วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > สายการบินราคาประหยัด แอร์เอเชีย ยังทิ้งห่างคู่แข่ง?

สายการบินราคาประหยัด แอร์เอเชีย ยังทิ้งห่างคู่แข่ง?

 
ฤดูการท่องเที่ยวปลายปี กำลังกลายเป็นแนวรบสำหรับสายการบินราคาประหยัดให้ต้องห้ำหั่นและอัดแคมเปญจูงใจนักเดินทางอย่างหนัก ด้วยหวังจะเร่งสร้างยอดรายได้ให้พลิกฟื้นกลับมาหลังจากอยู่ในสภาพซบเซามานานจากทั้งเหตุเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
 
แผนการตลาดช่วงปลายปีที่ว่านี้ ไทยแอร์เอเชีย ดูจะมีระบบและวิธีคิดที่ต่อเนื่องล้ำหน้าคู่แข่งขันทั้งนกแอร์ และไทยสมายล์ อยู่พอสมควร เพราะนอกจากจะมีโปรโมชั่นบัตรโดยสารราคาถูกพิเศษเริ่มต้นที่ 0 บาทออกมาเอาใจนักเดินทางแบบข้ามปีแล้ว ยังมีบริการส่งเสริมการขาย พร้อมกับการเปิดเส้นทางการบินภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 4 เส้นทางการบิน
 
การเปิดเส้นทางการบินเพิ่มของไทยแอร์เอเชีย ทำให้จำนวนจุดหมายปลายทางของไทยแอร์เอเชีย ครอบคลุมหัวเมืองสำคัญในภูมิภาคมากขึ้นไปอีก และทำให้ไทยแอร์เอเชียสามารถใช้ศักยภาพของฝูงบิน A320-200 ที่ประจำการอยู่ 40 ลำ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยิ่งทำให้ไทยแอร์เอเชียสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิผล
 
ประเด็นนี้อาจเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ฉุดรั้งความสามารถของคู่แข่งขันอย่างนกแอร์และไทยสมายล์ไปโดยปริยาย และก่อให้เกิดปัญหาในการให้บริการอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจติดตามอย่างมากในช่วงที่การแข่งขันกำลังเข้มข้นนี้ก็คือ ข่าวที่เครื่องบินของนกแอร์ประสบปัญหาไม่สามารถให้บริการได้ในเที่ยวบินตามตารางการบิน เชียงใหม่-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุเพียงว่าเกิดจากการขัดข้องทางเทคนิค
 
จำนวนเครื่องบินประจำฝูงบินอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน เพราะหลังจากที่ สายการบินราคาประหยัดเกือบทุกรายย้ายฐานการปฏิบัติการมาอยู่ที่ดอนเมือง ทำให้ข้อแตกต่างของการให้บริการภาคพื้นดินระหว่างสายการบินแต่ละแห่งหดหายไปโดยปริยาย
 
จุดชี้ขาดในการเลือกใช้บริการของผู้โดยสารจึงชี้วัดกันที่ระดับราคาค่าโดยสาร การให้บริการบนเครื่อง และแน่นอนว่าความสะดวกสบายและปลอดภัยของอากาศยานย่อมเป็นปัจจัยที่ผู้โดยสารให้ความสนใจ
 
ไทยแอร์เอเชียใช้ประเด็นดังกล่าวสื่อสารการตลาดให้ผู้โดยสารรับฟังมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเน้นนโยบายใช้เครื่องบินที่ใหม่อยู่ตลอดเวลาของไทยแอร์เอเชีย เป็นวิธีการหนึ่งในการดึงดูดใจลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากสายการบินต้นทุนต่ำแห่งอื่นๆ และทำให้ไทยแอร์เอเชียสามารถลดต้นทุนในการบำรุงรักษาได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกในสถานการณ์การแข่งขันที่บีบคั้นของอุตสาหกรรมการบินในขณะนี้ก็คือ ความได้เปรียบเรื่องเส้นทางการบินที่หลากหลาย และจำนวนความถี่ในเส้นทางหลัก ที่ดูเหมือนว่าไทยแอร์เอเชียจะบริหารจัดการได้ดี เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันรายอื่นๆ
 
