วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Home > Cover Story > “ไปรษณีย์ไทย” ล้างภาพเก่า ปลุก Logistics ยุคดิจิทัล

“ไปรษณีย์ไทย” ล้างภาพเก่า ปลุก Logistics ยุคดิจิทัล

ประเมินกันว่า ธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องถึง 18% มูลค่าเม็ดเงินมากกว่า 1.15 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce แต่สงครามการแข่งขันที่มีเอกชนหน้าใหม่กระโดดเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทุกปี ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” เจ้าตลาดนานกว่า 140 ปี ต้องพลิกกลยุทธ์อยู่นาน เพื่อผลักดันรายได้ทะลุเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ถ้าพลิกดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังคงมีรายได้ลดลง โดยปี 2563 มีรายได้ 23,824.48 ล้านบาท ปี 2564 ขยับลดลงมาอยู่ที่ 21,434.17 ล้านบาท และปี 2565 อยู่ที่ 19,714.27 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากสงครามราคาในธุรกิจขนส่งด่วนและการใช้เทคโนโลยีทดแทนของบริการสื่อสารดั้งเดิม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรณรงค์การลดใช้กระดาษทำให้ปริมาณงานในกลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ลดลงชัดเจน

ขณะเดียวกัน เจาะเฉพาะปี 2565 แยกตาม 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ยอดรายได้ตกลงกว่าปีก่อนหน้าเกือบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น บริการขนส่งพัสดุไปรษณีย์ในประเทศ ไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศ บริการไปรษณีย์โลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเม็ดเงินมากสุด 42.78% มีรายได้ 8,433.05 ล้านบาท เทียบปี 2564 มีรายได้รวม 10,206.17 ล้านบาท

กลุ่มบริการไปรษณีย์ระหว่างและบริการธนาณัติ Western Union มีรายได้รวม 3,093.39 ล้านบาท สัดส่วน 15.69% เทียบรายได้ปี 2564 อยู่ที่ 3,417.16 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ การจำหน่ายแสตมป์เพื่อการสะสม สินค้าไปรษณีย์ มีรายได้รวม 515.47 ล้านบาท สัดส่วน 2.61% เทียบปี 2564 มีรายได้ 586.23 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจการเงิน ได้แก่ บริการธนาณัติในประเทศ ธนาณัติออนไลน์ บริการ Pay at Post และ Agency Banking มีรายรายได้ 371.98 ล้านบาท มีสัดส่วน 1.89% เทียบปี 2564 มีรายได้ 381.04 ล้านบาท

มีเพียงกลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ เช่น จดหมาย ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ ไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนในประเทศ สามารถสร้างรายได้ 7,152.88 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 36.28% มากกว่าปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 6,700.19 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น ค่าใช้สถานที่และอุปกรณ์ ค่าธรรมเนียมการจ้างดำเนินการ ปี 2565 ทำรายได้ 147.50 ล้านบาท เทียบปี 2564 มีรายได้ 141.84 ล้านบาท

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า ปี 2566 ไปรษณีย์ไทยปรับวิสัยทัศน์ใหม่ ต้องการเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และ Logistics ครบวงจรอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

จุดแข็งสำคัญ คือ เครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและบุรุษไปรษณีย์มากกว่า 20,000 คน ที่มีความเชี่ยวชาญในทุกพื้นที่ พยายามสร้างภาพลักษณ์การเป็นเครือข่ายที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือของประเทศ นอกจากนั้น เร่งขยายบริการขนส่งและโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Niche market) สร้างมูลค่าเพิ่ม

ขณะที่ชูจุดขายใหม่ เน้นการเชื่อมต่อระบบกับพันธมิตรต่างๆ หรือผู้ประกอบการที่ขายสินค้าระบบออนไลน์ สนับสนุนทีมขาย ทีมขน และทีมแคร์ ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจ e-Commerce แบบครบวงจร ให้คำปรึกษาตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การแพ็กบรรจุ การใช้ระบบขนส่งที่เหมาะสม การรับสินค้าถึงที่ด้วยบริการ Pick Up Service รวมถึงการทำการตลาดบนแพลตฟอร์มของไปรษณีย์ไทย มีกระบวนการดูแลหลังการขาย Return สิ่งของ หากนำจ่ายไม่ได้ หรือผู้รับสินค้าต้องการส่งคืนให้ผู้ขายเพื่อ Claim หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่

แน่นอนว่า หากเทียบกับคู่แข่งเอกชน ไปรษณีย์ไทยมีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ล่าสุดมีสาขาไปรษณีย์ไทยกว่า 12,000 สาขา แบ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรองค์กร ร้านไปรษณีย์ ร้านไปรษณีย์อนุญาต จุด EMS Point หรือร้านค้าประชาชน และงัดกลยุทธ์ “เพื่อนพี่ไปรฯ” ดึงพันธมิตรที่มีเครือข่ายสาขา เช่น ซูเปอร์มาร์เกต รถไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม เปิดจุดบริการฝากส่งสิ่งของ เช่น Lotus’s National Telecom (NT), CJ Express, สินเชื่อศรีสวัสดิ์, เสนาดีเวลลอปเม้นท์, ออฟฟิศเมท เหมือนแค่เดินไปปากซอยเท่านั้น

