วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > พิษค่าบาทแข็ง ท่องเที่ยวซบ-ส่งออกฟุบ

พิษค่าบาทแข็ง ท่องเที่ยวซบ-ส่งออกฟุบ

แม้ว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในนามประยุทธ์ 2/1 จะส่งผลให้สถานการณ์แห่งความคลุมเครือทางการเมืองไทยคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง หากแต่ในอีกด้านหนึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยดูจะยังเผชิญกับวิบากกรรมและความผันผวนไม่แน่นอนที่พร้อมจะส่งผลกระทบเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ได้ไม่ยาก

ปัจจัยว่าด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นประวัติการณ์ และเป็นไปด้วยอัตราเร่งอย่างผิดปกติ ไม่เพียงแต่จะกดดันให้การส่งออกของไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัวมาในช่วงก่อนหน้านี้ ถูกโหมกระหน่ำด้วยปัจจัยลบด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากคู่แข่งขันในระดับภูมิภาคยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากประเทศเวียดนาม หรือแม้กระทั่งอินเดีย

กรณีดังกล่าวดูจะเห็นได้ชัดจากตัวเลขการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกข้าวไปแล้ว 4.2 ล้านตัน แต่คำสั่งซื้อในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดต่ำลงเหลือเพียงไม่ถึง 6 แสนตันต่อเดือน และทำให้ประมาณการว่าด้วยการส่งออกข้าวของไทยที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 9.5 ล้านตันหรือเฉลี่ยที่ระดับ 8 แสนตันต่อเดือนดูจะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือประมาณการส่งออกข้าวที่ 9.5 ล้านตันในปี 2562 นี้ เป็นประมาณการที่ปรับลดลงจากยอดการส่งออกเมื่อปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 11 ล้านตัน ขณะที่ภายใต้สถานการณ์ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าวประเมินว่าอาจมีการปรับลดเป้าหมายการส่งออกข้าวในปีนี้ให้อยู่ในระดับ 9 ล้านตัน เพื่อให้สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ดำเนินอยู่

ตัวเลขการส่งออกข้าวที่ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่การส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งแม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของ 2562 ไทยจะส่งออกข้าวไปยังจีนรวมเป็นมูลค่า 3.7 พันล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อนหน้ากลับพบว่ามูลค่าการส่งออกดังกล่าวลดต่ำลงถึงร้อยละ 45 และมีแนวโน้มจะชะลอตัวต่อเนื่องออกไปอีก

ความน่ากังวลใจของการส่งออกข้าวย่อมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะปริมาณการส่งออกในปีนี้เท่านั้น เพราะข้าวไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันทั้งจากจีนและเวียดนามอีกด้วย โดยจีนซึ่งเป็นคู่ค้าและผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับสามของไทยในปีที่ผ่านมา ได้ชะลอการสั่งซื้อข้าวทั้งจากไทยและเวียดนาม พร้อมกับระบายข้าวเก่าในคลังเข้าสู่ตลาดแอฟริกา ซึ่งเคยเป็นตลาดหลักของไทยอีกด้วย ขณะที่ข้าวส่วนเกินของเวียดนามก็กลายเป็นคู่แข่งขันด้านราคากับข้าวของไทยในตลาดโลกไปโดยปริยาย

ภาพสะท้อนแห่งเค้าลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่รัฐบาลประยุทธ์ 2 กำลังจะต้องรับมือไม่ได้มีเพียงการกระตุ้นภาคการส่งออกให้ฟื้นคืนมาเป็นกลไกในการหนุนนำทางเศรษฐกิจไทยเท่านั้น หากแต่ภายใต้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้ การท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มาของรายได้จากต่างประเทศ และมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะซบเซาถดถอยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ก่อนหน้านี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2562 นี้จะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 40.5 ล้านคนและสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยรวม 3.3-3.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นส่วนของตลาดต่างประเทศ จำนวน 2.2 ล้านล้านบาทหรือมากกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ด้านการท่องเที่ยว โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยแล้ว 20 ล้านคนขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 และสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว 1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3

หากแต่ภายใต้สภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบัน กลับพบว่า โรงแรม ห้องพักในเมืองท่องเที่ยวหลักทั้งในภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และยังคาดกันว่าจะยังคงซบเซาต่อไปอีกตลอดทั้งปี ขณะที่ตัวเลขการเดินทางผ่านผู้โดยสารในภาพรวมของบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ทั้ง 6 สนามบินยังพบว่าขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.78 และคาดว่าอัตราการเติบโตของผู้โดยสารในภาพรวมตลอดทั้งปี 2562 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2 เท่านั้น จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่า น่าจะโตได้ถึงร้อยละ 7-8

ประเด็นที่น่าสนใจมากประการหนึ่งอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่าด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคลื่อนผ่านท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งพบว่าจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงตั้งแต่ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562 มีจำนวนเที่ยวบินติดลบทั้งตลาดระหว่างประเทศและภายในประเทศ เฉลี่ยที่ร้อยละ 2.9 ขณะที่จำนวนผู้โดยสารก็ดำเนินไปอย่างติดลบทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ เฉลี่ยที่ร้อยละ 4.42

จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงได้รับการตอกย้ำจากข้อมูลสถิติของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ซึ่งระบุว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากตลาดหลักลดลงอย่างชัดเจน โดยนักท่องเที่ยวจากจีน ลดลงแบบติดลบร้อยละ 15.16 เกาหลี ติดลบร้อยละ 15.08 สหราชอาณาจักร ติดลบร้อยละ 23.54 อินโดนีเซีย ติดลบร้อยละ 14.58 เยอรมนี ติดลบร้อยละ 6.70 ญี่ปุ่น ติดลบร้อยละ 8.32 ฝรั่งเศส ติดลบร้อยละ 9.56 ฮ่องกง ติดลบร้อยละ 24.3

ปัจจัยลบที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ อยู่ในภาวะที่ถดถอย ในด้านหนึ่งได้รับการระบุว่าเป็นผลมาจากค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งประเทศจีน ยุโรป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การเดินทางเข้าเที่ยวในเมืองไทยมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อผนวกรวมกับปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในทุกภูมิภาคที่ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ความคาดหวังที่จะผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยเป็นกลไกในการสร้างรายได้ในระดับ 3.3-3.4 ล้านล้านบาทไม่ใช่เพียงความท้าทายของ ททท. แต่เพียงลำพัง หากแต่เป็นกรณีที่ต้องอาศัยทั้งกลไกรัฐและเอกชนในการร่วมพิจารณาอย่างรอบด้าน เช่นเดียวกันกรณีของการกระตุ้นการส่งออก และการรังสรรค์เศรษฐกิจไทยให้สามารถจำเริญเติบโตไปได้อย่างมีพื้นฐานที่มั่นคง

การออกมาระบุโดยผู้มีส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อไม่นานมานี้ ในลักษณะที่ว่าแรงกดดันจากสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในห้วงปัจจุบัน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในระดับ 3.3 ก็ถือว่าดีมากแล้ว เป็นกรณีที่น่าผิดหวัง เพราะนอกจากจะยังไม่ได้สะท้อนมิติมุมมองในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบายแล้ว ยังเป็นวิถีความคิดที่ขาดไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ไปโดยปริยาย

บางทีภายใต้รัฐนาวาแห่งรัฐบาลประยุทธ์ 2 สังคมไทยอาจได้พบเห็นความอ่อนด้อย เปราะบางของทั้งการบริหารราชการแผ่นดินและมิติทางความคิดของกลไกรัฐ ซึ่งอาจจะเดินสวนทางกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์ก็เป็นได้

ใส่ความเห็น