วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > สึนามิเศรษฐกิจ วิกฤตล้มละลายลามหนัก

สึนามิเศรษฐกิจ วิกฤตล้มละลายลามหนัก

นับถอยหลังโฉมหน้ารัฐบาล “ประยุทธ์ 2/2” ทุกฝ่ายต่างจับจ้องทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาผลพวงจากพิษโควิด-19 โดยเฉพาะรอบนี้หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” และอาจลุกลามกลายเป็น “สึนามิเศรษฐกิจ” ลูกใหญ่ซัดกระหน่ำทั่วทั้งโลก

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจน ก็คือ สถานการณ์การล้มละลายต่อเนื่องเหมือนโดมิโน ตั้งแต่ระดับยักษ์ใหญ่จนถึงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก

ในต่างประเทศ กลุ่มออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) บริษัทประกันสินเชื่อที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดว่า การระบาดของโรคโควิด-19 สร้างระเบิดเวลาการล้มละลายและคาดการณ์จำนวนบริษัทล้มละลายทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 35% ระหว่างปี 2562-2564 และราวครึ่งหนึ่งของประเทศทั่วโลกจะมีบริษัทล้มละลายสูงสุดเป็นสถิติใหม่นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2552

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาจะมีบริษัทล้มละลายเพิ่มขึ้นมากที่สุด คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 57% ในปี 2564 เทียบกับปี 2562 ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น บราซิลจะมีบริษัทล้มละลายเพิ่มขึ้น 45% สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 43% สเปนเพิ่มขึ้น 41% ส่วนจีนอยู่ที่ 20%

ผลวิจัยย้ำด้วยว่า ยิ่งบริษัทยื่นล้มละลายมีขนาดใหญ่เท่าไร ความเสี่ยงที่จะเกิด “Domino Effect” ยิ่งสูงขึ้น โดยมี 2 ภาวการณ์ที่จะเร่งการล้มละลายสูงขึ้น คือ หากรัฐบาลถอนมาตรการด้านเศรษฐกิจและนโยบายสนับสนุนธุรกิจเร็วเกินไป อาจเกิดการล้มละลายเพิ่มขึ้นอีก 40-45% หรือหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ การล้มละลายทั่วโลกจะพุ่งสูงถึง 85-95%

หากสำรวจหลายๆ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ออกมาประกาศตัดลดเลิกกิจการและพลิกกลยุทธ์หนีตาย ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอันตราย โควิด-19 ทุกรายล้วนเป็นกลุ่มทุนใหญ่ทั้งสิ้น

อย่างเชนร้านกาแฟรายใหญ่ระดับโลก “สตาร์บัคส์ (Starbucks)” ประกาศแผนปิดให้บริการร้านสาขาอย่างถาวร 400 สาขาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยหันไปขยายร้านสาขาเฉพาะรูปแบบการซื้อกลับ เพิ่มขึ้นประมาณ 300 แห่ง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากสถานการณ์โรคระบาดทำให้ผู้คนไม่นิยมนั่งดื่มกาแฟภายในร้านเป็นเวลานานเช่นเดิม

เช่นเดียวกับกลุ่มแบรนด์แฟชั่นระดับโลกที่อ่วมกระอักถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น “Brooks Brothers” แบรนด์เสื้อสูททางการ ซึ่งขึ้นชื่อขนาดที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมา 44 คน มี 40 คนที่สวมใส่ชุดสูทของแบรนด์ Brooks Brothers มีฐานลูกค้าทั่วทุกมุมโลก แบ่งเป็นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 200 สาขา และนอกประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 500 สาขา รวมถึงประเทศไทย ตัดสินใจยื่นล้มละลายและพร้อมเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังยอดขายตกลงฮวบฮาบ

“วิคตอเรีย ซีเคร็ท (Victoria’s Secret)” แบรนด์ชุดชั้นในสตรีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ออกมายอมรับว่า ธุรกิจในสหราชอาณาจักรประสบภาวะหนี้สินบานเบอะและกำลังเข้าสู่กระบวนการล้มละลายภายใต้การจัดการทรัพย์สินโดยบุคคลที่สาม หลังจากขาดทุนสูงถึง 171 ล้านปอนด์ ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ทำให้ตำแหน่งงานราว 800 ตำแหน่งตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง และร้านสาขาในยูเคอีกกว่า 25 แห่งอาจต้องปิดให้บริการบางส่วน