ทิศทางการเติบโตของไทยแอร์เอเชียสอดรับและดำเนินไปท่ามกลางโครงสร้างใหญ่ของแอร์เอเชีย ที่กำลังจะครบรอบ 20 ปี ของการให้บริการในปี 2016 และเป็นแบรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจติดตามไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเป็น Regional Brand ของทั้ง ASEAN และ Asia ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
จังหวะก้าวที่ว่านี้ ไปไกลเกินกว่าที่ทั้งนกแอร์และไทยสมายล์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการกำหนดบทบาทจากการบินไทยที่หวังจะชูให้เป็น “Regional Brand” ด้วยการเป็นหัวหอกในการขยายจุดบินในเมืองหลักและเมืองรองของอาเซียน อินเดีย และจีน ซึ่งหลายเส้นทางบินจะเป็นการทดแทนเส้นทางบินของบริษัทแม่ และหวังให้ไทยสมายล์ เข้ามาปาด “ขอบบน” ของตลาดโลว์คอสต์ จะไล่ตามทัน
 
ความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบายที่ปรากฏขึ้นในกรณีของทั้งไทยสมายล์และนกแอร์ ทำให้แทนที่สายการบินราคาประหยัดทั้งสองแห่งซึ่งมีการบินไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับการบินไทยได้อย่างเต็มที่ และบ่อยครั้งทำให้เกิดท่วงทำนองที่ละล้าละลังไม่น้อย 
 
แตกต่างจากเข็มมุ่งของโทนี เฟอร์นานเดส ผู้ก่อตั้ง AirAsia และเพิ่งครบรอบปีที่ 18 ของการให้บริการการบินอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งระบุชัดเจนว่า “ต้องการสร้างการเชื่อมโยงในอาเซียน และทำให้ภูมิภาคนี้แคบลง”
 
ภายใต้บริบทที่ ASEAN พยายามเชื่อมโยงประเทศภายในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึง Regional Connectivity หรือแม้กระทั่งการพัฒนาไปสู่ AEC ดูเหมือนว่า Air Asia ซึ่งในวันนี้มีสถานะเป็นสายการบินที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการเอกชนจะมีความพร้อมที่จะรองรับเรื่องราวดังกล่าวอยู่แล้ว
 
เนื่องเพราะจุดหมายปลายทางในเส้นทางการบินของ Air Asia ในปัจจุบันสามารถดำเนินครอบคลุมพื้นที่เมืองหลวงและเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ หรือแหล่งท่องเที่ยวหลักสำคัญของประเทศภาคีสมาชิก ASEAN ไว้อย่างครบถ้วน
 
นอกจากนี้ AirAsia ยังขยับหนีผู้ประกอบการ low cost รายอื่นๆ ด้วยการเปิดตัวสายการบินใหม่เพื่อบริการเส้นทางบินพิสัยไกล (Medium-Long Haul) ที่ใช้เวลาบินระหว่าง 4-8 ชั่วโมง ในนาม AirAsia X  มาตั้งแต่เมื่อปี 2007ก่อนที่จะขยายมาสู่การดำเนินรอยตามยุทธศาสตร์ที่ Thai AirAsia X และ Indonesia AirAsia X ในเวลาต่อมา
 
ความเคลื่อนไหวของ AirAsia ดังกล่าวส่งผลต่อภูมิทัศน์ในธุรกิจสายการบินไม่น้อย เพราะภายใต้บริการ Fly-Thru ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระหว่าง Thai AirAsiaX กับเครือข่ายเส้นทางบินของ Thai AirAsia ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการมีระบบเดียวกันและเรื่องตารางบิน ทำให้ AirAsia ขยับขึ้นไปชิงส่วนแบ่งผู้โดยสารจากญี่ปุ่นและเกาหลีจากสายการบินอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
 
การแข่งขันบนน่านฟ้าทำให้ Scoot สายการบินราคาประหยัดในเส้นทางขนาดไกลในเครือของ Singapore Airlines ประกาศเป็นพันธมิตรกับนกแอร์ เพื่อสร้าง NokScoot ขึ้นมาต่อกรและเสริมความแข็งแกร่ง ภายใต้คำขวัญล่าสุด ที่ระบุว่า “Fly Awesome” ด้วยหวังช่วงชิงพื้นที่รองรับกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสายการบิน low cost long haul ที่มี AirAsia X เดินหน้าบินไกลไปก่อนหน้านี้
 
บนน่านฟ้าที่เปิดกว้าง ดูเหมือนว่าการแข่งขันของสายการบินราคาประหยัดในชั่วโมงนี้ คงต้องรอคอยให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ แสวงหาหนทางในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมาต่อกรและช่วงชิงพื้นที่ ก่อนที่จะปล่อยให้ AirAsia ทิ้งห่างออกไปมากกว่านี้
 
Relate Story