วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > บ้านปูจับธุรกิจปลายน้ำ เดินหมากด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

บ้านปูจับธุรกิจปลายน้ำ เดินหมากด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ความแข็งแกร่งของบริษัทบ้านปูดูจะเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตานักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติไม่น้อย ด้วยชื่อชั้นการเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านพลังงานจากถ่านหิน น่าจะสามารถเรียกได้ว่าเป็นมือวางอันดับต้นๆ ในแวดวงธุรกิจพลังงาน

กระนั้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา การเปิดตัวบริษัทลูกที่ถือว่าเป็นน้องใหม่แห่งวงการธุรกิจพลังงานอย่างบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการด้านการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร “ถ้าเปรียบบริษัทบ้านปู เป็นเหมือนลูกชาย บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี ก็เป็นเหมือนลูกสาว” สมฤดี ชัยมงคล กรรมการบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด กล่าวในพิธีเปิด

แม้ว่านัยหนึ่งของการเบนเข็มธุรกิจของบ้านปูมาให้ความสำคัญในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น จะสอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ที่มีแผนว่าจะพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยแผนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2558-2579 (Alternative Energy Development plan: AEDP 2015) ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนโดยรวมของประเทศจาก 13.9 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2579

กระนั้นอีกนัยหนึ่งที่น่าขบคิดว่า นี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี นั่นเพราะการขาดทุนสูงถึง 1,534 ล้านบาท ในปี 2558 ซึ่งนับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 15 ปีของ บมจ.บ้านปู

ซึ่งผลจากการขาดทุนดังกล่าว มีสาเหตุจากการตกต่ำของราคาถ่านหิน ที่เหลือเพียง 55.53 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2558 ทั้งที่ในปี 2557 ราคาถ่านหินเฉลี่ยอยู่ที่ 65.36 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องน่าจะมาจากสาเหตุของปริมาณการผลิตทั่วโลกเกินความต้องการ ทั้งที่เมื่อ 4 ปีก่อนราคาถ่านหินเคยขึ้นไปแตะที่ 120 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ราคาถ่านหินที่ตกต่ำส่งผลกระทบขยายวงกว้างเสมือนระลอกคลื่น เมื่อเป็นช่วงขาลงของราคาถ่านหิน ทำให้นักลงทุนปรับลดสัดส่วนการถือหุ้น BANPU จากเดิมที่ถือเกิน 40 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์

และการปรับหมากในการดำเนินธุรกิจมาสู่พลังงานแสงอาทิตย์ น่าจะเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักลงทุนอีกครั้ง เพราะความผันผวนของธุรกิจไฟฟ้าแทบจะไม่มีเมื่อเทียบกับธุรกิจเหมืองถ่านหิน

ทั้งนี้แผนการของบ้านปูคือ ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากพลังงานสะอาดเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,800 เมกะวัตต์ และจะขยายกำลังการผลิตไปที่ 2,400 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563

“บริษัทฯ เชื่อว่าแนวโน้มพลังงานทดแทนในไทยจะชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้บ้านปู อินฟิเนอร์จี นับเป็นธุรกิจปลายน้ำ และเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มแผนกลยุทธ์ Greener & Smarter ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของบ้านปู อันจะทำให้กลุ่มบ้านปูฯ มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างแข็งแกร่งพร้อมจะเป็นผู้นำให้บริการด้านพลังงาน” สมฤดีอธิบาย

สำหรับ บ้านปู อินฟิเนอร์จี นั้นในระยะแรกจะให้บริการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ระบบไฟถนน และอุปกรณ์ไฟส่องสว่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงการให้คำปรึกษา ออกแบบระบบ ติดตั้ง ตรวจสอบ ไปจนถึงซ่อมบำรุง

โดยตลาดสำคัญของบ้านปู อินฟิเนอร์จี คือกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการลดต้นทุนการบริหารจัดการประหยัดค่าไฟฟ้า ทั้งนี้บรรดาผู้ประกอบการที่สนใจและต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ไม่ต้องลงทุนค่าติดตั้งหรือค่าอุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปในรูปแบบของสัมปทาน

ซึ่งบ้านปู อินฟิเนอร์จีจะทำการติดตั้งระบบโซลาเซลล์ให้เจ้าของพื้นที่แบบไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเจ้าของพื้นที่ได้รับส่วนลดค่าไฟจากระบบโซลาร์ พร้อมการดูแลรักษาระบบและอุปกรณ์ตลอดอายุสัญญา และได้รับโอนกรรมสิทธิ์ให้เจ้าของพื้นที่หลังครบสัญญา ทั้งนี้รูปแบบการให้บริการแบ่งเป็น 3 รูปแบบ แต่ละรูปแบบจะมีอายุสัญญาต่างกัน

การจับจุดความต้องการของคนไทยที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยดูแลโลกอย่างยั่งยืนด้วยการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ นับเป็นความฉลาดของบ้านปู ที่หยิบเอาประเด็นรอบตัวมาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งประจวบเหมาะกับการแก้ไขสถานการณ์ภาพรวมของบริษัท

หลายคนเกิดคำถามว่าบ้านปู อินฟิเนอร์จีมุ่งแต่จะจับกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรม มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หากบ้านปู อินฟิเนอร์จีจะแตกแขนงและหันมาจับกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรร เมื่อความต้องการที่จะใช้พลังงานสะอาดไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

“ในช่วงแรกเราคงให้ความสำคัญที่กลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ Commercial เป็นหลักก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ขยายฐานลูกค้าออกไปยัง Residential และ Government ซึ่งในอนาคตเรายังมีความตั้งใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำระบบการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) มาใช้ในการควบคุมการผลิต การส่ง และการกักเก็บพลังงานในอนาคต” นายหญิงของบ้านปูกล่าว

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของบ้านปู อินฟิเนอร์จี ต่อเรื่องการสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น สมฤดีชี้แจงว่า นับจากนี้ 5 ปี บริษัทต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 300 เมกะวัตต์ ด้วยงบประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบ้านปู อินฟิเนอร์จี น่าจะสร้างรายได้ให้กลุ่มบ้านปูได้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าปัจจุบันจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10 เมกะวัตต์ โดยคาดหวังว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 20 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี และจะเร่งเครื่องเดินหน้าเต็มอัตราเพื่อให้ได้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 80 เมกะวัตต์ ภายในปี 2561 ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักจะอยู่ที่โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน และห้างสรรพสินค้า

แม้ว่าเป้าหมายที่บ้านปูวางไว้ดูจะไม่ไกลเกินเอื้อมนัก หากแต่เทรนด์การใช้พลังงานสะอาดที่ขยายตัวและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาอุปกรณ์รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายแล้ว หากรัฐบาลเปิดไฟเขียวให้ประชาชนสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เอง โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นใด คงทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยปรับเปลี่ยนและหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟทอปด้วยตัวเองกันมากขึ้น นี่อาจจะทำให้บ้านปูต้องคอยหากลยุทธ์อื่นๆ ขึ้นมาเสริมทัพในวันข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ทุกวันนี้จะมีบริษัทที่หันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทนจำนวนมาก หากแต่รูปแบบของธุรกิจจะออกมาลักษณะการสร้างโซลาร์ฟาร์ม เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก และส่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเสียเป็นส่วนใหญ่

เช่น บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่เข้าซื้อกิจการโซลาร์ฟาร์มแม่ระมาด จ.ตาก ที่มาพร้อมกำลังการผลิตติดตั้ง 6.3 เมกะวัตต์ เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC รุกคืบธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในไทยและต่างประเทศ และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ไทย โซล่า เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในไทย โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตกว่า 80 เมกะวัตต์

การขยายตัวของธุรกิจพลังงานทดแทนดูจะเห็นชัดและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อพลังงานถูกมองว่าเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นอีกปัจจัยที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม แรงงาน และสังคม

ในมิติแห่งการขับเคลื่อนของนักธุรกิจ นักลงทุน ต่อธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ดูเหมือนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ สอดรับกับแผนนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลอย่างลงตัว โดยนโยบายดังกล่าวต้องการยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงาน และนำนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนา ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต จัดหา แปรรูป ไปจนถึงการใช้ตามประเภทพลังงาน

กระนั้นคำถามที่น่าขบคิดต่อคือ หากปริมาณนักลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงกำลังการผลิตที่มากขึ้นจนถึงขอบเขตรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ อนาคตพลังงานทางเลือกในไทยจะเป็นเช่นไร ใครจะเป็นคนให้คำตอบ

ใส่ความเห็น