วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > เงินบาทแข็งค่า ปัจจัยฉุดส่งออกทรุดตัว

เงินบาทแข็งค่า ปัจจัยฉุดส่งออกทรุดตัว

อีกครั้งที่ “การส่งออก” ฟันเฟืองตัวสำคัญของเศรษฐกิจไทยถูกพูดถึงภายใต้นัยที่แสดงถึงความวิตกกังวล ซึ่งอาจจะเป็นเพราะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งในเรื่องของศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลก

เมื่อพิจารณาจากผลงานการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2561 ที่มีอัตราการขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทว่าในบางเดือนพิษจากสงครามการค้ากลับส่งผลให้การส่งออกของไทยติดลบหลายครั้ง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า การส่งออกของไทยมีการขยายตัวต่ำกว่าหลายประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการส่งออกของไทย จะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าขั้นกลางมีสัดส่วนสูงสุดในการส่งออกของไทยทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับประเทศต่างๆ มีความสำคัญต่อการค้าไทย

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวและมีสัดส่วนลดลง ในขณะที่สัดส่วนการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายกลับสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม การส่งออกสินค้าของเวียดนามและฟิลิปปินส์ขยายตัวได้ดีและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แสดงให้เห็นว่าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมีบทบาทที่ลดลงในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสที่จะกอบโกยรายได้จากอุตสาหกรรมแนวนี้ที่มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ การที่เวียดนามและฟิลิปปินส์เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานแทนที่ไทย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะไทยไม่สามารถแข่งขันด้านค่าแรงได้ เป็นเหตุให้ไทยไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนสร้างฐานการผลิตในไทยได้

และแม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายมากขึ้น แต่ปัจจุบันสินค้าขั้นสุดท้ายที่ไทยผลิตส่วนมากมีมูลค่าเพิ่มไม่สูงนัก เพราะไทยยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงดังเช่นประเทศพัฒนาแล้ว

ซึ่งประเด็นนี้ แม้ว่าภาครัฐกำลังเร่งเครื่องอย่างหนักที่จะผลักดันให้ไทยกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม 4.0 ที่เน้นเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นสำคัญ และแน่นอนว่ากว่าเป้าหมายที่ไทยตั้งไว้จะบรรลุ การส่งออกสินค้าขั้นกลางอาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปมากพอสมควร เมื่อไทยยังไม่สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้

การแข็งค่าของเงินบาทสร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้ประกอบการไทยไม่น้อย โดยภาคเอกชนมองว่า แนวโน้มที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องนี้จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทย และต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาควบคุมดูแลให้อยู่ในภาวะที่สมดุล

ทว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิรไท สันติประภพ มองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท มีสาเหตุหลักจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง เพราะปัจจัยในประเทศสหรัฐฯ เช่นการเมือง การปิดตัวของรัฐบาล หรือ Government Shutdown ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นการปิดรัฐบาลยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

อีกทั้งยังมีปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนได้ รวมไปถึงกรณี Brexit และ Trade War ที่ยังไม่มีความชัดเจน

กระนั้นยังมีปัจจัยภายในซึ่งเกิดจากบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล เหตุเพราะการส่งออกสินค้าและบริการเยอะกว่าการนำเข้า ขณะที่หลายฝ่ายกลับตั้งข้อสังเกตว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจมาจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินในช่วงสิ้นปี 2561

“หากดูจากความผันผวนค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของไทยอยู่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคและประเทศตลาดเกิดใหม่ ต้องถามว่าทำไมประเทศอื่นสามารถรองรับความผันผวนหรือทนทานต่อความผันผวนของค่าเงินได้ดีกว่าธุรกิจในไทย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน”

คำอธิบายของผู้ว่า ธปท. เหมือนจะเป็นคำตอบว่า แบงก์ชาติไม่สามารถแทรกแซงค่าเงินได้อย่างชัดเจน ซึ่งภาคเอกชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีการจัดการและบริหารความเสี่ยงด้านค่าเงินมากกว่าจะรอให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

ซึ่งหากติดตามค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน โดยเฉพาะเดือนมกราคม เงินบาทแข็งค่า 3.4% ซึ่งมากที่สุดในเอเชีย ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 3.0% ซึ่งยังคงผันผวน

ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทคือ ทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ข้าว ที่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง

ซึ่งมีการประเมินจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยว่า ในปี 2562 ไทยจะส่งออกข้าวได้ลดลง เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และเวียดนาม รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น

