วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > ปราเสริฐ พลิกบทเรียนคดีปั่นหุ้น “วันนี้ ขอโตช้าๆ มั่นคง ยั่งยืน”

ปราเสริฐ พลิกบทเรียนคดีปั่นหุ้น “วันนี้ ขอโตช้าๆ มั่นคง ยั่งยืน”

“ตอนนี้ ไม่อยากลงทุนอะไรมาก เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ ลงทุนมากก็เสี่ยง เน้นทำธุรกิจระดับกลางๆ ถ้าลงทุนมากเกินไปจะเป็นความเสี่ยง เราไม่รู้อนาคต พยายามทำที่มีอยู่แล้ว Keep ไว้ เติบโตช้าๆ ให้มั่นคง ยั่งยืน”

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360” ในงานเผยโฉมโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล (BIH) เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวกับสื่อครั้งแรกหลังเจอมรสุมคดีปั่นหุ้น BA

คดีดังกล่าวมาจากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งหนังสือแจ้งนายแพทย์ปราเสริฐ พร้อมแพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกสาวคนที่สาม และนางนฤมล ใจหนักแน่น เลขานุการสำนักประธานคณะผู้บริหารเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 ระบุความผิดฐานร่วมกันซื้อขายหุ้นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA โดยจับคู่ซื้อขายระหว่างกันในลักษณะอำพราง ระหว่างวันที่ 13 พ.ย. 2558 ถึงวันที่ 12 ม.ค. 2559 ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่ง สั่งปรับผู้ร่วมกระทำผิดทั้ง 3 ราย เป็นเงิน 499.45 ล้านบาท รวมทั้งสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

ขณะเดียวกัน ทั้ง 3 คน ตัดสินใจลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ใน 2 บริษัทจดทะเบียน โดย นพ.ปราเสริฐลาออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของทั้ง BA และ BDMS ส่วน พญ.ปรมาภรณ์ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของ BDMS ขณะที่นางนฤมล ใจหนักแน่น ลาออกจากเลขานุการสำนักประธานคณะผู้บริหาร BA

ดูเหมือนว่า ปี 2562 อาจเป็นปีที่ปราเสริฐขอเก็บตัว ไม่ผลีผลามการลงทุนแบบก้าวกระโดด ซึ่งอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาหลุดแชมป์เศรษฐีหุ้น จากปี 2561 ที่วารสารการเงินธนาคารร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอันดับให้นายแพทย์ปราเสริฐครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ถือครองหุ้นมูลค่าสูงสุดรวม 77,129.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,602.02 ล้านบาท หรือ 21.41% ใน 4 บริษัทหลัก

ได้แก่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 สัดส่วน 18.47% รวมมูลค่า 73,786.86 ล้านบาท บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA) สัดส่วน 10.61% มูลค่า 2,985.22 ล้านบาท บริษัท โรงพยาบาลนนทเวช จำกัด (มหาชน) (NTV) สัดส่วน 0.79% มูลค่า 75.48 ล้านบาท และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) สัดส่วน 24.60% มูลค่า 281.75 ล้านบาท

ล่าสุด มีสื่อบางฉบับสำรวจข้อมูลการถือครองหุ้นช่วงครึ่งปีแรกพบว่า นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ GULF โดดขึ้นมาครองแชมป์ด้วยมูลค่าการถือครองหุ้น 92,988 ล้านบาท แซงหน้านายแพทย์ปราเสริฐ ซึ่งถือครองหุ้นมูลค่ารวม 75,446 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากดูการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2562 ของนิตยสารฟอร์บส ไทยแลนด์ พบว่า เจ้าของอาณาจักรธุรกิจ BDMS ยังสามารถไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 7 จากอันดับ 8 เมื่อปี 2561 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.4 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.08 แสนล้านบาท

