วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > เจ้าพ่อธุรกิจโรงหนังไทยบนเส้นทางแห่งอาเซียน

เจ้าพ่อธุรกิจโรงหนังไทยบนเส้นทางแห่งอาเซียน

หลังจากเก็บตัวเงียบอยู่พักใหญ่ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว มาต้นปีนี้ “วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหารแห่ง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป” ได้กลับมาเรียกเสียงฮือฮาจากสื่อมวลชนและนักลงทุนอีกครั้ง กับการประกาศแผนขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดกัมพูชา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของเมเจอร์ที่รุกเข้าสู่ตลาดอาเซียน และเป็นครั้งแรกที่เมเจอร์ขยายธุรกิจออกนอกประเทศอย่างครบวงจร

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เมเจอร์ฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานแถลงข่าวการลงนามขยายธุรกิจร่วมกันระหว่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กับบริษัท อิออน มอลล์ กัมพูชา จำกัด บริษัทลูกของ “อิออน มอลล์” บริษัทพัฒนาห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งได้พัฒนาห้างมาแล้วกว่า 100 แห่งในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงพันธมิตรจากประเทศไทยรายอื่น ได้แก่ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท และบริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย)

ทั้งนี้  “อิออน มอลล์ กัมพูชา” วางแผนที่จะพัฒนาห้างอิออน มอลล์ ในกรุงพนมเปญ ให้เป็นโครงการศูนย์การค้าที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา โดยมีพื้นที่ 1 แสนตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองพนมเปญ บนถนนที่วิชาตั้งให้ว่าเป็น “ราชประสงค์แห่งกรุงพนมเปญ” ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2557

“เมเจอร์จัดเป็นโรงหนังระดับสุดยอดของอาเซียน ผมเชื่อเหลือเกินว่า เมื่อห้างอิออน มอลล์ร่วมมือกับโรงหนังที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้ เราจะต้องประสบความสำเร็จ และกลายเป็นห้างที่ยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาคได้อย่างแน่นอน” มาโกโตะ ยาจิม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน มอลล์ กัมพูชา กล่าวบนเวที

การลงทุนในครั้งนี้ เมเจอร์คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำ 150 ล้านบาท สำหรับสร้างโรงภาพยนตร์หรู 7 โรงในแบรนด์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ซึ่งจะเป็นโรงหนังมัลติเพล็กซ์ที่ทันสมัยที่สุดด้วยการฉายภาพยนตร์ในระบบดิจิตอล 2 มิติ และ 3 มิติ พร้อมกับสร้างเลนโบว์ลิ่งอีก 14 เลนในแบรนด์ “บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล” ในเนื้อที่ประมาณ 6,000 ตารางเมตร

“การเปิดโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่อิออน มอลล์ กรุงพนมเปญ ในครั้งนี้ เป็นการรุกธุรกิจโรงภาพยนตร์ในต่างประเทศอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของเมเจอร์ ซึ่งเราเชื่อว่า เมเจอร์จะช่วยสร้างไลฟ์สไตล์ที่มีสีสันและสร้างความบันเทิงรูปแบบใหม่ให้กับชาวกัมพูชาได้ เหมือนกับที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วในเมืองไทย”

ในการขยายธุรกิจโรงภาพยนตร์ในกรุงพนมเปญครั้งนี้ เมเจอร์ได้จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาภายใต้ชื่อ “เมเจอร์ อินเตอร์ เนชั่นเนล” โดยเมเจอร์จะถือหุ้นมากกว่า 50% และหุ้นส่วนที่เหลือ วิชาตั้งใจว่าจะหาบริษัทที่มีความชำนาญในธุรกิจบันเทิงมาเป็นพันธมิตร เพื่อเลี่ยงการแข่งขันและลดปัญหาจุกจิก โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นกลยุทธ์เดียวกับที่เมเจอร์ใช้ในคราวที่ขยายธุรกิจไปสู่ประเทศอินเดียเมื่อปี 2551 ซึ่งครั้งนั้น เมเจอร์นำเฉพาะธุรกิจโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ และลานไอซ์สเกต ออกไปร่วมทุนกับบริษัท พีวีอาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่และผู้นำธุรกิจโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ในอินเดีย 

สำหรับตลาดกัมพูชา วิชามองว่า กัมพูชาเป็นประเทศในอาเซียนที่มีศักยภาพน่าลงทุน เนื่องจาก 70% ของประชากรกัมพูชา เป็นคนหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อในอนาคต และเป็นกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์รุ่นใหม่ ชอบทานข้าวนอกบ้าน ชอบเดินศูนย์การค้า ชอบดูหนัง และชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนคนไทย ประกอบกับในปัจจุบันอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ในกัมพูชายังมีผู้เล่นเพียง 2 รายหลัก และมีจำนวนโรงภาพยนตร์อยู่เพียง 4-5 โรง 

ปัจจุบันประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ผู้บริหารของทั้งอิออน มอลล์และเมจอร์ต่างก็เชื่อตรงกันว่า ด้วยศักยภาพของกรุงพนมเปญ และความตื่นตัวของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อการเปิดเออีซีในปี 2558 จะขับเคลื่อนให้กัมพูชาเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม และพม่า 

“มันเป็นเทรนด์ อย่างกัมพูชาหรือพม่าที่กำลังเจริญในเวลานี้ เขาก็อยากเป็นแบบเรา เขาอยากมีศูนย์การค้า อยากมีโรงหนัง อยากมีสารพัด ซึ่งเป็นกระบวนการเติบโตในแบบประเทศที่เจริญแล้ว และเขาก็ยินดีต้อนรับเรา ถามว่าเป็นโอกาสหรือไม่ ก็เป็น ถามว่าท้าทายหรือไม่ ก็ท้าทาย”

นอกจากกัมพูชา ผู้บริหารอิออน มอลล์กล่าวว่า ภายใน 2-3 ปีนี้ น่าจะได้เห็นห้างอิออน มอลล์ เปิดตัวอีกหลายแห่งในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย รวมถึงประเทศจีน ด้วยเหตุนี้เอง เมเจอร์จึงถูกตั้งคำถามว่าจะขยายธุรกิจไปพร้อมกับอิออน มอลล์ ในประเทศอื่นด้วยหรือไม่

“เมเจอร์เปิดกว้างสำหรับการลงทุนในตลาดอาเซียนหลายๆ ประเทศเช่นเดียวกับอิออน มอลล์ และขณะเดียวกันเราก็มองว่าลาว พม่า และเวียดนาม เป็นประเทศที่น่าลงทุนต่อไป แต่ตอนนี้เรายังดูๆ อยู่” วิชาตอบเป็นนัยพร้อมกับเล่าว่า ทำเลต่อไปที่มองไว้คือเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

สำหรับการขยายตัวในประเทศ วิชาบอกว่าปีนี้เมเจอร์จะมีการขยายงานมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เพราะสิ้นปีนี้เมเจอร์จะมีเลนโบว์ลิ่งเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40 เลน กลายเป็น 250 เลน และมีโรงหนังเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 โรง จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 410 โรง (ซึ่งโรงหนังทั้งอุตสาหกรรมมีอยู่ราว 800 โรง) เนื่องจากปีนี้มีการเปิดตัวศูนย์การค้า และไฮเปอร์ มาร์ท ในหลายโครงการ

สำหรับงบการลงทุนในปีนี้เมเจอร์คาดว่าน่าจะต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสร้างเลนโบว์ลิ่งในอินเดีย 150-200 เลน โดยจะเป็นการสร้างเพิ่มขึ้นถึง 120 กว่าล้านบาท จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 80 เลน และที่เหลืออีกราว 850 ล้านบาท เป็นการขยายตัวในประเทศ

ด้วยส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโรงหนังเมืองไทย ซึ่งเมเจอร์ครองไว้สูงถึง 75-80% เมเจอร์จึงกลายเป็นเบอร์ 1 ที่ทิ้งห่างเบอร์สองอย่างลิบลับ จนดูเหมือนว่าเมเจอร์อาจจะไร้คู่แข่งที่สูสีแล้วในตลาดเมืองไทย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า วิชาจะหยุดและพอใจกับความสำเร็จตรงนี้

“แม้ว่าเราจะไม่มีคู่แข่ง แต่จริงๆ แล้ว เราต้องแข่งกับตัวเองในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีให้กับลูกค้า ซึ่งทำให้เราต้องขยายตัวต่อไป เพราะธุรกิจ Entertainment หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องทำให้แตกต่าง และต้องมี Innovation ตลอด”

