วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > มองสัมพันธ์ จีน-อินเดีย ผ่าน BRICS Summit

มองสัมพันธ์ จีน-อินเดีย ผ่าน BRICS Summit

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งอาจได้รับการประเมินจากผู้นำและสื่อบางประเทศว่ามีความสำคัญในฐานะที่ได้เข้าร่วมในการประชุมประเทศคู่สนทนาระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Dialogue between Emerging Market Economies and Developing Countries : EMDCD)

หากแต่ภายใต้กรอบโครงที่ใหญ่กว่านั้น BRICS Summit กำลังเป็นเวทีที่สองมหาอำนาจในเอเชีย ทั้งจีนและอินเดีย ต่างสำแดงพลัง และสร้างสมดุลใหม่ให้เกิดขึ้น

แม้ว่า BRICS จะประกอบส่วนด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ แต่ความสนใจหลักจากการประชุมในครั้งนี้ ดูจะพุ่งประเด็นหลักไปที่บทบาทของจีนในการประกาศยุทธศาสตร์เชิงรุกผ่านกลไกของ EMDCD และท่าทีของจีนต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีต่ออินเดีย มหาอำนาจอีกรายหนึ่งที่กำลังแสดงพลังคัดง้างบทบาทของจีนอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะอยู่ร่วมในกรอบความร่วมมือ BRICS ด้วยกันก็ตาม

ความพยายามที่จะเพิ่มพูนและแข่งขันการมีบทบาทของจีนและอินเดียในเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น หากมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการที่ต่อเนื่องยาวนาน ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่อาจเรียกได้ว่าทั้งรักทั้งชัง ที่ดำเนินไปด้วยความร่วมมือและขัดแย้งอยู่เป็นระยะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนริเริ่มยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2013 ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามในฐานะ The One Belt One Road Initiative (OBOR) ที่นับเป็นการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ครั้งสำคัญในระบบการเมืองเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศไปโดยปริยาย

การรุกในระดับสากลของจีนผ่าน BRI หรือ OBOR ที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างภูมิภาคเอเชีบและยุโรป ผ่านการพัฒนาทั้งการคมนาคมทางบก (Silk Road Economic Belt : SREB) และเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทร (Maritime Silk Road : MSR) ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดขึ้นกับประเทศใหญ่น้อยในเส้นทางที่ BRI พาดผ่านไปถึง ทั้งในมิติทางบวกและความหวาดระแวงในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนที่หลายฝ่ายประเมินว่าอาจจะมากเกินไป และยากที่จะควบคุมได้ในอนาคต

พัฒนาการของ BRI ที่ก่อให้เกิดความกังวลใจแผ่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ประเมินการเกิดขึ้นของ BRI และ OBOR ไปในทิศทางที่อาจทำให้หลายประเทศสูญเสียประโยชน์และบทบาทนำ กล่าวเฉพาะสำหรับอินเดีย ที่ถือเป็นประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ได้แสดงความหวั่นวิตกต่อบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของจีนอย่างเห็นได้ชัด

นับเนื่องได้ตั้งแต่การริเริ่มการประชุมภายใต้กรอบ Indian Ocean Conference เมื่อปี 2016 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยผ่านกลไกของ India Foundation ร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้ง Rajaratnam School of International Studies จากสิงคโปร์ รวมถึง The Bangaladesh Institute of International and Strategic Studies และ Institute of Policy Studies of Sri Lanka โดยการประชุมครั้งนั้น มีผู้แทนจากทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย มอริเชียส บังคลาเทศ ซึ่งต่างถือได้ว่ากำลังจะได้รับผลกระทบจาก BRI และ OBOR เข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง

ขณะที่การประชุม Indian Ocean Conference ครั้งที่ 2 เพิ่งจัดการประชุมไปที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมต่อต้นเดือนกันยายนหรือก่อนหน้าการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS จะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่วันเท่านั้น โดยหัวข้อการประชุมมีจุดเน้นหนักอยู่ที่ประเด็นว่าด้วยสันติภาพ พัฒนาการ และความมั่งคั่ง (Peace, Progress and Prosperity) ที่สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะรวมกลุ่มและร่วมมือกันในการเป็นแรงคัดง้างอิทธิพลจากจีนที่กำลังแทรกตัวเข้ามามีบทบาทสำคัญในมหาสมุทรอินเดียผ่าน BRI และ OBOR อย่างชัดเจน

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือมหาสมุทรอินเดียเป็นเส้นทางการค้าและการเดินเรือที่มีความสำคัญอย่างมากในระบบเศรษฐกิจโลก เพราะนอกจากจะเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือมากกว่า 1 ใน 3 ของโลกแล้ว มหาสมุทรอินเดียคือเส้นทางลำเลียงและขนส่งน้ำมันมากกว่า 2 ใน 3 ของโลก ถือเป็นเขตอิทธิพลและสนามหลังบ้าน ซึ่งอินเดียย่อมหวังจะคงบทบาทนำและรักษาความสงบมั่นคงในภูมิภาค ที่ไม่ได้มีเพียงปัจจัยทางมิติของภูมิรัฐศาสตร์ หากแต่อินเดียยังมีบทบาทในมิติของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้อย่างแนบแน่นอีกด้วย

การมาถึงของ BRI และ OBOR ที่เป็นยุทธศาสตร์จากจีนเข้าสู่น่านน้ำแห่งมหาสมุทรอินเดีย ในด้านหนึ่ง แม้จะเป็นแรงหนุนส่งให้เกิดพัฒนาการทางการค้าการลงทุนขนานใหญ่ในหลากหลายเมืองในภูมิภาคแห่งนี้ แต่ในด้านกลับกันก็ถือเป็นการรุกเข้ามาในพื้นที่และเขตอิทธิพลเดิมที่อินเดียเคยมีอยู่ เป็นการช่วงชิงไม่เฉพาะในมิติของบทบาทนำในการเมืองระหว่างประเทศ หากยังเป็นการช่วงชิงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลที่มีความแหลมคมอย่างมาก