แน่นอนว่า ทั้งมูลค่าทรัพย์สินและรายได้หลักยังมาจากธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งผลการดำเนินงานของ BDMS ในไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 2,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.38% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2,879 ล้านบาท และมีรายได้รวม 21,887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 6% โดยค่ารักษาในกลุ่มผู้ป่วยชาวไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% และผู้ป่วยชาวต่างชาติ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5%

กลุ่มประเทศที่ยังมีการเติบโต ได้แก่ ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เติบโต 56% ชาวโอมาน เติบโต 45% ชาวญี่ปุ่น เติบโต 11% โดยสัดส่วนรายได้ผู้ป่วยต่างชาติคิดเป็น 28% ของรายได้ทั้งหมด

รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 มีกำไรสุทธิ 13,194 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7,841 ล้านบาท รวมกำไรจากการขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) หรือ RAM

ปัจจุบัน BDMS มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 132,558 ล้านบาท มีโรงพยาบาลในเครือข่าย 48 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ รวม 8,299 เตียง ภายใต้ 6 แบรนด์หลัก คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลรอยัลและกลุ่มโรงพยาบาลท้องถิ่นอีก 5 แห่ง รวมถึงธุรกิจร้านขายยา “Save Drug” ที่มีสาขากว่า 130 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังถือหุ้นอยู่ในโรงพยาบาลเอกอุดรและโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ด้าน บมจ. การบินกรุงเทพ (BA) อีกธุรกิจหลักของตระกูลปราสาททองโอสถ ล่าสุดรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 มีรายได้รวม 6,698.9 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 65.9 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 66.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่รวม 9 เดือนมีรายได้รวม 20,540.2 ล้านบาท ลดลง 2.5% เป็นผลจากรายได้จากธุรกิจสายการบินและธุรกิจสนามบินปรับตัวลดลง 6.9% และ 9.7% ตามลำดับ จำนวนผู้โดยสารลดลง 1.7%

นั่นทำให้ BA พยายามหารูปแบบการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีมาร์จิ้นดีกว่าและสามารถเสริมความแข็งแกร่งได้ โดยล่าสุดร่วมลงทุนกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) เข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท ซึ่ง BA ถือหุ้นราว 30% เตรียมใช้เงินลงทุนเบื้องต้นราว 3 หมื่นล้านบาท หากกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ชนะการประมูล

นายแพทย์ปราเสริฐกล่าวถึงสถานการณ์ในปี 2562 ไม่เน้นการลงทุนมูลค่ามาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ณ วันนี้ กำลังมองดูว่า ตลาดและกลุ่มคนในเอเชียราว 55-60% ของคนทั้งโลก กลุ่ม BDMS จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร อยากใช้เงินลงทุนให้น้อยที่สุด ดีกว่าลงทุนจำนวนมากและเกิดความเสี่ยง โดยตั้งเป้าหมายเติบโต 5-6% เป็นการเติบโตเรื่อยๆ เงียบๆ ไม่มีตัวลบ

ส่วนการลงทุนโครงการใหม่ยังเป็นเรื่องอนาคต เน้นทำในส่วนที่เป็นไปได้ เช่น การพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เอาพวกเครื่องมือเอไอเข้ามาช่วย ซึ่งผลที่ได้จากการตรวจวินิจฉัยโรคทั่วไป ความผิดพลาดไม่ถึง 5% ไม่ว่าจะใช้หมอหรือไม่ใช้หมอ

ย้ำอีกรอบถึงโปรเจกต์การซื้อกิจการจะมีอีกหรือไม่ หมอเสริฐย้ำกลับว่า ยังบอกไม่ได้ ไม่เล็ง ไม่มีอะไรเป็นเป้าหมาย และไม่ออกไปหาด้วย เสนอเข้ามาก็ดู

ปี 2562 จึงน่าจะเป็นปีที่นักเทกโอเวอร์อย่าง “หมอเสริฐ” ต้องพลิกดูบทเรียน เพื่อเดินหน้าอย่างมั่นคงอีกครั้ง

ใส่ความเห็น