วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > “เป้าใหญ่” ของกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้การนำของแม่ทัพชื่อ “ทศ”

“เป้าใหญ่” ของกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้การนำของแม่ทัพชื่อ “ทศ”

หลังจากมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ในที่สุด แม่ทัพใหญ่คนใหม่แห่งเครือเซ็นทรัล “ทศ จิราธิวัฒน์” ก็ได้ออกมาเผยถึงยุทธศาสตร์ในการรุกรบที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น “ผู้นำ” สมรภูมิธุรกิจค้าปลีกและบริการของภูมิภาคภายใน 10 ปี 
 
โดยก้าวแรกของการเตรียมตัวพิชิตเป้าซึ่งแม่ทัพคนใหม่มองว่าเป็นก้าวสำคัญเพราะเป็นรากฐานในการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ การปรับองค์กรและจัดทัพผู้นำในแต่ละกลุ่มธุรกิจ (Business Unit) ใหม่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในรอบ 28 ปี สมกับเป็นก้าวแรกของ “บทถัดไป” ของกลุ่ม อันเป็นคอนเซ็ปต์งานแถลงเปิดตัวกองทัพผู้บริหารระดับสูงร่วม 20 ชีวิต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
 
เพื่อให้สื่อมวลชนรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ในงานแถลงข่าวครั้งนี้จึงมีรูปแบบที่แตกต่างจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด จากที่ผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัลทั้ง 5 กลุ่มจะขึ้นมานั่งร่วมกับอดีตประธานกรรมการบริหาร สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ในการแถลงวิสัยทัศน์ของเครือฯ ก่อนจะโยนให้ผู้บริหารแต่ละกลุ่มธุรกิจลงรายละเอียด 
 
มาปีนี้ ทศขึ้นมาแถลงวิสัยทัศน์บนเวทีเพียงคนเดียว โดยมีผู้บริหารระดับสูงหลายสิบชีวิตให้กำลังใจอยู่ด้านข้าง โดยทศให้เหตุผลทีเล่นทีจริงในการจัดงานรูปแบบใหม่ว่า เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้นและเหมือนกับการแถลงของ “สตีฟ จ็อบส์” 
 
การปรับทัพของกลุ่มเซ็นทรัลครั้งนี้ ไล่มาตั้งแต่ระดับบนสุดคือ ตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด โดยได้แต่งตั้งสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนวันชัย จิราธิวัฒน์ ที่ถึงแก่กรรมในปีที่ผ่านมา มีหน้าที่กำกับดูแลและให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการบริหาร ที่เรียกว่า Central Group Executive Committee ซึ่งมีทศเป็นประธานฯ แทนสุทธิธรรมที่เกษียณอายุเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2556  
 
ทีมกรรมการบริหาร (ExCom) ถือเป็นทีมหลักในการผลักดันงานของทุกกลุ่มธุรกิจให้ลุล่วงตามเป้าหมาย โดยนอกจากทศ ยังมีผู้บริหารคนสำคัญของบริษัทและของตระกูลจิราธิวัฒน์อีก 4 คน คือ กอบชัย อดีตแม่ทัพใหญ่แห่งกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาฯ (CPN) ที่โบกมือลาตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ, ปริญญ์ ผู้ดูแลสายการเงินให้กับกลุ่มเซ็นทรัลมานานกว่า 10 ปี โดยยังมีสุทธิลักษณ์ และณรงค์ฤทธิ์ ผู้บริหารที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จหลายครั้งของเครือเซ็นทรัล
 
“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญสู่การบริหารงานยุคใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อก้าวสู่ผู้นำในระดับสากล” สุทธิชัยกล่าว
 
ว่ากันว่า มีหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้บริหารหนุ่มใหญ่วัย 49 ปี อย่างทศ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำทัพของกลุ่มเซ็นทรัล โดยเหตุผลแรกคือ เขานั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มฯ มากว่า 24 ปี หรือกว่าครึ่งชีวิต และเขาเป็น “สายเลือด” ที่มีความรัก (passion) ในธุรกิจค้าปลีกของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก
 
เหตุผลต่อมาคือ หลังจากที่เขาขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มเซ็นทรัลรีเทลฯ หรือ “CRC” เมื่อปี 2545 เขาได้สยายปีก CRC ไปยึดหัวหาดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ เช่น สเปเชียลตี้สโตร์ ซูเปอร์สโตร์ ฯลฯ จน CRC กลายเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้มากสุดของกลุ่ม
 
แต่เหตุผลสำคัญคือ การนำ CRC ก้าวสู่ตลาดโลกได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการซื้อกิจการห้างหรูในยุโรปใน 2 เมืองใหญ่ คือ “ลา รีนาเซนเต” ห้างเก่าแก่อายุ 150 ปี ณ เมืองมิลาน อิตาลี ต่อด้วยการซื้อกิจการ “อิลลุม” ห้างเก่าแก่อายุเกินกว่า 120 ปี ณ เมืองโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการค้าปลีกไทย เป็นผลให้ชื่อ “เซ็นทรัล” เข้าไปติด “Top 5” ห้างค้าปลีกโลก ซึ่งเวทีโลกถือเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ผู้บริหารระดับสูงของเซ็นทรัลทุกคนฝันใฝ่อยากเห็นองค์กรก้าวไปถึง
 
“นับตั้งแต่สมัยที่คุณพ่อ (สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์) เป็นซีอีโอเมื่อ 28 ปีที่แล้ว เราก็เพิ่งมีการปรับองค์กรครั้งใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 โดยมีการปรับทีมผู้บริหารระดับสูงโดยรวมเกือบ 20 คน”  ทศเกริ่น
 
กล่าวกันว่า นอกจากผู้บริหารระดับสูงทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ การปรับองค์กรครั้งนี้ยังเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้บริหารระดับกลางที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ของตระกูลได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้งานกับ “รุ่นใหญ่” ด้วย 
   
ทั้งนี้ การจัดกองทัพผู้นำกลุ่มธุรกิจใหม่เป็นไปตามโครงสร้างองค์กรที่มีการปรับใหม่ จากเดิมที่กลุ่มเซ็นทรัลแบ่งธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่ม (Business Unit) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก, กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มธุรกิจค้าส่ง, กลุ่มธุรกิจโรงแรม และกลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มที่ใช้มากว่า 20 ปี 
 
สำหรับโครงสร้างองค์กรใหม่ แบ่งธุรกิจออกเป็น 8 กลุ่ม ซึ่งเป็นการแตกกลุ่มย่อยในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเดิมออกมาเป็น 4 กลุ่มธุรกิจใหม่ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า, กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน
 
พร้อมกับขยับทิศทางของ 4 กลุ่มธุรกิจที่เหลือให้ชัดเจนขึ้น โดยกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนเป็นกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า กลุ่มธุรกิจค้าส่งเปลี่ยนเป็นกลุ่มธุรกิจบริหารและจัดการสินค้านำเข้า กลุ่มธุรกิจโรงแรมเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารเปลี่ยนเป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร
 
ทศกล่าวว่า เหตุผลสำคัญของการปรับองค์กรครั้งนี้ เนื่องจากก้าวต่อไปของเซ็นทรัลจะเน้นการเติบโตและขยายงาน โดยเฉพาะการขยายไปต่างประทศ ซึ่งมีความจำเป็นที่ทั้งกลุ่มเซ็นทรัลจะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมองว่า ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ 5 กลุ่มเดิมมีการทำงานเป็นเอกเทศมากจนไม่สามารถเชื่อมโยงประสานประโยชน์ระหว่างกัน (synergy) ได้อย่างเต็มที่ 
 
“องค์กรเราเปลี่ยนโครงสร้างจาก 5 กลุ่ม เป็น 8 กลุ่ม โดยทุก BU มีผู้บริหารรับผิดชอบดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายคือ ต้องทำให้กลุ่มของตัวเองเป็นผู้นำและเป็นเลิศในอุตสาหกรรมที่ตัวเองทำอยู่ พร้อมกับการทำงานร่วมกันในกลุ่มอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมศักยภาพของกลุ่มผ่านการ synergy ซึ่งถ้าเรามีการจัดโครงสร้างองค์กรให้ดีขึ้น กลุ่มเซ็นทรัลก็จะแข็งแรงขึ้น”
 
ไม่เพียงหน่วยธุรกิจ 8 กลุ่ม การปรับโครงสร้างครั้งนี้ยังผลให้เกิดหน่วยงานสำคัญอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มงานสนับสนุนส่วนกลาง (Supporting Unit) และกลุ่มการเงิน (Financial Unit) ที่มีหน้าที่เสริมศักยภาพการทำงานของทุก BU ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในหน่วยงานสนับสนุนส่วนกลางยังมีหน่วยงานใหม่ คือ ฝ่ายงานสร้างสรรค์ และฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource)
 
“ต้องเรียนว่าในอดีต กลุ่มเซ็นทรัลไม่มีฝ่าย HR เพราะแต่ละ BU จะดูแลกันเอง ปัจจุบันเรารวมศูนย์ขึ้นมา เพราะเราย้ำกันหลายครั้งว่า อนาคตของกลุ่มเซ็นทรัลขึ้นอยู่กับ “องค์กรที่ดี” หรือ “ระบบที่ดี” กับ “ผู้บริหารที่ดีและเก่ง” องค์กรจึงจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” 
 
สำหรับเป้าในปีแรก ทศตั้งเป้ายอดขายปี 2557 อยู่ที่ 2.67 แสนล้านบาท เติบโต 14% จากปี 2556 ซึ่งปิดที่ราว 2.34 ล้านบาท ขณะที่งบลงทุนปีนี้ตั้งไว้ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเม็ดเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมการซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งทำให้เครือเติบโตเฉลี่ย 3-4% ต่อปีมาตลอด 4 ปี โดยเขากำชับให้ทุกกลุ่มธุรกิจพิจารณากลยุทธ์ M&A เป็นแนวทางหลัก เพื่อเร่งการเติบโตของกลุ่ม 
 
ทศย้ำว่า ปี 2557 จะเป็นปีที่กลุ่มเซ็นทรัลจะขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการขยายตัวในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จากปัจจุบันที่เซ็นทรัลมีธุรกิจอยู่ใน 15 ประเทศ ทั้งอาเซียนและยุโรป โดยเขาตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้จากต่างประเทศให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 15% ให้กลายเป็น 30% ภายใน 10 ปี โดยเป้าหมายระยะยาวคือ รายได้จากในประเทศและต่างประเทศมีสัดส่วนราว 50: 50  
 
พร้อมกันนั้น ทศยังหวังว่า ภายใน 10 ปี เขาจะสามารถนำแบรนด์ “เซ็นทรัล” ก้าวสู่การเป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจค้าปลีกระดับภูมิภาคและเป็นหนึ่งในแถวหน้าบนเวทีโลก โดยเส้นทางที่จะนำไปสู่เป้าดังกล่าวคือ การผนึกศักยภาพและผสานประโยชน์ของกลุ่มผ่านยุทธศาสตร์ “One Group” ที่จะทำให้ทุกย่างก้าวที่ออกไปแข็งแกร่งขึ้น 
 
“เป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าของกลุ่มเซ็นทรัล คือการเป็น “ผู้นำ” ด้านห้างสรรพสินค้าทั้งในไทยและเอเชีย ผมเชื่อว่าการปรับองค์กรครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้เราไปสู่เป้าหมายนี้ได้ และจะทำให้บริษัทเติบโตแบบยั่งยืนต่อไป” ทศย้ำ 
 
แค่เพียงก้าวแรกใน “บทถัดไป” ของกลุ่มเซ็นทรัลภายใต้การนำของ “ทศ จิราธิวัฒน์ ” ยังทำให้องค์กรต้องขยับทั้งองคาพยพเช่นนี้ นี่จึงเป็นราวสัญญาณที่บอกว่า เซ็นทรัลจะมี “ก้าวสำคัญ” อีกหลายก้าวให้ได้ติดตาม แน่นอน