วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > New&Trend > สกสว. ยื่นมือแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ เกษตรกรใต้เสียหายหนัก 4 แสนล้านบาท

สกสว. ยื่นมือแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ เกษตรกรใต้เสียหายหนัก 4 แสนล้านบาท

สกสว.ลงพื้นที่ยะลา หารือการใช้วิจัยและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา โรคเชื้อราในใบทุเรียน และโรคเหี่ยวของกล้วยหิน หลังประเมินความเสียหาย 14 จังหวัด 4 แสนล้านบาทใน 3 ปี

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไข “โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา โรคเชื้อราในใบทุเรียน และโรคเหี่ยวของกล้วยหิน” ณ ห้องประชุมเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรร่วมหารือ เพื่อรับทราบสถานการณ์ปัญหา สถานะขององค์ความรู้และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรของจังหวัดยะลาเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ปี 2562 แต่เมื่อเทียบกับจังหวัดชุมพรที่มีขนาดใกล้เคียงกันพบว่ามีตัวเลขสูงกว่ายะลาเกือบ 4 เท่าตัว สะท้อนถึงการใช้ประโยชน์ทั้งความรู้และเทคโนโลยีที่ต่ำมากของเกษตรกร จึงต้องเร่งหาแนวทางในการสร้างมูลค่าเพื่อให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจขยับสูงขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มีปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในสวนยางพาราและลุกลามไปยังสวนทุเรียน จึงต้องหาเจ้าภาพและงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยนายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เผยว่า ได้หารือในสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เริ่มระบาดในจังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2562 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาแต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ “ปัญหานี้ลุกลามไปในพื้นที่ 14 จังหวัด ถึงวันนี้ประเมินความเสียหายได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท จึงอยากให้ สกสว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความรู้และงานวิจัยเข้ามาช่วยเหลือ ตีกลองผสมโรงระดมสมองแก้ปัญหาที่แสนสาหัสและน่าจะเป็นวาระแห่งชาติ อย่ารอให้ต้นยางตายก่อนค่อยมาคิดใหม่ แม้การแก้ปัญหาจะทำได้ระดับหนึ่งแต่ก็เป็นที่น่าพอใจ”

ลงพื้นที่สวนยางพาราที่มีปัญหาใบร่วง

สารชีวภัณฑ์

โรคราแป้ง

ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. กล่าวว่า เวทีนี้ถือเป็นภารกิจหนี่งของ สกสว.ที่จะเข้ามาดูปัญหาและความต้องการในพื้นที่เพื่อนำกลับไปพิจารณาแผนด้าน ววน. ในภาวะเร่งด่วนและหาแนวทางแก้ไข มีทางเลือกที่เหมาะสมให้เกษตรกร และพร้อมสนับสนุนการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงและแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ขณะที่ผู้แทนสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ระบุว่าประเด็นเร่งด่วนคือต้องบริหารจัดการแปลงและทำให้พืชแข็งแรงทนต่อโรค ส่วนระยะยาวต้องวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของโรคและสภาพแวดล้อม เพื่อให้มีข้อมูลกลางแจ้งเตือนเกษตรกรให้สามารถป้องกันล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบ รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ใหม่ ๆ สิ่งที่อาจทำได้เร็วคือ ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคเพื่อลดการกระจายสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ

ในส่วนของนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้มุ่งใช้สารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย เนื่องจากยะลาเป็นพื้นที่ต้นน้ำ แต่บางพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยการต่อการใช้สารละลายจึงทดลองใช้สารชีวภัณฑ์ชนิดเม็ด มีแปลงทดสอบที่อำเภอกรงปินัง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ศอ.บต. และได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ผ่านมหาวิทยาลัยในโครงการ ‘การพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพของนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้วิกฤติปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้’ ส่วนกล้วยหินได้รับงบประมาณจากอุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนโดยเน้นการใช้งานที่ง่ายและปลอดภัย และมองภาพอนาคตว่าหากเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้นและประสบปัญหาโรคใบร่วงจะทำอย่างไร อยากให้ใช้สารชีวภัณฑ์แบบบูรณาการและได้รับการเติมเต็มจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อคลี่คลายปัญหา รวมถึงการสร้างความตระหนักให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยลง

โรคใบร่วงชนิดใหม่

สวนยางพาราที่พบปัญหาใบร่วงชนิดใหม่

โรคใบจุดก้างปลา

โรคใบจุดตานก

สภาพแปลงที่ประสบปัญหาใบร่วงชนิดใหม่

ขณะที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ระบุว่า ไฟป่าจากอินโดนีเซียเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พืชอ่อนแอ และพบความผิดปกติของใบยางพาราที่ทำให้ใบร่วงทั้งสวน พร้อมกับศึกษาความผิดปกติในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การหาสาเหตุที่แท้จริง การระบาด ความรุนแรงและลักษณะบาดแผล พบการแสดงอาการในต้นยางที่มีอายุมาก และมีพัฒนาการความหลากหลายของพันธุ์และทุกช่วงอายุ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในพื้นที่ภูเขาล้อมรอบและความชื้นสูง จึงพยายามให้ข้อมูลแก่เกษตรกรเพื่อรับมือการระบาด และทดสอบสารเคมีในท้องตลาดเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา แต่เมื่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโรคใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น โดยนักวิจัยได้เรียนรู้ข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมและแนวทางการป้องกันก่อนจะถึงช่วงระบาดเพื่อยับยั้งความรุนแรงของโรค รวมถึงการขยายฐานเครือข่ายเกษตรกร ส่วนการแก้ปัญหาโรคเหี่ยวกล้วยหินมีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค ล่าสุดรับทุนจาก วช. ทำให้นักวิจัยค้นพบวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาที่มีแมลงเป็นตัวนำแบคทีเรียในอากาศมาแพร่เชื้อ ทั้งการพัฒนาเครื่องดักแมลง เครื่องล่อแมลงนำโรคโซลาเซลล์ กับดักล่อแมลงด้วยฟีโรโมน พร้อมกับพัฒนาปลีกล้วยหินบันนังสตาปลอดโรคโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และแนะนำให้ใช้สารชีวภัณฑ์ฆ่าแมลง ซึ่งขณะนี้งานวิจัยพร้อมแล้วที่จะนำไปแก้ปัญหาให้เกษตรกร จึงอยากขอให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนงบประมาณจัดทำเครื่องล่อแมลงให้กับเกษตรกร

ใบร่วงในช่วงเวลาต่างๆ

ด้านตัวแทนเกษตรกรเห็นว่าภาพรวมมีการบริหารจัดการทุกมิติค่อนข้างดี แต่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่ภูเขาสูงจะฉีดพ่นลำบาก จึงอยากให้มีระบบนิเวศการจัดการสวนที่ดี สิ่งที่จะเป็นไปได้คือการทำให้พื้นที่สวนมีความโปร่ง แสงลอดผ่าน อากาศถ่ายเทสะดวก สะอาด ใช้วัคซีนพืชเข้าสู่ระบบรากเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในลำต้นและรักษาหน้ายาง มีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว การให้ชุดความรู้และเทคโนโลยีการป้องกันโรค แม้ปัญหาการลุกลามของโรคทำให้เกิดความวิตกกังวล แต่ถือเป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการเพื่อรักษาปากท้องของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

เกษตรกรที่สนใจสารชีวภัณฑ์หรือสอบถามการแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ สามารถติดต่อได้ที่ ผศ. ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อีเมล isma-ae.c@yru.ac.th