หากย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีก่อน จะพบว่า จุดเริ่มต้นความสำเร็จของเมเจอร์มาจาก “ความกล้าได้กล้าเสีย” ในการลงทุนสร้างความแตกต่างจากโรงหนังแห่งอื่น ด้วยการสร้างโรงหนังในรูปแบบซีนีเพล็กซ์ หรือ “เมืองหนัง” ขึ้นเป็นแห่งแรก พร้อมกับต่อยอดธุรกิจด้วย “นวัตกรรม” และวิสัยทัศน์ในการค้นหาธุรกิจที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่น่าจะเป็นที่นิยม แล้วนำปรุงแต่งให้เข้ากับจริตของกลุ่มลูกค้า ได้แก่ ธุรกิจโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ฯลฯ ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวกับ Out-home Entertainment แบบอื่น และ In-home Entertainment เช่น ธุรกิจเคเบิลทีวี ธุรกิจจำหน่ายดีวีดี เป็นต้น จนทำให้เมเจอร์กลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจ Lifestyle Entertainment ที่ครบวงจรที่สุดของเมืองไทย

“หลักคิดของเมเจอร์ไม่มีอะไรมาก เราเขียนคำว่า Entertain ตัวโตๆ จากนั้นก็พัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้แวดล้อม อยู่กับคำคำนี้ แล้วก็ทำธุรกิจให้ครบวงจรในอุตสาหกรรมนั้นๆ นี่ถือเป็นการสร้าง Business Model ที่จะทำงานได้ง่ายขึ้น เติบโตได้ง่ายขึ้น แข่งขันได้ง่ายขึ้น” วิชากล่าวถึงหลักคิดที่ทำให้เมเจอร์เติบโตมาจนทุกวันนี้

ด้วยความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจดังกล่าว เมเจอร์จึงไม่ได้ถูกมองเป็นเพียงธุรกิจความบันเทิง แต่กลายเป็นธุรกิจไลฟ์สไตล์ โดยเป็นไลฟ์สไตล์ที่มีแกนกลางอยู่ที่โรงภาพยนตร์ พร้อมกับที่วิชาเองก็ได้รับฉายาเป็น “Lifestyle Trendsetter” ควบคู่กับ “King of  Entertainment Lifestyle” ของเมืองไทย

แม้วิชาจะเป็นเจ้าพ่อโรงหนังแห่งเมืองไทย และมีความมั่นใจในเรื่องคุณภาพและรูปแบบบริการของโรงหนังเมเจอร์มากเพียงใด แต่ในการชิมลางตลาดอาเซียนครั้งนี้ เขามีคาถาประจำใจ 3 ประการ คือ ทำเลต้องโดน โอกาสต้องมี แต่ถ้าต้องเข้าไปอยู่ในวงล้อมของการแข่งขัน เมเจอร์ก็ไม่จำเป็นต้องไป!!!

“กุญแจความสำเร็จในการทำธุรกิจโรงหนัง การสร้างตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะทำเลใหม่ๆ เพื่อดึงกลุ่มคนที่ยังไม่เคยเข้าโรงหนังให้ได้เข้ามาใช้บริการ ดังนั้น ถ้าหากมีจำนวนโรงหนังมาก มันก็มีโอกาสทำเงินได้มากขึ้น มันก็คือ “โอกาส” ที่จะเติบโต ซึ่งผมเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ดูหนัง” วิชากล่าวถึงแนวคิดนี้ เมื่อครั้งที่เมเจอร์ยังรุกรบอย่างหนักในตลาดเมืองไทย แต่เหมาะที่จะนำไปต่อยอดกับตลาดอาเซียนหรือไม่ เขาเองก็ยังตอบไม่ได้ จนกว่าจะได้เริ่มชิมลาง “ของจริง” ในตลาดกัมพูชา ประตูสู่ตลาดอาเซียนด่านแรกของเมเจอร์

 

ธุรกิจของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ประกอบด้วย
1.ธุรกิจโรงภาพยนตร์ 
2.ธุรกิจโบว์ลิ่ง  คาราโอเกะ และลานสเกตน้ำแข็ง
3.ธุรกิจให้บริการสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์
4.ธุรกิจพื้นที่ให้เช่าและบริการ
5.ธุรกิจจัดจำหน่ายภาพยนตร์ 
6.ธุรกิจผลิตภาพยนตร์

 

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่บริษัทได้เข้าไปร่วมลงทุน ประกอบด้วย
1.ธุรกิจศูนย์การค้าแบบเปิด โดยลงทุนร่วมกับบริษัท Siam Future Development
2.ธุรกิจเคเบิ้ลทีวี ลงทุนร่วมกับบริษัท กันตนา บรอดแคสติ้ง
3.ธุรกิจให้บริการตัวแทนจำหน่ายบัตรแก่ผู้จัดงานแสดง โดยร่วมลงทุนในบริษัท ThaiticketMajor
4.ธุรกิจโรงภาพยนตร์และโบว์ลิ่งที่ประเทศอินเดีย โดยร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มพีวีอาร์
5.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์