วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
Home > Cover Story > อู๋กะโจ้ โอ้กะจู๋ จากเด็กบ้านนอก แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น

อู๋กะโจ้ โอ้กะจู๋ จากเด็กบ้านนอก แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น

“ตอนนั้นเอาจริงๆ เราเริ่มปลูกผัก ไม่ได้คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ ตอนนั้นคิดแค่ปลูกผักสลัด เปิดคาเฟ่เล็กๆ มีผักสลัด กาแฟ ไม่ได้คิดเหมือนกันจะมีสาขามากมาย นั่นเพราะลูกค้าให้การตอบรับดี ถ้าไม่ได้ลูกค้า เราคงไม่ได้มาไกลขนาดนี้

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล หรือ “อู๋” ในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ “โอ้กะจู๋” กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” เมื่อนึกย้อนถึงจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2553 จนวันนี้กำลังขยายสาขาไปทั่วประเทศ เป็นหนึ่งในผู้นำร้านอาหารเพื่อสุขภาพ มีพาร์ตเนอร์ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ และเตรียมจดทะเบียนเทรดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

เขากับเพื่อนสนิท คือ จิรายุทธ ภูวพูนผล หรือ “โจ้” เป็นลูกหลานเกษตรกรในเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดความสนใจอยากจะผสมผสานเกษตรสมัยใหม่กับเกษตรแบบดั้งเดิมและเกิดแรงบันดาลใจที่จะลงทุนทำธุรกิจการเกษตรร่วมกัน

พอจบมัธยมปลาย จิรายุทธตัดสินใจเข้าศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้ และประสบการณ์ไปใช้ในวิชาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน พอจบปริญญาตรี มาร่วมมือกับชลากร เพื่อปลูกผักออแกนิกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คำนึงถึงผืนดิน ผลิตผล ระบบนิเวศ ครอบครัว และชุมชน

ทั้งสองคนเริ่มปลูกผักสวนครัวทั่วไปและผักสลัดบางชนิดบนพื้นที่ปลูกขนาดเล็กๆ นำผลผลิตไปประกอบอาหารกินกันในครอบครัว เพราะอยากให้คนในครอบครัวมีสุขภาพดี ไม่รับสารพิษและสารเคมีตกค้าง ก่อนได้เพื่อนร่วมหุ้นอีกคน คือ วรเดช สุชัยบุญศิริ หรือ “ต้อง” ซึ่งจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความรู้ด้านเครื่องจักรและวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ประสิทธิภาพสูง เพื่อเร่งกำลังผลิต

“พวกเราสร้างโรงเรือนขนาดเล็ก พื้นที่ 6 x 30 เมตร ปลูกผักสวนครัว และผักสลัด แต่ช่วงฤดูฝนของปี 2553 เราประสบกับวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้โรงเรือนเสียหายและต้องหยุดการเพาะปลูก ต้องซ่อมแซมจนกลับมาปลูกผลผลิตได้ใหม่ แต่ปี 2554 เจอกับวิกฤตน้ำท่วมชนิดโรงเรือนล้มระเนระนาดอีก แต่ไม่ยอมแพ้ ตัดสินใจก่อสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่อีก 2 หลัง ใช้วัสดุทั้งไม้สักและเหล็ก แข็งแรงมากขึ้น”

ขณะเดียวกัน ชลากรมีความชอบเรื่องการทำอาหาร จึงตัดสินใจสร้างคาเฟ่เล็กๆ ในเชียงใหม่ เน้นเมนูสลัดผักออแกนิกเสิร์ฟคู่กับน้ำสลัดโฮมเมด สูตรคุณแม่ รวมถึงเครื่องดื่มจากเมล็ดกาแฟและชาออแกนิก โดยมีคอนเซ็ปต์ว่า From farm to table เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556

“จุดเริ่มต้นมาจากความคิดเวลาไปตลาด จะซื้อผักคะน้าให้แม่รับประทาน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผักคะน้าไม่ได้ใส่ยา หรือซื้อข้าวสาร เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เขาไมได้ฉาบไซยาไนด์กันมอด เราคิดถึงแม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของครอบครัว อยากให้แม่มีสุขภาพที่ดี อยู่กับเราไปนานๆ ผักที่ปลูกแรกๆ จึงเป็นผักทั่วไป นำมารับประทานกันในบ้านก่อนมาปลูกผักสลัด ก่อนมาเริ่มทำธุรกิจ เปิดบริษัทใช้ชื่อ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ เป็นสโลแกน เป็นคอนเซ็ปต์หลัก มองลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว”

ส่วนชื่อ “โอ้กะจู๋” มาจากคำผวน “อู๋กะโจ้” ซึ่งชลากรบอกว่า “ตอนนั้นคิดได้ชื่อเดียวก็เลยเอาชื่อนี้และกลายเป็นกิมมิกไปเลย (หัวเราะ)” เพราะเป็นชื่อที่ทุกคนฟังแล้วสะดุดหูทุกครั้ง

เมื่อถามถึงการได้พาร์ตเนอร์อย่าง “โออาร์” เข้ามาร่วมทุนด้วยถือเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เติบโตแบบก้าวกระโดดหรือไม่