นอกจากนั้น พยายามเพิ่มบริการหลากหลายมากขึ้น เช่น บริการ EMS ในประเทศนำจ่ายภายในวันเดียวกัน (Same Day) บริการ eCo-Post  บริการเก็บเงินที่อยู่ผู้รับ (COD-Cash On Delivery) มีแอปพลิเคชัน Wallet@POST บริการ ePacket ระหว่างประเทศ บริการ Cool EMS บริการของดีทั่วไทยส่งให้ถึงมือ ซึ่งเป็นบริการรับสั่งซื้อสินค้าและอาหารอร่อยที่มีชื่อเสียงจากภููมิภาคต่างๆ ตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ (iBox)  บริการ DriveThru Post ส่งของ…ไม่ต้องลงจากรถ”

ในส่วนบริการส่งด่วน EMS ซึ่งเป็นจุดขายหลักที่ไปรษณีย์ไทยสามารถยึดฐานลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่นและมีแนวโน้มเติบโตสูง เฉพาะช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอด EMSเติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 26%

ดร.ดนันท์ กล่าวว่า  บริการส่งด่วนมีการแข่งขันมากที่สุดในตลาด แต่ประเด็นเรื่องราคาไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องฟังก์ชันรองรับความต้องการ เพื่อทำให้การส่ง First Mile/Last Mile มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาโซลูชันให้เกิดความสะดวกมากที่สุด ซึ่งส่งด่วน EMS ของไปรษณีย์ไทยเหนือกว่าคู่แข่ง เพราะมีเครือข่ายทั่วประเทศ ให้บริการตลอด 365 วัน มีบริการรับฝากสิ่งของถึงหน้าบ้าน (Pick up Service) ที่จองในระบบตลอด 24 ชั่วโมง มีโปรโมชันส่งในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ราคาเริ่มต้น 25 บาท รายงานสถานะเรียลไทม์

ที่สำคัญ มีระบบแคร์คอนโทรลตามประเภทของสินค้า เช่น ส่งสิ่งของขนาดใหญ่ ส่งต้นไม้ ส่งควบคุมอุณหภูมิ และเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ กลุ่มธุรกิจบริการ เช่น FUZE POST ที่จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ JWD และ FLASH ให้บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิ ร่วมมือกับค่าย AP เชื่อมต่อระบบเรียกและนัดหมายเข้ารับพัสดุถึงประตูบ้าน ซึ่งเตรียมต่อยอดกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ด้วย

มีการเชื่อมโยง Rider Services กับ Robinhood มีความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Telemedicine จัดส่งยารักษาโรค และผนึกกำลังกับกลุ่มสบาย เทคโนโลยี (SABUY) เปิดธุรกิจขนส่ง POST SABUY รับขนส่งพัสดุจากหน้าร้าน (Drop-off store) กว่า 17,000 แห่งทั่วประเทศในเครือ SABUY ด้วย

ถามถึงกลยุทธ์ใหม่ๆ ในครึ่งปีหลัง ดร.ดนันท์ให้รอกิจกรรมการแถลงข่าวประจำปีในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะมีแผนเด็ดๆ เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน.

ตู้แดงดำ

อิทธิพลระบบอังกฤษ

ตู้ส่งจดหมาย หรือตู้ไปรษณีย์ยุคแรกเริ่มมีใช้ในสหราชอาณาจักรเมื่อ ค.ศ.1855 หรือเมื่อ 168 ปีก่อน

ตู้ไปรษณีย์มีหลายรูปแบบ เช่น แบบตั้งกับพื้น แบบติดกับกำแพง สีสันแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเทศ ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษใช้สีแดงและดำเป็นหลัก สหรัฐอเมริกาใช้สีฟ้า

ประเทศไทยเริ่มมีตู้ไปรษณีย์เมื่อปี 2426 ใช้สีแดงและดำ เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งริเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ล้วนได้รับอิทธิพลจากระบบของอังกฤษเป็นหลัก และมีการพัฒนารูปแบบเรื่อยมา แต่ยังคงยึดสีแดง-ดำ โดยรูปแบบปัจจุบัน เรียกว่า ตู้ไปรษณีย์แบบ A เป็นทรงโค้ง มีต้นแบบจากโค้งขอบโลกและมีช่องใส่ไปรษณียภัณฑ์เพียงช่องเดียว ไม่ใช่ 2 ช่องแบบเดิมที่แบ่งปลายทางกรุงเทพฯ-ปริมณฑล กับต่างจังหวัด

ในอดีต ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยตั้งอยู่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกา ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีส่วนฐานสูง 1.30 เมตร ส่วนตู้สูง 2.90 เมตร สร้างเมื่อปี 2467 ต่อมามีการสร้างตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่ 3.5 เท่าในบริเวณเดียวกัน ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตู้ทั้งสองใบยังสามารถใช้ส่งจดหมายได้

ปัจจุบัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย ติดตั้งตู้ให้บริการประชาชนทั่วประเทศรวม 22,268 ตู้ แต่เราสามารถดูตู้ไปรษณีย์แบบต่างๆ ของไทยในอดีต ซึ่งสร้างจำลองขึ้นใหม่ได้ที่สำนักงานไปรษณีย์นครหลวงเหนือ ข้างสถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย.