วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > เงินเฟ้ออ่วม โลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ส่องโอกาสที่ไทยคว้าได้

เงินเฟ้ออ่วม โลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ส่องโอกาสที่ไทยคว้าได้

ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75% สู่ระดับ 1.5-1.75% เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 หรือในรอบ 28 ปี ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะสกัดภาวะเงินเฟ้อที่กำลังทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้

ในห้วงยามนี้ทุกประเทศกำลังประสบกับสภาวะเงินเฟ้อ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ โดยสถานการณ์เงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ ยังคงเร่งตัวต่อเนื่องที่ 8.6% และยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัว ประกอบกับมีการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวของภาคครัวเรือนที่จัดทำโดย University of Michigan ยังปรับสูงขึ้นเป็น 3.3% ในเดือนมิถุนายน จึงทำให้ Fed กังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมคาดการณ์เงินเฟ้อได้ และจะทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น

นอกจากนี้ คาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ยังบ่งชี้ถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.75% ในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.4% ในสิ้นปีนี้ และ 3.8% ในสิ้นปีหน้า ก่อนปรับลดลงสู่ 3.4% ในปี 2024

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 75 และ 50 bps ในเดือนกรกฎาคมและกันยายน เพื่อชะลอความร้อนแรงของการฟื้นตัวของอุปสงค์ และทำให้อัตราเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ปรับลดลงมาใกล้เคียงเป้าหมายเงินเฟ้อมากขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้ Fed ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่สูงคือ แรงกดดันเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับสูง

โดย EIC คาดว่าในเดือนมิถุนายนอัตราเงินเฟ้อจะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ใกล้เคียงกับในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงทำให้ Fed ยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูง โดยเมื่อมองย้อนกลับไปในวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2004 และ 2015 พบว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ราว 3% และ 0.5% ตามลำดับ ซึ่งในขณะนั้น Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25 bps

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่สูงถึง 8.6% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ 2% มาก ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอดีตมาก นอกจากนี้ คาดการณ์เงินเฟ้อในอีก 5 ปีข้างหน้าของผู้บริโภคที่สูงถึง 3.3% และคาดการณ์เงินเฟ้อในอีก 1 ปีข้างหน้าที่ 5.4% ก็สะท้อนถึงมุมมองของผู้บริโภคที่ยังมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายได้ ซึ่งแตกต่างจาก Lihing Cycle ในอดีตที่คาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่า 3%

การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาแตกต่างกัน โดยพบว่ากลุ่มเศรษฐกิจลาตินอเมริกามีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากทั้งเสถียรภาพด้านต่างประเทศและด้านราคาอ่อนแอ ส่วนไทยนั้นเสถียรภาพอ่อนแอลงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินเฟ้อที่เร่งตัว แต่คาดว่าปรับดีขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง EIC มองว่า ในระยะต่อไปอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อีกเล็กน้อย โดยปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี คือ 1. การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลของ Fed ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้อีก โดย EIC คาดว่า อัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีกเล็กน้อยในปีนี้ แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยได้ถูกสะท้อนไปในราคามากแล้ว

2. ทิศทางของอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินโลกและไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ โดยการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนสหรัฐฯ ถึง 80%

3. แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ที่คาดว่าจะปรับดีขึ้นจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เมื่อประเทศที่อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากประเทศมหาอำนาจ นั่นหมายความว่า ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในประเทศมหาอำนาจย่อมส่งผลเสมือนระลอกคลื่นแทบทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต หลายภาคส่วนกำลังกังวลถึงความถดถอยที่เริ่มหนักข้อขึ้น เงินเฟ้อที่ขยายวงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง สินค้าอุปโภคบริโภคพาเหรดขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้ยังคงตัวหรือในกรณีโชคร้ายคือ ประชาชนบางส่วนรายได้ลดลง

ทว่า ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ในประเด็นที่น่าสนใจว่า ไทยน่าจะพอมีโอกาสให้ไขว่คว้าในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ “สำหรับวิกฤต Perfect Storm ที่กำลังก่อตัว อันเป็นผลมาจาก 1. ความขัดแย้งในยุโรป 2. สงครามของเฟดกับเงินเฟ้อและฟองสบู่ และ 3. ปัญหาเศรษฐกิจของจีน”

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล มองว่าไทยสามารถมองหาโอกาสในวิกฤตในครั้งนี้ได้อย่างน้อย 9 เรื่อง ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2. อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน 3. ระบบโลจิสติกส์ยุคใหม่ 4. ภาคเกษตร อุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีอาหารแห่งอนาคต 5. อุตสาหกรรมปุ๋ย 6. ภาคการท่องเที่ยว 7. ช่องทางการชำระเงินแบบใหม่ 8. โอกาสเข้าลงทุน และ9. Emerging Market Crisis

ตัวอย่างของประเด็นที่น่าจะสร้างโอกาสให้ไทยและผู้ประกอบการได้ ดร.กอบศักดิ์มองว่า “อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ช่วงที่ผ่านมาหลายคนลังเลใจว่าจะเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าดีหรือไม่ รวมไปถึงมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แต่ราคาน้ำมันเบนซินที่ 50 บาท และน้ำมันดีเซลที่ 30 กว่าบาท กำลังทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็เช่นกันที่ลังเล เริ่มออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนไปสู่ EV ซึ่งเมื่อมีคนซื้อคนใช้มากขึ้น เทคโนโลยีอุตสาหกรรมและ Ecosystem ของรถไฟฟ้าก็จะดีขึ้นมาก ทำให้อีกหลายคนอยากใช้เช่นกัน

หรือประเด็นภาคเกษตร อุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีอาหารแห่งอนาคต วิกฤตพลังงานและอาหารโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะเป็นโอกาสของไทยในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและส่งออกอาหาร เราจะเห็นได้จากราคาปาล์มน้ำมัน ราคายางที่ดีเป็นพิเศษในช่วงนี้ เมื่อเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความต้องการอาหารจากไทยกำลังเพิ่มขึ้น ยิ่งประเทศต่างๆ เริ่มปกป้องตัวเองและใช้นโยบาย Food Protectionism มากขึ้นเท่าไร ผลดีกับผู้ผลิตไทยก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น เช่น มาเลเซียประกาศหยุดส่งออกไก่ สิงคโปร์สั่งจากไทยเข้าไปทดแทน ขณะเดียวกันเทคโนโลยีอาหารแห่งอนาคตและเทคโนโลยีการผลิตอาหารแบบใหม่ จะช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่ม Yield ก็จะถูกพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน จากราคาอาหารโลกที่สูงลิ่วรอบนี้

ซึ่งหากพิจารณาจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศของตัวเองนั้น ส่งผลดีต่อไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป เมื่อไทยเป็นผู้ผลิตอาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และอาหารยังมีเพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ

ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมองว่า นี่เป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโตในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญหรือครัวโลก จะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรกปี 2565 ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยสินค้าเกษตรไทยสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 418,883 ล้านบาท เป็น 516,127 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูน่าปรุงแต่ง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้

ประเด็นด้านการท่องเที่ยว ดร.กอบศักดิ์มองว่า “ภาคการท่องเที่ยวช่วงนี้ในภูเก็ต ในบาหลี จะมีคนจากยูเครน จากรัสเซีย หลบร้อนมาพึ่งเย็นมากขึ้น ทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และ Startups ยิ่งปัญหาในยุโรปไม่จบง่าย และอาจจะลุกลามบานปลาย ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคุกรุ่น หลายคนก็เริ่มจะพยายามหาพื้นที่ที่สงบ สันติ มาเป็นบ้านที่สองของเขา และเป็นโอกาสในการเข้ามาทำธุรกิจในเอเชีย ซึ่งกำลังจะเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตของโลกในช่วงต่อไป

เรื่องนี้ก็จะเป็นโอกาสของไทยในการเลือกรับเอาคนเหล่านี้เข้ามา ที่จะช่วยภาคท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะคนเหล่านี้อยู่ยาวกว่านักท่องเที่ยวตามปกติ ช่วยยกระดับวงการ Startups ไทย และช่วยให้ไทยก้าวขึ้นไปเป็น Hub ของการทำธุรกิจในระดับภูมิภาคได้เร็วขึ้น”

สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันเริ่มเห็นทิศทางที่สดใสขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา แม้จะยังไม่ใช่จำนวนที่เคยมีก่อนเกิดโควิด-19 ทว่า ช่วยให้บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยดีขึ้น ผู้ประกอบการที่อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวและภาคบริการเริ่มมีรายได้ ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการจากภาครัฐที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาได้สะดวกขึ้น ไทยจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง

แม้โอกาสที่ว่ามาข้างต้นจะยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจขาลงที่มีภาวะเงินเฟ้อกดทับ และมูลค่าของเงินที่ลดน้อยลงในปัจจุบัน แต่น่าจะทำให้พอพยุงรายได้ของประชาชน ผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ย่อท้อและเอื้อมมือคว้าโอกาสเอาไว้ได้ โดยที่ต่างทราบกันดีว่า ภาวะเศรษฐกิจกว่าจะกลับมาดีเช่นเดิมนั้นคงต้องใช้เวลาหลายปีก็ตาม.

ใส่ความเห็น