วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > ซีพี แตกแบรนด์พรึ่บ เจาะแฟรนไชส์แสนล้าน

ซีพี แตกแบรนด์พรึ่บ เจาะแฟรนไชส์แสนล้าน

คาดการณ์กันว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยล่าสุดมีเครือข่ายมากกว่า 90,000-100,000 ราย เกิดใหม่วันละ 20 แห่ง มีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ต่ำกว่า 850-900 บริษัท และปี 2560 มีมูลค่าเม็ดเงินสูงถึง 200,000 ล้านบาท ที่สำคัญ ธุรกิจอาหารถือเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ยอดนิยมสูงสุด ซึ่งดูเหมือนว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี” ถือเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่ที่มีเครือข่ายร้านอาหารมากที่สุด ไม่นับรวมเครือข่ายแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” อีกหลายพันแห่ง

ทั้งนี้ หากเจาะเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งเครือซีพีกำลังเร่งรุกขยายช่องทางอย่างหนัก เพื่อต่อยอดธุรกิจปลายน้ำนำผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปสู่มือผู้บริโภคครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยมี 2 แบรนด์หลัก คือ กลุ่มห้าดาวและเชสเตอร์

ในกลุ่มห้าดาวนั้น ซีพีเอฟประกาศนโยบายและแผนลุยตลาดแฟรนไชส์อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2560 เพราะถือเป็นธุรกิจแรกที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจผ่านโครงการ “เถ้าแก่เล็กธุรกิจห้าดาว” ตั้งแต่ปี 2543 ในรูปแบบแฟรนไชส์แบบ 100% ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทในธุรกิจไมโครแฟรนไชส์ หรือธุรกิจเล็กที่เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่สูงมากนัก ประมาณ 15,000 บาทต่อราย แต่สามารถคืนทุนไว ได้กำไรเร็ว ใช้พื้นที่ไม่มาก มีอุปกรณ์และวัตถุดิบพร้อมขายได้เลย

ปัจจุบัน ร้านห้าดาวมีโมเดลร้านหลากหลายรูปแบบ ทั้งซุ้มขายสินค้าประเภทเดียว ซุ้มขายสินค้าหลายประเภท และร้านฟาสต์ฟู้ดขนาดเล็กที่ลูกค้านั่งทานได้ที่ร้าน ในรูปแบบอาหาร 6 ประเภท ได้แก่ ไก่ย่างห้าดาว ไก่ทอดห้าดาว ข้าวมันไก่ห้าดาว บะหมี่ห้าดาว เรดี้มีล และไส้กรอกโรลเลอร์กริลล์ ซึ่งซีพีเอฟตั้งเป้าขยายซุ้มและร้านห้าดาวเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ราย ภายในปี 2560 รวมทั้งเร่งเปิดสาขาไปยังต่างประเทศ ทั้งในประเทศอินเดีย เวียดนาม เมียนมา บังกลาเทศ กัมพูชา และลาว

ด้านแบรนด์ “เชสเตอร์” ทั้งร้านเชสเตอร์กริลล์และร้านกาแฟ “เชสเตอร์คอฟฟี่” ถือเป็นอีกแฟรนไชส์ยอดนิยมในกลุ่มนักลงทุน เนื่องจากเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เจาะกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน และกลุ่มครอบครัว แต่ผู้ลงทุนจะขยับฐานการลงทุนมากกว่ากลุ่มห้าดาว โดยการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ร้านเชสเตอร์ รูปแบบร้าน Restaurant ขนาดพื้นที่ 120-150 ตารางเมตร ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้า 700,000 บาท ค่ารอยัลตี้ 4% ของยอดขาย ค่าการตลาดส่วนกลาง 3% ของยอดขาย หรือคิดงบลงทุนเบ็ดเสร็จราว 6 ล้านบาท

สำหรับปีนี้ ซีพีเอฟมีการลงทุนขยายร้านเชสเตอร์ 20 สาขา พร้อมๆ กับรุกขยายร้านกาแฟ “เชสเตอร์ คอฟฟี่” ที่จะเปิดไปพร้อมการเปิดสาขาใหม่ๆ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย 300 สาขา ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีร้านเชสเตอร์กว่า 200 สาขา ซึ่งระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะสามารถผุดสาขาได้อย่างรวดเร็ว

ล่าสุด ทุนใหญ่ค่ายนี้กำลังเร่งสร้างร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติมในพอร์ตภายใต้กลุ่มธุรกิจศูนย์อาหาร “ซีพีฟู้ดเวิลด์” เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ผู้คนไม่รู้เลยว่า แบรนด์ร้านอาหารทั้งหมดอยู่ในเครือซีพีเอฟ

ไม่ว่าจะเป็น ร้านข้าวไข่เจียว “จ.การเจียว” ร้านข้าวขาหมู “โปยก่ายตือคา” ร้านเป็ดย่างเจ้าสัว ร้านราดหน้ามหาชน ร้านอาหารไทย “ต้มยำทำแกง” ร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยเลิศ และร้านข้าวมันไก่เฟซดุ๊ก โดยทุกแบรนด์มีการขายแฟรนไชส์ให้นักลงทุนทั่วไป แต่ยังจำกัดการเปิดร้านเฉพาะในศูนย์อาหารซีพีฟู้ดเวิลด์ เพื่อควบคุมมาตรฐานการปรุงและการใช้วัตถุดิบต่างๆ

