ ภายใต้ชื่อ “D LOVE FARM” แห่งนี้ จะเป็นการปลูกผักในน้ำที่สามารถควบคุมโรคและแมลงโดยไม่ใช้สารที่มีพิษต่อผักในโรงเรือนแบบกรีนเฮ้าส์ ที่ถูกหลักอนามัยสามารถทานได้ทันที ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มลูกค้าที่เน้นเรื่องสุขภาพอนามัย
 
นฤภัค ประยูรวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็นพีพี จำกัด ระบุว่า บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายส่งผัก ผลไม้ และอาหารทะเล ทั่วกรุงเทพฯ เขตปริมณฑลและจังหวัดภูเก็ต มาเป็นเวลา 8 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็น “ผู้จัดจำหน่ายอาหารที่มีคุณภาพดีที่สุด” จึงมุ่งมั่นที่จะเฟ้นหาผลิตภัณฑ์อาหาร จากทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพดี มีคุณค่าทางโภชนาการ สะอาดถูกสุขอนามัยและปลอดภัยต่อการบริโภค ทางบริษัทฯ จึงมีแผนธุรกิจในการทำฟาร์มผักปลอดสารพิษแบบไฮโดรโปนิกส์ ภายใต้บริษัท ดีเลิฟฟาร์ม จำกัด นี้ขึ้นมาก
 
มูลเหตุหลักของการเกิดขึ้นของ “D LOVE FARM” เป็นผลมาจากการที่ก่อนหน้านี้ เอ็นพีพี มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ได้ปลูกพืชไร่และรับผลิตผลมาจากเกษตรกรเพื่อจำหน่าย ซึ่งพบว่ามีปัญหาของพืชไร่ ทั้งในเรื่องของโรคพืชแมลงศัตรูที่ระบาด ความแห้งแล้ง และสารพิษตกค้างในพืชไร่ที่มีผลต่อผลผลิตและคุณภาพของพืชไร่และตัวเกษตรกรผู้ปลูกเองอีกด้วย
 
เอ็น พีพี พยายามมองหาแนวทางในการปลูกพืชที่ปราศจากสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายต่อการบริโภคและเกษตรกรผู้ปลูก จนได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ให้ลองทำการศึกษาและทดลองปลูกผักแบบไฮโดรในฟาร์มตัวอย่าง ทั้งวิธีการปลูกก็ไม่ยุ่งยาก ดูแลรักษาง่าย และผลผลิตที่ได้ออกมานั้นเป็นที่น่าพอใจ ปราศจากสารเคมีตกค้าง และได้ผลผลิตที่แน่นอน ก่อนที่จะวางแผนขยายการทำผักไฮโดรฯ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน และเป็นโรงเรือนแบบกรีนเฮ้าส์ ปลูกผักสลัดในระบบ NFT และโต๊ะปลูกผักแบบปิดในระบบ DRFT โดยเป็นการปลูกผักในน้ำที่สามารถควบคุมโรคและแมลงโดยไม่ใช้สารที่มีพิษต่อผัก
 
สำหรับ “D LOVE FARM” (ดี เลิฟ ฟาร์ม) ซึ่งเป็นฟาร์มผักปลอดสารพิษแบบไฮโดรโปนิกส์ บนพื้นที่ 15 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองกร่าง อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นผักถูกหลักอนามัย สามารถทานได้ทันที ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “D LOVE FARM” ซึ่งผลิตภัณฑ์ผักมีหลายชนิด อาทิ ผัดคอส มิตซูน่า เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค ผักกาดขาวไดโตเกียว โขมขาว ผักขึ้นฉ่าย ผักบุ้ง ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ กะหล่ำปลี แครอต ถั่วลันเตา พริก มันฝรั่ง แอสพารากัส เห็ด และอื่นๆ มากมาย
 
การปลูกผักในโรงเรือนมีการทำงานเป็นขั้นตอน โดยจะเริ่มเก็บผักในตอนเช้า ทำการบรรจุและเก็บไว้ในห้องเย็นที่ควบคุมอุณหภูมิเพื่อรักษาความสดของผัก ทั้งในการขนส่งยังใช้รถห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิในการจัดส่งอีกด้วย เพื่อรักษาความสดของผักเมื่อไปถึงมือผู้บริโภค ทั้งนี้ฟาร์มของเราได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นการรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติการทางการเกษตรที่ดี โดยกรมวิชาการเกษตร เรียบร้อยแล้ว
 
“ในทุกๆ ขั้นตอนของการปลูกเราใส่ใจทุกกระบวนการตั้งแต่การคัดสรรเมล็ดพันธุ์ การเพาะเมล็ด การเลี้ยงดูไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต และยังมีการทดสอบหาสารตกค้างที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอีกด้วย” นฤภัคกล่าวทิ้งท้าย
 
กระแสรักษ์สุขภาพได้กลายเป็นโอกาสที่เปิดช่องทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการแต่ละรายมากขึ้น ทั้งในมิติของทางเลือกใหม่ในการดูแลสุขภาพ และขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการได้อย่างลงตัว
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระบวนการในการตรวจสอบและควบคุมผลิตภัณฑ์ ที่ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมีก็ดี หรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ก็ไดี ไม่ได้รับการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดหรือสามารถสร้างหลักประกันความถูกต้องเที่ยงธรรมให้กับผู้บริโภคมากนัก และบ่อยครั้งที่มีการนำผลิตถัณฑ์ทั่วไปมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อผลด้านราคาอย่างขาดจริยธรรมทางการค้า
 
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานับจากนี้ กระแสรักษ์สุขภาพของผู้บริโภค จะกลายเป็นปัจจัยหนุนนำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องเร่งหาวิธีการ และกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค รวมถึงการป้องกันความสูญเสียจากโรคระบาดในกระบวนการผลิต เพื่อเป็นหลักประกันในกระบวนการผลิตอีกด้วย
 
บรรทัดฐานใหม่ในการผลิตอุตสาหกรรมอาหารรักษ์สุขภาพ อาจเป็นลำดับขั้นสำหรับการพัฒนาต่อยอดจากแนวทางว่าด้วยครัวไทยสู่โลกในช่วงก่อนหน้า ไปสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารคุณภาพเพื่อสุขภาพ ซึ่งอาจมีมูลค่าเพิ่มอีกมหาศาลในระยะยาว
 
แต่ทั้งนี้ดูเหมือนว่ากระบวนการดังกล่าวในขณะปัจจุบันนี้ จะเกิดขึ้นโดยการผลักดันของภาคเอกชนเพียงลำพัง เพราะการหนุนนำจากกลไกรัฐคงเป็นไปได้ หลังจากคลื่นลมมรสุมทางการเมืองภายในประเทศสงบลงแล้วเท่านั้น