ชลากรบอกว่า เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในแง่การปรับระบบภายในต่างๆ เพราะไม่เคยทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ และมีโจทย์ใหม่เรื่องคน เพราะตอนเริ่มปลูกมีคนไม่ถึงสิบคน แต่ตอนนี้ขยายเพิ่มพันคน เป็นเรื่องการสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรรับรู้เหมือนกัน เดินตามแนวทางเดียวกัน ส่วนเรื่องที่คาดไม่ถึง เช่น ดินฟ้าอากาศ โรคระบาด อย่างโควิด ต้องแก้ปัญหาตามหน้างาน

ด้านโจทย์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ เราเชื่อมั่นลูกค้าที่มาใช้บริการเชื่อมั่นในแบรนด์โอ้กะจู๋ เราปลูกผักเอง เราอยากส่งมอบสุขภาพที่ดีให้ลูกค้า การแข่งขันยาก แต่โอ้กะจู๋เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราต้องคิดหนัก เรื่องผัก การคาดการณ์กำลังผลิต เรื่องโลจิสติกส์ ยิ่งด้วยความเป็นเด็กบ้านนอก ต้นทุนต้องสูงกว่าคนอื่นด้วย

สำหรับฟาร์มปลูกผักในเวลานี้มีทั้งหมด 4 แปลง เนื้อที่รวม 400 กว่าไร่ กำลังผลิตสูงสุด 2 ตัน ซึ่งล่าสุดยังใช้กำลังผลิตเพียง 1.2 ตัน จึงเหลือรองรับการขยายสาขาได้ถึงปีหน้า เพราะอาศัยเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายคนคงแปลกใจเมื่อฟาร์มผักเป็นการเช่าทั้ง 4 ร้อยกว่าไร่ และมองต้นทุนค่าเช่าเป็นจุดอ่อน แต่เขากลับมองเป็นจุดแข็งอีกแง่หนึ่ง เพราะบริษัทไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินลงทุนจมกับการซื้อที่ดินมากมายและสามารถขยายกำลังผลิตตามการเติบโตของตลาด

“ผมมองตลาดผักสลัดมีแนวโน้มขยายได้อีกมาก ความรู้สึกผม ปลูกผักวันแรก ลูกค้ายังไม่เข้าใจ ผักไฮโดรโปนิกส์ ผักออแกนิก ผักปลอดสารคืออะไร แต่ปัจจุบันลูกค้าศึกษาและสนใจสุขภาพมากขึ้น เขาเห็นความแตกต่าง เห็นเทรนด์ได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งจุดแข็งของเรา คือ เป็นผักสลัดออแกนิก ลูกค้าที่เคยรับประทานที่เชียงใหม่รู้และให้ความเชื่อมั่น”

เพราะผักออแกนิก คือผลผลิตจากการเจริญเติบโตจากธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พื้นที่เพาะปลูกต้องงดเว้นการใช้สารเคมีไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้นพืชได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากธรรมชาติ ต่างกับผักไฮโดรโปนิกส์ แม้อาศัยน้ำและแร่ธาตุอาหารในการเจริญเติบโต แต่รากของพืชจะสัมผัสกับสารละลายและธาตุอาหารได้มาจากปุ๋ยเคมี

ขณะที่ผักปลอดสารพิษ คือ ผักที่ปลูกโดยการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นธาตุอาหารหลัก แต่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และผักอนามัย คือ ระบบการปลูกพืชที่มีการใช้สารเคมีป้องกันและปราบปรามศัตรูพืช รวมทั้งปุ๋ยเคมี แต่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มีสารพิษตกค้างไม่เกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งผู้บริโภคที่ไม่เห็นข้อแตกต่างอาจไม่เข้าใจสาเหตุที่ผักออแกนิกแพงกว่าผลิตภัณฑ์ผักทุกชนิด

มาถึงการปรุงเมนูอาหาร โอ้กะจู๋ เน้น 3 อย่าง คือ การใช้น้ำมันมะกอกประกอบอาหาร อาหารประเภทของทอดใช้น้ำมันข้าวโพดที่มีจุดเดือดสูง แตกต่างจากน้ำมันทั่วไปที่เกิดควันในจุดเดือดปกติทำให้น้ำมันที่ทอดเป็นอันตราย เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง

สุดท้าย การสร้างห้องล้างผักด้วยระบบโอโซน สามารถฆ่าเชื้อโรคและคงความสดกรอบ ซึ่งปัจจุบันมีการปลูกผักสลัดมากกว่า 25 ชนิด

แน่นอนว่า 3 หุ้นส่วน อู๋ โจ้ และต้อง จับมือฟันฝ่าอุปสรรคอย่างเหนียวแน่นมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อถามคุณอู๋ถึงเป้าหมายที่วาดไว้ในอนาคต เขาบอกว่า ในระยะสั้น บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่วางแผนเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นภายในปี 2567 ซึ่งล่าสุดเตรียมความพร้อมได้ 50-70% แล้ว

ส่วนระยะยาวอยากให้ “โอ้กะจู๋” เป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน ส่งมอบสุขภาพที่ดีด้วยความจริงใจให้ลูกค้า และเป็นบริษัทที่มั่นคงให้กับพนักงานอีกนับพันคนด้วย.