อมร อำไพรุ่งเรือง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ดูแลธุรกิจศูนย์อาหาร “ซีพี ฟู้ดเวิลด์” กล่าวว่า ซีพีฟู้ดเวิลด์มีจุดแข็งในแง่ความหลากหลายของร้านอาหาร ทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น อาหารคาว ของหวาน และเครื่องดื่ม ซึ่งบางสาขาอาจเพิ่มทรูคอฟฟี่เข้าไปเปิดให้บริการ แต่หลักๆ แบ่งสัดส่วนร้านค้ามาจากร้านในเครือซีพีและร้านอาหารที่มีชื่อเสียงด้านรสชาติจากภายนอก โดยบริษัทเน้นร้านที่มีชื่อเสียง ผู้บริโภคมีความต้องการและเน้นความเป็นมาตรฐานทั้งหมด เพราะถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ซีพีเอฟสามารถเจาะตลาดศูนย์อาหารและเพิ่มศักยภาพในการขยายสาขาได้อย่างต่อเนื่อง จากวันนี้เปิดตัวแล้ว 6 แห่ง

ได้แก่ สาขาศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ สาขาโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ สาขาศูนย์อาหารทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สาขาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สาขาศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ และสาขามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้ชื่อ Green Canteen by CP Food World ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการ 2 ส่วน คือ โรงอาหารกลางวัน เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00-18.00. และโรงอาหารกลางคืน เปิดให้บริการเวลา 16.00-23.00 น. เนื่องจากอยู่ใกล้หอพักนักศึกษาจำนวนมาก ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

ในส่วนการลงทุนสาขาใหม่ใช้เงินลงทุน 15-20 ล้านบาทต่อสาขา โดยขนาดและโมเดลขึ้นอยู่กับทำเล พื้นที่ และกลุ่มเป้าหมาย คือ โมเดลขนาดใหญ่ อย่างสาขามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พื้นที่รวม 7,500 ตร.ม. มีร้านอาหารราว70 ร้าน โมเดลขนาดกลาง เช่น สาขา รพ. จุฬาฯ พื้นที่ 1,000-2,000 ตร.ม. จำนวนร้านอาหาร 30-40 ร้าน และโมเดลขนาดเล็ก เช่น สาขาฟอร์จูนทาวน์ พื้นที่ 400-500 ตร.ม. จำนวน 15-20 ร้าน ซึ่งทั้ง 3 โมเดล มีสาขาต้นแบบชัดเจนแล้ว

“ระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นศูนย์อาหารซีพีฟู้ดเวิลด์สาขาแรกใน รพ. ศิริราช จนถึงปัจจุบัน ต้องถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง จำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการเติบโตต่อเนื่อง แม้บางศูนย์มีศูนย์อาหารของค่ายอื่นอยู่ในอาคารเดียวกันถึง 2 แห่งและร้านอาหารแวดล้อมอีกจำนวนมาก แต่กลุ่มลูกค้าเลือกซีพีฟู้ดเวิลด์เนื่องจากความหลากหลายและคุณภาพในราคาเหมาะสม เฉลี่ยจานละ 30-35 บาท โดยเฉพาะร้านอาหารในเครือซีพีเอฟ ซึ่งกลุ่มลูกค้ามั่นใจเรื่องมาตรฐานและวัตถุดิบ”

ที่สำคัญ ความสำเร็จทั้งหมดทำให้บริษัทหาผู้ลงทุนแฟรนไชส์ร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ ได้ไม่ยากและมีบรรดาเถ้าแก่ใหม่ต่อคิวซื้อแฟรนไชส์อีกจำนวนมาก

ดังนั้น หากดูข้อมูลจากสมาคมแฟรนไชส์ไทย ซึ่งพบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารยังถือเป็นกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมลงทุนมากสุด มีอัตราเติบโตสูงกว่าธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอื่นๆ แซงหน้าธุรกิจเครื่องดื่มและไอศกรีม โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่คนนิยมทำกัน คือ ร้านก๋วยเตี๋ยว คิดเป็นสัดส่วน 21.19% ร้านขายสเต๊กและไก่ทอด 10.17% ร้านขายลูกชิ้นทอด 7.63% ร้านอาหาร 5.08% และร้านลูกชิ้นปิ้ง 4.24% ซึ่งซีพีสามารถแตกไลน์ปั้นแบรนด์ร้านอาหารรองรับได้ทั้งหมด

แน่นอนว่า ตลาดแฟรนไชส์ที่มีเม็ดเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท มีหรือที่ “ซีพี” ผู้ประกาศตัวเป็น “ครัวของโลก” จะยอมสูญเสียโอกาสไปง่ายๆ

ใส่ความเห็น