ขณะที่กรมการค้าต่างประเทศ กลับมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในปี 2562 ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปีที่ผ่านมา เพราะคู่ค้าหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่ง เนื่องจากยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการผลิต การตลาด และการส่งออกข้าวไทยยังคงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังชะลอตัวซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังการซื้อได้

อีกทั้งกรมการค้าต่างประเทศยังมองว่า ราคาข้าวของประเทศคู่แข่งอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาข้าวไทย แต่ยังมีปัจจัยบวก คือความต้องการบริโภคข้าวของโลกยังมีต่อเนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และข้าวยังคงเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับหลายประเทศ

ทว่าความกังวลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่แสดงออกมานั้นตรงกับการคาดการณ์ของหอการค้าไทยที่มองว่าการส่งออกของไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้เพียง 4.4%

โดยอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการวิเคราะห์การส่งออกไทยปี 2562 ไว้ 3 สถานการณ์ โดยสถานการณ์ที่ 1 หากทุกอย่างดำเนินไปในทางปกติ ภาพรวมการส่งออกน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.4%

สถานการณ์ที่ 2 คือ หากสถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.7% ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ สงบนิ่งไม่มีการขึ้นภาษี และ Brexit ไม่รุนแรง การส่งออกของไทยทั้งปีน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.6%

และสถานการณ์ที่ 3 กรณีเลวร้ายที่สุด คือการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 2.9% ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ล้มเหลว ส่งผลให้สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 20% ตามแผนเดิม ขณะที่ปัญหา Brexit ไม่รุนแรง ภาพรวมจะทำให้การส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2562 ขยายตัว 3.2%

“หากดูสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดโลก 70% ยังคงอยู่ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป อาเซียน และจีน โดยเฉพาะตลาดจีนในปีนี้ มีความน่ากังวลเพราะไทยพึ่งพิงตลาดจีนมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะปรับตัวลดลงเรื่อยๆ นับจากนี้ รวมไปถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกให้ปรับตัวลดลง เมื่อเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ไม่ดี การส่งออกของไทยก็ไม่สามารถขยายตัวได้ ซึ่งไทยจำเป็นต้องรักษาตลาดและส่วนแบ่งตลาดไว้ และไทยจำเป็นต้องส่งออกไปกลุ่มตลาดใหม่ เช่น อินเดีย แอฟริกา บราซิล อเมริกาใต้ แม้จะเป็นสัดส่วนการส่งออกที่น้อย แต่ไทยควรขยายตลาดมากขึ้น” อัทธ์ พิศาลวานิช อธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังประมาณการว่า หากค่าเงินบาททั้งปี 2562 อยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยจะลดลง 0.1% มีมูลค่า 341.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกไทยจะลดลง 0.4% มีมูลค่า 1,099 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้น 0.9% มีมูลค่า 2,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ทั้งราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง การตัดสิทธิ์ GSP สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร 11 รายการของไทยจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลง เนื่องจากปี 2562 ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างอียูกับเวียดนามจะมีผลบังคับใช้ โดยจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในสินค้าบางตัวกับไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

ถึงเวลานี้ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกคงต้องปรับตัวเป็นการใหญ่ ท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกที่กำลังวิกฤต ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าการส่งออกของไทยจะมีปัจจัยฉุดรั้งอยู่มาก แต่ไทยยังมีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการค้าไทย และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องปรับตัวกับภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีใหม่ๆ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นและดิสรัปชั่นต่างๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มที่จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับรถยนต์มากขึ้น

หรือภาครัฐต้องเพิ่มการเจรจาการค้าให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสการส่งออกให้เติบโตและมุ่งเน้นเข้าไปทำตลาดใหม่ เช่น รัสเซีย อินเดีย ตะวันออกกลาง เพราะที่ผ่านมาการทำตลาดไทยไปในประเทศกลุ่มนี้ยังน้อย และโอกาสของสินค้าที่น่าจะไปได้ดี คือ กลุ่มสินค้าเกษตร อีกทั้งประเทศเหล่านี้พร้อมที่จะเจรจาการค้ากับไทย

ถึงเวลานี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าความต่อเนื่องของการเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ให้กับผู้ประกอบการส่งออกของไทย จะขึ้นอยู่กับรัฐบาลใด เพราะดูเหมือนว่าความชัดเจนรวมไปถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะร่วงหรือรุ่ง คงต้องรอดูหลังการเลือกตั้ง

ใส่ความเห็น