คาปรี โฮลดิ้ง (Capri Holdings) เจ้าของแบรนด์ “ไมเคิล คอร์ส” (Michael Kors) ของอังกฤษประกาศแผนปิดร้านค้าสาขา 150 แห่งเป็นการถาวร หลังจากคาดการณ์ว่า การระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน “ไนกี้ (Nike)” ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เตรียมปรับลดจำนวนพนักงานและเดินหน้าการทำการตลาดโดยตรงต่อลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 50% จาก 30% ในปัจจุบัน หลังจากผลประกอบการรายไตรมาส ขาดทุนถึง 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วน มูจิ ยูเอสเอ ในเครือบริษัท เรียวฮิน เคคาคุ เจ้าของห้างค้าปลีกชื่อดังของญี่ปุ่น รวมถึงสินค้าเครื่องใช้ประจำบ้านและสินค้าแฟชั่นประเภทมินิมอลลิสต์ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐเดลาแวร์ ขอความคุ้มครองตามมาตรา 11 ในกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา โดยในคำร้องขอความคุ้มครองจากเจ้าหนี้ 999 ราย มูลค่าหนี้ระหว่าง 50 ล้านดอลลาร์จนถึง 100 ล้านดอลลาร์

สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานการจดทะเบียนธุรกิจเดือนมิถุนายน 2563 มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการ 1,336 ราย เทียบกับพฤษภาคม 2563 เพิ่มขึ้น 48% และเทียบกับมิถุนายน 2562 เพิ่มขึ้น 6% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,132 ล้านบาท เทียบกับพฤษภาคม 2563 เพิ่ม 73% และเทียบกับมิถุนายน 2562 เพิ่ม 3%

ธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง อาคารทั่วไป จำนวน 111 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 69 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 36 ราย คิดเป็น 3%

แน่นอนว่า ถ้าพูดถึงความร้ายแรงของพิษโควิด-19 กรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือเป็นเคสประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ เพราะไม่คาดคิดว่าสายการบินแห่งชาติของประเทศไทยหนีไม่พ้นวิกฤตและต้องประกาศยื่นศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย

จากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562 การบินไทยมีทรัพย์สิน 256,665 ล้านบาท หนี้สินสะสม 244,899 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีหนี้สินหมุนเวียน (หนี้ครบกำหนดจ่ายคืนภายใน 1 ปี นับจากวันกู้) จำนวน 62,636 ล้านบาท หนี้ระยะยาว รวม 143,852 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ 74,108 ล้านบาท หนี้ตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 46,456 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาว 23,288 ล้านบาท และมีหนี้ถึงกำหนดจ่ายปีนี้ราว 40,000 ล้านบาท จนต้องหาทางรอดหนีตายอย่างเร่งด่วน

ขณะที่ยังมีอีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจที่อาจต้องเดินตามรอยการบินไทย นั่นคือ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) หรือ MCOT หลังจากการบริหารจัดการธุรกิจขาดทุนตลอด 5 ปีที่ผ่านมาและสภาพคล่องลดลงเรื่อย ซึ่งล่าสุด กระทรวงการคลังยังไม่พิจารณาแผนเพิ่มทุน โดยขอดูแผนฟื้นฟูกิจการก่อน หลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ และเลือกคณะกรรมการชุดใหม่ จึงจะหารือถึงอนาคตของ อสมท อีกครั้ง เช่น การระดมหารายได้จากธุรกิจอื่นๆ และแนวทางการเติมสภาพคล่อง

เกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2563) และไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2563) แม้ดีขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์และประเทศไทยควบคุมโควิด-19 ภายในประเทศได้ดี แต่ต้องระวังไม่ให้ระบาดรอบ 2 และทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากแรงซื้อในประเทศอ่อนแอ และการส่งออกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก

ที่สำคัญ กลุ่มน่าห่วงเข้าขั้นไอซียู คือ ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก และนั่นอาจนำไปสู่การก่อตัวของสึนามิเศรษฐกิจในที่สุด

ใส่ความเห็น