ก่อนหน้านี้ ในปี 2015 นายกรัฐมนตรีอินเดีย Narendra Modi พยายามนำเสนอแนวนโยบายว่าด้วยความมั่นคงและความจำเริญเติบโตร่วมกันของทุกฝ่ายในภูมิภาค (Security and Growth for All in the Region : SAGAR) เพื่อสื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็น “หุ้นส่วนในการพัฒนา” กับประเทศในภูมิภาคที่ให้ภาพที่ขัดแย้งกับบทบาทของจีนที่ดำเนินไปในลักษณะที่พร้อมจะสร้าง “อำนาจนำ” (hegemony)

ประเด็นที่ไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึงในความสัมพันธ์จีน-อินเดียที่สำคัญมากในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นตามแนวพรมแดนจีน-ภูฏาน นับตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2017 จากผลของความพยายามของจีนที่จะขยายเส้นทาง จาก Yadong เข้าไปในยังพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทว่าด้วยการปักปันเขตแดนระหว่าง จีน-ภูฏานที่ Doklam จนเป็นเหตุให้อินเดียซึ่งมีสนธิสัญญาไมตรีกับภูฏาน ส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าตรึงกำลังและเผชิญหน้ากับกองกำลังของจีนยาวนานกว่า 2 เดือน

ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะลดการเผชิญหน้าและถอนกองกำลังออกไปก่อนการประชุม BRICS จะเริ่มขึ้นได้ไม่กี่วัน และกรณีที่ว่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อการหารือระดับทวิภาคี ระหว่าง Xi Jinping ประธานาธิบดีจีน และ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย ในช่วงการประชุม BRICS Summit ที่เมือง Xiamen ของจีนในครั้งนี้ด้วย

ความแหลมคมในความสัมพันธ์จีน-อินเดีย ที่สะท้อนเป็นความเปราะบางดังกล่าวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแต่โดยลำพัง หากยังดำเนินไปภายใต้บริบทของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันที่หนักหน่วงขึ้น จากผลของการขยายบทบาทของจีนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor)

รวมถึงท่าทีของจีนที่กีดกันความพยายามของอินเดียในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก Nuclear Suppliers Group (NSG) โดยจีนมีท่าทีสนับสนุนปากีสถานให้ได้รับสถานะสมาชิกใหม่ในกลุ่มนี้แทน ซึ่งในขณะนี้ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างยังไม่ได้รับสถานะเป็นสมาชิกกลุ่มนี้แต่อย่างใด

ท่าทีที่ต่างฝ่ายต่างประนีประนอมกันในการประชุมทวิภาคี ที่นำไปสู่การระบุว่าความสัมพันธ์ของจีน-อินเดีย ควรกลับสู่แนวทางที่ถูกต้องด้วยการสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคงและแข็งแรงระหว่างกัน เพื่อลดทอนโอกาสที่ความแตกต่างระหว่างทั้งสองประเทศจะก่อให้เกิดหรือกลายเป็นกรณีพิพาท เป็นภาพสะท้อนว่าทั้งสองประเทศต่างไม่อยู่ในสถานภาพที่จะสูญเสียความความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

กระนั้นก็ดี การเปรียบเทียบความพยายามของอินเดีย ผ่านการประชุม Indian Ocean Conferrenceกับการประชุม BRICS และ EMDCDที่จีนเป็นเจ้าภาพที่เมือง Xiamen ซึ่งมีความหมายว่าประตูคฤหาสน์ (Mansion Gate)อาจให้ภาพที่แตกต่างไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของกรอบความร่วมมือที่เทียบกันได้ยาก

หากแต่เมื่อประเมินในมิติของจังหวะก้าวและการดำนินงานทางยุทธศาสตร์ ต้องยอมรับและถือว่าจีนจะมีย่างก้าวที่ล้ำหน้าไปไกลกว่าอินเดียอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการระดมสรรพกำลังและการจัดวางจังหวะก้าวในการสานสัมพันธ์กับประเทศเป้าหมายต่างๆ ของจีน

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากสุนทรพจน์ของผู้นำจีนที่ต่อผู้นำในกลุ่ม EMDCD ที่ระบุว่าการประชุม BRICS และ EMDCD ถือเป็นการเปิดประตูสู่ความร่วมมือและการพัฒนาสู่ ทศวรรษที่สองแห่งความเรืองรอง (second Golden Decade) ของทั้ง BRICS และประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ควบคู่กับการนำเสนอศิลปการแสดงในชุด “Sailing to the Future” ซึ่งเป็นการตอกย้ำจุดเน้นที่มั่นคงของจีนต่อการพัฒนาในแนวทาง BRI และ OBOR อย่างแข็งขัน

การแข่งขันช่วงชิงบทบาทนำระหว่างจีนและอินเดีย ซึ่งกำลังพัฒนาจากการเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคเอเชียให้ก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจในระดับสากลยังดำเนินต่อไป ประเด็นที่น่าจับตามองจากนี้ นอกจากจอยู่ที่ประเทศใดจะสามารถจัดวางตำแหน่งให้เป็นมือบน และปรบมือได้ดังกว่ากันแล้ว ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งใน EMDCD จะจัดวางยุทธศาสตร์เพื่อตอบรับความท้าทายที่ดำเนินอยู่เบื้องหน้านี้อย่างไร

ใส่ความเห็น